พระไตรปิฎก-นรก-สวรรค์

ทำไมไม่ยอมรับคำสอนส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎก?

พระไตรปิฎกเป็นตำราที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ซึ่งพระไตรปิฎกนั้นจะมีคำสอนที่เป็นอัจฉริยะซ่อนอยู่ด้วย ซึ่งไม่เหมือนตำราใดๆในโลก ซึ่งคำสอนที่เป็นอัจฉริยะนี้ก็คือคำสอนให้ตรวจสอบตัวเอง เพื่อให้ตัวเองทรงความบริสุทธิ์และถูกต้องอยู่เสมอ แต่เราไม่นำมาใช้กันเอง เราจึงไม่รู้ว่าพระไตรปิฎกของเรานั้นมีความบริสุทธิ์และถูกต้องมากน้อยเพียงใด

พระพุทธองค์ได้ทรงเล็งเห็นแล้วว่า ถ้านำคำสอนของพระพุทธองค์ไปบันทึกไว้เป็นตำราแล้วเกิดตำรานั้นบังเอิญถูกคนที่ไม่หวังดีที่มีอำนาจ หรืออาจเป็นคนที่หวังดีแต่โง่เขลาได้ครอบครอง ก็จะทำให้ตำราบันทึกคำสอนของพระพุทธองค์นั้นถูกเปลี่ยนแปลง หรือบิดเบือน จนทำให้คำสอนผิดพลาดหรือไม่ตรงกับที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้จริง

ดังนั้นจึงทรงสอนว่าอย่าเชื่อเพียงเพราะว่ามีที่อ้างอิงจากตำรา (และจาดแหล่งอื่นๆอีกรวม ๑๐ อย่าง) แต่เมื่อไม่ให้เชื่อจากตำราแล้วจะให้เชื่อจากอะไร? ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ทรงวางหลักในการตรวจสอบที่ลึกซึ้งเอาไว้ให้แล้ว แม้แต่คนที่ไม่หวังดีก็ยังนึกไม่ถึงว่านี่เป็นหลักการตรวจสอบว่าคำสอนใดเป็นของแท้ คำสอนใดเป็นของปลอมปน จึงทำให้หลักการนี้ยังคงอยู่ไม่ถูกตัดทอนไป

หลักกาลามสูตรคือหลักที่ทรงสอนให้รู้จักเลือกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไร โดยสรุปว่าอย่าเชื่อจากใครๆ หรือแม้จากเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่สุดก็ตาม แต่ให้นำสิ่งที่รู้มานั้นมาพิจารณาหาคุณโทษก่อนเป็นเบื้องตน แล้วให้นำมาทดลองปฏิบัติ ถ้าได้รับผลดีจริงจึงค่อยปลงใจเชื่อและปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้น

ยังมีคำสอนที่สำคัญที่ต้องใช้คู่กับหลักกาลามสูตร นั่นคือคำสอนเรื่องให้ศึกษากฎธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง (กฎไตรลักษณ์) แล้วนำมาพิจารณาสิ่งที่มาประกอบเป็นร่างกายและจิตใจของมนุษย์เรา(ขันธ์ ๕) ซึ่งคำสอนนี้มีอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก และทรงเน้นสอนมากที่สุดด้วย เมื่อเราปฏิบัติตามหลักคำสอนนี้แล้ว เราก็จะเกิดความเข้าใจถึงสภาวะที่แท้จริงของร่างกายและจิตใจของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งสัตว์สิ่งของทั้งหมดด้วย และเมื่อเข้าในถึงสภาวะที่แท้จริงของชีวิตแล้ว ปัญหาคาใจต่างๆที่เรากำลังสงสัยกันอยู่นี้ก็หมดสิ้นไปของมันเองโดยปริยาย

แต่เรากลับไม่สนใจนำหลักการนี้มาศึกษากันอย่างจริงจัง เรามัวแต่ไปศึกษาเรื่องไกลตัวที่ไม่สำคัญกันเสียหมด แล้วก็เกิดความเข้าใจที่สับสนไขว้เขวกันอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งไปเจอคำสอนที่ปลอมปนมา เราก็เลยยิ่งไม่รู้จักและหลงคว้าเอามาว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไปในที่สุด

***********************************

คนทำชั่วเพราะไม่กลัวตกนรกจริงหรือ?

เมื่อมีการสอนว่า "ไม่ยอมรับว่าจะมีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างกายที่ตายไปแล้ว" ก็ถูกกล่าวหาว่า “ไม่ยอมรับเรื่องเวียนว่ายตายเกิด" ซึ่งจะทำให้คนเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา แล้วก็หันไปทำชั่วกันมากขึ้น แล้วก็จะทำให้คนตกนรกกันมากขึ้น

ในเรื่องนี้ก็อยากจะถามกลับว่า การที่คนไม่กล้าทำความชั่วนั้นขึ้นอยู่กับอะไร? เพราะเขากลัวตกนรกใต้ดินหรือ? ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าคนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา หรือคนที่ไม่เชื่อเรื่องนรกใต้ดิน เขาก็ทำชั่วกันหมดใช่หรือไม่? (เหมือนบางศาสนาเขาจะสอนว่าใครที่ไม่นับถือศาสนาของเขาจะตกนรกหมด)

