บันได ๑๐ ขั้นสู่ความเป็นพุทธ ๒
(เมื่อไม่มีเราแล้วจะมีชีวิตอยู่เพื่อะไร?)

เมื่อเข้าใจแล้วว่า “แท้จริงมันไม่มีเรา”แล้ว ก็จะทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “แล้วเรา (ตามที่สมมติเรียกกัน) นี้จะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?” คือตามธรรมดามนุษย์ทุกคนก็มีชีวิตอยู่เพื่อตนเองด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งตนเองนี้ก็ย่อมที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อแสวงหาความสุขจากเพศตรงข้าม จากวัตถุ และจากเกียรติยศชื่อเสียงให้กับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นลักษณะของความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ทุกคน และเมื่อมนุษย์เกิดความเห็นแก่ตัวจัด ก็ย่อมจะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของทั้งเพื่อนมนุษย์และสัตว์รวมทั้งพืชพันธุ์ธรรมชาติด้วย อย่างที่เรียกว่าทำผิดกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม แล้วก็ส่งผลให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นตามมา

ผู้ที่เพิ่งเริ่มเกิดความเข้าใจว่าแท้จริงมันไม่มีตนเองนั้น ยังจะไม่สามารถทำให้ความรู้สึกว่ามีตนเองนี้หายไปจากจิตใจตนเองได้ เพราะความเข้าใจนี้ยังเป็นเพียงแค่ความรู้ที่ขาดพลังสนับสนุน แต่แค่เพียงความเข้าใจนี้ก็สามารถทำให้จิตปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในชีวิตหรือในสิ่งต่างๆลงได้อย่างมากแล้ว(ความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตนเองนี้ก็เกิดมาจากความรู้สึกว่ามีตนเองกระตุ้นให้เกิดขึ้นมาอีกทีหนึ่ง) คือเรียกว่าผู้ที่เข้าใจอนัตตาอย่างแท้จริงแล้วนั้นจะมีความเห็นแก่ตัวลดน้อยลง หรือเป็นคนดีขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเพราะเขารู้แล้วว่า “ไม่รู้ว่าจะเห็นแก่ตัวจัดหรือมากไปเพื่อใคร ไม่รู้ว่าจะเบียดเบียนคนอื่นไปเพื่อใคร เพราะมันไม่มีตนเองอยู่จริง” แต่เพราะจิตมันยังมีความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่ (ที่เรียกว่าเป็นสังโยชน์) ดังนั้นเขาจึงยังคงมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่จะน้อยกว่าคนที่ไม่รู้ หรือคนที่ไม่เข้าใจเท่านั้น คือเรียกว่าเขายังคงลุ่มหลงติดใจในความสุขของโลกอยู่ แต่ว่าจะลุ่มหลงติดใจน้อยลงและจะมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์

แต่เพียงเท่านี้ก็จะส่งผลในขั้นต้นทำให้เขาเป็นคนดีของสังคมที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นอย่างแท้จริงแล้ว รวมทั้งก็จะส่งผลทำให้เขามีชีวิตที่สงบสุขมากขึ้นและมีความทุกข์น้อยลง ไม่ว่าเขาจะร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม หรือไม่ว่าเขาจะมีเกียรติหรือด้อยเกียรติก็ตามหรือไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่หรือชายหรือหญิงก็ตาม หรือไม่ว่าเขาจะพิกลพิการหรือปกติก็ตาม หรือไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่ป่วยไข้อยู่หรือไม่ป่วยไข้อยู่ก็ตามเป็นต้น

จุดประสงค์สูงสุดของพระพุทธเจ้าที่ทรงนำเอาเรื่องความไม่มีตัวเรา(อนัตตา)นี้มาสอนก็คือ “เพื่อให้เอาความรู้นี้มาใช้คู่กับสมาธิเพื่อระงับหรือดับความทุกข์ของชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์ทุกคน” คือพระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ความทุกข์ของจิตใจทั้งหมดของมนุษย์เรานี้ล้วนเกิดมาจาก “ความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตนเอง(หรือมีตัวเรา)” ซึ่งเมื่อตนเองกำลังเป็นอยู่ในสภาพที่ไม่น่าพอใจเช่นไร ตนเองนั้นก็ย่อมที่จะเป็นทุกข์ เช่น ยึดมั่นว่ามีตนเองที่แก่, ที่เจ็บ, ที่จะตาย, หรือที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่, หรือกำลังประสบกับสิ่งหรือบุคคลอันไม่เป็นที่รักอยู่, หรือยึดมั่นว่ามีตนเองที่หวังสิ่งใดแล้วก็ไม่สมหวังอยู่ เป็นต้น

เมื่อสาเหตุของความทุกข์ทั้งหลายเกิดมาจากความยึดมั่นว่ามีตัวเรา ดังนั้นถ้าเรา(ตามที่สมมติเรียก)สามารถทำให้ความยึดมั่นว่ามีตัวเรานี้หายไปหรือไม่เกิดขึ้นมาในจิตนี้ได้ ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ และเมื่อความทุกข์ไม่เกิดขึ้น สภาวะที่ตรงกันข้ามกับความทุกข์ที่เรียกว่า“ความไม่มีทุกข์”ก็จะปรากฏขึ้นมาแทนที่ทันที (ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะสมมติเรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า ความดับลงแห่งทุกข์ หรือ ความสงบเย็น)