เราต้องยอมรับว่าคนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา หรือคนที่ไม่เชื่อเรื่องนรกใต้ดิน ที่มีอยู่ทั่วโลก เขาก็ไม่ได้ทำความชั่วกันหมดทุกคน คนที่เขาทำความดีก็มีอยู่มากมาย ถ้าโลกนี้ไม่มีคนดีบ้าง ป่านนี้โลกคนแตกไปแล้ว

เรื่องนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้านั้นเขามีไว้สอนคนระดับศีลธรรม หรือชาวบ้านสมัยโบราณที่ไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อเขาเชื่อมันก็ดีตรงที่ว่าเขาจะไม่ทำชั่วเพราะกลัวตกนรกใต้ดิน และเขาก็อยากจะทำบุญเพราะอยากขึ้นสวรรค์บนฟ้า สังคมก็จะสงบสุข

แต่มาสมัยนี้จะสอนอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะคนเริ่มมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ไปสอนเด็กมันก็หัวเราะเยาะเอา ไปสอนคนต่างชาติเขาก็เห็นว่าเรายังงมงายไร้ความคิด และแน่นอนผู้คนที่เคยเชื่อเรื่องนรกใต้ดินก็เริ่มทำชั่วกันมากขึ้นเพราะเขาไม่กลัวตกนรกใต้ดินเสียแล้ว มีแต่ตาสีตาสาและคนบางกลุ่มที่แม้จะมีความรู้แต่ถูกครอบงำมากก่อนเท่านั้นที่ยังเชื่อเรื่องนรกใต้ดินอยู่

เราจึงควรเรื่องนรกที่เป็นสัจธรรมคือของจริงที่เราทุกคนก็สามารถรับรู้ได้ในปัจจุบันมาสอน ซึ่งคำสอนนี้ก็มีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก ไม่ใช่จะแต่งขึ้นมาเอง คือเรื่องนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส ได้รู้ทางจิต ก็จะได้รับรู้แต่สิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ซึ่งในทางตรงกันข้ามก็จะเรียกว่าสวรรค์

แต่คนที่เชื่อเรื่องนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้ากลับเห็นว่ามันน้อยไป คือทำให้คนไม่กลัวนรกในใจเพราะเห็นว่านิดหน่อยแล้วก็จะทำชั่วกันมากขึ้น แต่ลองคิดดูว่าการสอนเช่นนี้อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เด็กสมัยนี้และคนต่างชาติต่างศาสนายอมรับโดยไม่โต้แย้ง เพราะของจริงมันยืนยันอยู่

แต่ที่สูงไปกว่านั้นก็คือมันไม่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่เราคิด เมื่อเราไม่เคยทำชั่วที่ร้ายแรง เราก็อาจจะคิดว่าคนทำชั่วที่ร้ายแรงนั้นเขาก็ดูสุขสบายดี ไม่เห็นเขาแสดงอาการอะไรมาให้เห็นว่าเขาเร่าร้อนใจเลย นี่เป็นเพียงแค่การคิดของเราเอง ในความเป็นจริงใครจะไปรู้ว่าจิตใจเขาเป็นเช่นไร การแสดงออกไม่ใช่สิ่งบอกได้ว่าจิตใจภายในเป็นเช่นไรได้

เรื่องนี้ต้องสังเกตจากจิตใจของเราเองเท่านั้น คือลองว่าเป็นความชั่วหรือความผิดแล้ว แม้เพียงสักนิดจิตใจเรามันก็รู้อยู่ว่านั่นเป็นความผิด หรือชั่วเช่น เอาเปรียบเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น เป็นต้น ถึงแม้ขณะทำมันจะมีความสุข แต่มันเป็นความสุขผิวเผินและนิดหน่อยที่ไม่ช้ามันก็จะหายไป แต่จิตสำนึกภายในที่เป็นจิตใต้สำนึกที่เราควบคุมไม่ได้มันจะคอยตอกย้ำอยู่เสมอว่านั่นเป็นความผิด ความชั่ว ไม่ดี เลว ไม่สมควรทำ หรือเราไม่น่าทำลงไปเลย มันทำให้เราสูญเสียความดีงามหรือความสูงส่งของจิตใจ ทำให้จิตใจตกต่ำไม่น่าเคารพนับถือตัวเองเลย เรียกว่าทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง เห็นตัวเองเป็นคนต่ำช้า

ถ้าทำชั่วน้อย มันก็มีอาการเหล่านี้น้อยก็เรียกเพียงว่าเป็นความไม่สบายใจที่เกาะกินจิตใจเราอยู่เสมอเท่านั้น ถ้าทำมากขึ้นก็เรียกว่าเป็นความกลัดกลุ้มใจ กระวนกระวายใจ ถ้ามากขึ้นก็จะถึงขนาดเร่าร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา นั่งนอนไม่ติด นอนไม่หลับ แม้จะนั่งนอนบนกองเงินกองทองก็ตาม นี่จะเรียกว่าเป็นนรกขุมอะไรหรือมีกี่ขุมก็ได้ตามลักษณะที่เกิด ยิ่งถ้าถูกสังคมหรือกฎหมายลงโทษก็จะยิ่งทุกข์ใจยิ่งขึ้นอีก ซึ่งในกรณีหลังนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะเอาแน่ไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับเหตุภายนอก แต่ที่แน่ๆผลภายในจิตใจนั้นผู้ทำก็ได้รับเต็มๆอยู่แล้ว