ส่วนวิธีที่จะทำให้ความทุกข์ดับลงนั้น จะต้องใช้จิตที่มีสมาธิเท่านั้นมาบังคับให้จิตหยุดการคิดปรุงแต่งว่ามีตัวเรา หรือมาสลายความรู้สึกว่ามีตัวเราให้หายไป แต่เพียงจิตที่มีสมาธินั้นไม่สามารถทำงานนี้ได้โดยตรง เพราะยังไม่มีความรู้ว่าจะดับทุกข์ตรงไหน?หรืออย่างไร? ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยปัญญา คือความเข้าใจว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเรานี้มาช่วยนำทาง หรือมาคอยควบคุม

ถ้าเรามีเพียงสมาธิ แต่ขาดปัญญา คือยังเชื่อว่ามีจิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวเรา ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็ตาม ก็จะไม่สามารถใช้สมาธินี้มาดับทุกข์ได้จริง เพราะจิตมันโง่คิดว่าความทุกข์มันมาจากสาเหตุอื่น เช่นคิดว่ามาจากการที่มีเราเกิดขึ้นมา หรือเพราะร่างกายมันแก่ หรือเพราะกรรมเก่า หรือเพราะดวงชะตาราศี หรือเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล หรือเพราะบุคคลหรือสิ่งภายนอกมาทำให้เป็นไป เป็นต้น ตามแต่จะเชื่อ

แม้แต่ผู้ที่เพียงรู้มาว่าสาเหตุของความทุกข์มาจากความยึดมั่นว่ามีตัวเรา แต่ไม่ถึงขั้นเข้าใจ ก็จะยังไม่สามารถดับทุกข์ได้อยู่ดี เพราะเมื่อจิตไม่เข้าใจว่าทำไมมันจึงไม่มีตัวเราเสียแล้ว ก็จะทำให้จิตมันไม่ยอมรับว่าไม่มีตัวมันเอง คือเรียกว่ามันดื้อ ไม่ทำตาม มันจึงไม่ยอมละวางความยึดมั่นว่ามีตนเองลง จึงยังดับทุกข์ไม่ได้จริง

แต่ถ้าเราเข้าใจอย่างแจ้งชัดด้วยการพิจารณาด้วยเหตุผลแล้วว่าแท้จริงมันไม่มีสิ่งใดที่จะมาเป็นเราหรือเป็นของเราหรือแม้ของใครๆแล้ว จิตของเราก็ย่อมที่จะยอมรับความจริง เพราะรู้อยู่ว่าจะหนีความจริงไปไม่ได้ เมื่อความจริงเป็นเช่นไร ก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับและยังคงยึดมั่นอยู่ต่อไป มันก็ไม่สามารถยึดถือได้จริง เพราะมันไม่มีของจริงมาให้ยึดถือ และเมื่อสิ่งที่ยึดมั่นอยู่แปรปรวนไป(เช่นร่างกายแก่ หรือพลัดพราก เป็นต้น) จิตที่ยึดมั่นนั่นเองที่จะเป็นทุกข์ไปเปล่าๆโดยไม่ได้อะไร สู้ปล่อยวางหรือไม่ยึดถือมันเสียจะดีกว่า จิตจะได้ไม่เป็นทุกข์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งในทางที่น่าพึงพอใจหรือไม่ไม่น่าพึงพอใจก็ตาม

เมื่ออาศัยปัญญามาควบคุมสมาธิ เราก็จะสามารถดับทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ให้ระงับดับหลง หรือลดลงได้ และระวังไม่ให้ความทุกข์ที่ยังไม่เกิด ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ คือทุกครั้งที่จิตมีปัญญาและสมาธิพร้อม ความทุกข์ก็จะระงับหรือดับลง หรือไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้นยังคงมีอยู่ ไม่หมดสิ้นไป เมื่อเราเผลอสติเมื่อใด ก็ย่อมที่จะทำให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาได้อีกเรื่อยไป หรือถ้าสมาธิไม่มีก็จะทำให้ ความยึดมั่นว่ามีตนเองก็ยังคงจะกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเรื่อยๆเหมือนกัน(เรียกว่าหลุดพ้นชั่วคราว) และความทุกข์ก็จะยังคงกลับมาเกิดได้อีกต่อไป แม้ว่าจะลดน้อยลงอย่างมากแล้วก็ตาม

ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราหมั่นฝึกฝนทั้งสมาธิ(การที่จะมีสมาธิได้จะต้องมีศีลมาเป็นพื้นฐานก่อน)และหมั่นพิจารณาให้เกิดปัญญา(ตามหลักอริยสัจ ๔)อยู่เสมอ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อระวังไม่ให้ความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้เกิดขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เมื่อความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ไม่เกิดขึ้นมาได้อีกนานๆ จิตมันก็ขาดความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาอีก แล้วมันก็จะค่อยๆแห้งเหี่ยวตายไปของมันเองเพราะไม่ได้อาหารเพิ่ม แล้วจิตนี้ก็จะไม่กลับมาเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองอีกต่อไปอย่างถาวร เพราะต้นเหตุของมันได้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้นอย่างถาวรแล้ว ซึ่งนี่เองที่เรียกว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์อย่างถาวร หรือเป็นจิตที่หลุดพ้นจากกิเลส หรือจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างถาวร (ที่สมมติเรียกว่าเป็นจิตของพระอรหันต์) ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีใครหลุดพ้นเลย มีแต่จิตที่หลุดพ้น เพราะความจริงมันก็ไม่ได้มีใครเกิดขึ้นมาจริงเลย

คำสอนโดยสรุปของพระพุทธองค์ก็คือ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน-ของตน” ซึ่งนี่คือคำสอนสูงสุดที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน จึงขอฝากให้ทุกคนที่เข้าใจแล้วช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้สู่มวลมนุษยชาติ เพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ และเพื่อสันติภาพของโลก ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)