ลองคิดดูว่ามันร้ายแรงขนาดไหนนรกในใจที่หนียังไงก็ไม่พ้น จนทำให้ต้องหาทางออกด้วยการสูบบุหรี่เพื่อคลายเครียดบ้าง ดื่มสุราเพื่อให้ลืมบ้าง ไปเล่นการพนันเพื่อให้ลืมบ้าง ไปเที่ยวโสเภณีให้มีสุขขึ้นมาบ้าง เป็นต้น ที่เป็นอบายมุขเพิ่มเข้าไปอีก แล้วก็มีผลร้ายแก่ร่างกายและครอบครัวสังคมประเทศชาติตามมาอีกมากมาย เรียกว่ามันเป็นสังสารวัฎคือมีการเวียนว่ายตายเกิดทางจิตใจคือทำให้เวียนกลับมาตกนรกต่อไปอีกไม่รู้จักจบสิ้นชนิดที่หยุดได้ยากหรือหยุดไม่ได้ แล้วอย่างนี้มันน่ากลัวหรือไม่?

ในทางตรงกันข้ามคนที่ทำความดีด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่หวังผลทางวัตถุอะไรตอบแทน เช่นเสียสละเพื่อสังคม ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากให้พ้นทุกข์ ช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นภัย รักษาป่าไม้เพื่อมวลมนุษย์ สอนให้คนไม่ทำชั่ว ให้ทำดี ให้ไม่เป็นทุกข์ เป็นต้น เหล่านี้ จิตมันก็รู้อยู่ว่านี่เป็นความดี แม้จะทำเพียงน้อยนิด จิตใต้สำนึกมันก็รู้ว่าเป็นความดี มันก็จะเกิดความอิ่มใจ สุขใจ หรืออิ่มเอมใจขึ้นมาของมันเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกหรือเอามาให้ นี่เรียกว่าเป็นสวรรค์ในใจ ที่ทำได้ไม่ยาก ยิ่งทำมากก็จะยิ่งสุขใจมาก

แต่สวรรค์นี้ก็ไม่มีใครค่อยจะได้ขึ้นกัน เพราะคนเรามักทำอะไรเพื่อตัวเองเสียมากต่อมาก คนที่เสียสละหรือทำความดีจริงเช่นนี้แม้จะยากจนก็ไม่มีทางตกต่ำ เพราะธรรมะจะรักษาเขา คือใครๆก็ชื่นชอบคนทำความดีจริงเช่นนี้ ดังนั้นก็ย่อมที่จะมีคนดีในสังคมคอยมาช่วยเหลือและยกย่องเขาอยู่เสมอ ซึ่งในกรณีหลังนี้เป็นเรื่องผลพลอยได้เท่านั้น ไม่ใช่ผลของความดีจริง ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้เอาแน่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุภายนอก ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะผลของความดีนั้นจิตใจมันรับอยู่แล้วในเมื่อได้ทำความดีและระลึกถึงความดีนั้น

จากที่บรรยายมาทั้งหมดนี้เราพอจะมองเห็นสวรรค์ในอกที่น่ารักและ นรกในใจที่น่ากลัวขึ้นมาบ้างหรือยัง? ถ้าเอาเรื่องนี้ไปสอนชาวต่างชาติรองว่าเขาต้องชอบและยกย่องว่าเรานี้รู้เรื่องที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ทำให้คนที่เข้าใจไม่อยากทำความชั่วและอยากทำความดี

ส่วนเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้านั้นอย่าเพิ่งไปสนใจว่าจะมีจริงหรือไม่ ถ้ามันมีจริงแล้วเมื่อเราทำไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี เราก็ต้องได้ขึ้นสวรรค์และไม่ตกนรกนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้ามันไม่มีเราก็ไม่ขาดทุน เพราะเราก็ได้ความสุขใจในปัจจุบัน ไม่ต้องทุกข์เพราะเราไม่ได้ทำชั่ว เราทำแต่ความดี

แต่พวกที่ทำบุญด้วยการให้ทาน(ทรัพย์)ไว้มากมายแก่พระภิกษุเพราะอยากขึ้นสวรรค์(ด้วยความโลภของกิเลส)คงรับเรื่องสวรรค์ในอก นรกในใจนี้ไม่ได้เพราะกลัวขาดทุน ดังนั้นเขาจึงต้องพยายามรักษาความเชื่อเก่าๆของเขาไว้ด้วยการหาสมัครพรรคพวกไว้ให้มากๆเพื่อมาช่วยยืนยันทำให้เขาสบายใจว่าการทำบุญของเขานั้นจะไม่สูญเปล่า(กลัววิมานในอากาศที่วาดไว้จะหายไป)

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)