ความทุกข์ใจนั้นเป็นสิ่งที่คู่มาพร้อมกับชีวิตคนเรา เมื่อยังหนุ่มสาวก็จะยังไม่รู้รสของความทุกข์จากความแก่ เมื่อยังมีร่างกายที่สุขสบายก็จะยังไม่รู้รสของความเจ็บป่วย เมื่อยังมีทรัพย์ก็ยังไม่รู้รสของความยากจนขัดสน เมื่อยังมีคนอันเป็นที่รักอยู่ด้วยก็จะยังไม่รู้รสของความพลัดพรากจากคนอันเป็นที่รัก เมื่อยังสุขสบายก็จะยังไม่รู้รสของความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นต้น นี่คือความประมาท เพราะไม่มีใครเตรียมพร้อมจะรับความทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง และเมื่อมันมาถึงความทุกข์อย่างรุนแรงก็ย่อมที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ความโง่ทำให้คนเราประมาท ไม่เตรียมตัวรับความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คนโง่เมื่อมีความสุขก็ลุ่มหลงมัวเมา โดยลืมนึกถึงว่าความสุขที่กำลังได้รับอยู่นี้มันจะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว และไม่ช้าความทุกข์ก็จะต้องเข้ามาแทนที่ คนโง่จะดีใจอย่างสุดซึ้งเมื่อได้สิ่งที่พึงพอใจ คนโง่จะหัวเราะร่วน และยิ้มจนแก้มปริเมื่อมีความสุขสนุกสนาน คนโง่จะไม่นึกถึงความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง เพราะเขากลัวว่าจะทำให้จิตใจของเขาห่อเหี่ยวแล้วความสุขที่เขากำลังได้รับจะลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้
คนโง่จะปล่อยตัวปล่อยใจอย่างเต็มที่กับความสุขที่เขากำลังได้รับ และเมื่อความสุขจบสิ้นไป ก็ถึงคราวของความทุกข์บ้าง เพราะในโลกนี้มันมีแต่ของคู่ เมื่อมีขาวก็ต้องมีดำ เมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่าง เมื่อมีสุขก็ต้องมีทุกข์ และเมื่อคราวความทุกข์มาถึงบ้างเขาก็รับไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้รับ เมื่อรับไม่ได้มันก็จะยิ่งทุกข์ตรมอย่างแสนสาหัสยิ่งขึ้น คนโง่เมื่อประสบทุกข์ก็จะร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา เขาจะเศร้าโศกเสียใจ แห้งเหี่ยวใจอย่างสุดซึ้ง ยิ่งเขาลุ่มหลงความสุขมามากเท่าใด เมื่อคราวมีทุกข์เขาก็จะมีทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเขาหัวเราะมามากเท่าใด เขาก็จะต้องร้องไห้มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเขายิ้มแย้มมามากเท่าใด เขาก็ยิ่งบึ้งตึงมากขึ้นเท่านั้น เพราะมันเป็นธรรมดาของโลก โลกที่มีแต่ของคู่ เมื่อมีหัวเราะ ก็ต้องมีร้องไห้ เมื่อมียิ้มแย้มก็ต้องมีบึ้งตึง เมื่อมีสุขสนุกสนานก็ต้องมี เศร้าโศกตรม แต่คนโง่ก็ไม่ยอมรับความจริง แม้แค่เพียงรับรู้ก็ยังยาก เราจึงเห็นคนโง่พวกหนึ่งที่กำลังลุ่มหลงเพลิดเพลินกับความสุข ควบคู่กันไปกับคนโง่อีกพวกหนึ่งที่กำลังเศร้าโศกเสียใจอยู่
คนที่ฉลาดจะไม่ลุ่มหลงมัวเมากับความสุขที่ได้รับ เพราะเขาจะรู้ว่าความสุขนั้นมันน้อยนิด ไม่ช้ามันก็จะหายไป และความทุกข์ก็จะมาแทนที่ คนฉลาดเมื่อไม่ลุ่มหลงกับความสุขแล้ว เขาก็ยังเตรียมพร้อมที่จะต้อนรับความทุกข์ที่จะมาเยือนอย่างเต็มความสามารถ และเมื่อไม่ลุ่มหลงมัวเมาในความสุข ความทุกข์ก็ตามมาน้อย และเมื่อไม่ประมาทเตรียมพร้อมรับความทุกข์อยู่ ความทุกข์ที่ตามมาก็จะลดน้อยลงจนแทบไม่มีความหมายหรือไม่มีเลยถ้าไม่ประมาทอย่างเต็มที่
ถ้าไม่ให้ลุ่มหลงความสุขแล้วจะให้ลุ่มหลงอะไร? คนโง่ย่อมถามเช่นนี้ แน่นอน คนโง่ย่อมบูชาความสุขยิ่งกว่าอื่นใด ถ้าไม่ให้ลุ่มหลงในความสุขเขาก็คิดว่าจะต้องแห้งเหี่ยวตายเป็นแน่ ดังนั้นแม้จะต้องผจญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัสทั้งๆที่รู้ คนโง่ก็ยังยอมแลกกับความสุขแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
อนิจจาความสุขมันช่างมีอำนาจเสียยิ่งนัก มันทำให้คนโง่ติดใจลุ่มหลงกับมัน แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม นี่เองที่ทำให้มีคนทำความชั่ว ละเมิดกฎหมาย ละเมิดศีลธรรมอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง จนทำให้สังคมมนุษย์หาความสงบสุขไม่ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน
ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทำความชั่วและจากการทำความดี ความสุขจากการทำความชั่วนั้นจะมีผลทั้งทำให้จิตใจเร่าร้อนจนความสุขลดน้อยลง และยังมีผลทางสังคมที่จะถูกสังคมลงโทษอีก นี่ยังไม่รวมถึงความเดือดร้อนวุ่นวายของสังคมที่มีคนชั่วอยู่มากๆ ที่แม้คนชั่วเองก็ยังไม่ชอบแต่ตนเองก็ต้องอาศัยอยู่ อย่างเช่นคนที่ลักขโมยจี้ปล้น ก็จะต้องหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ถูกจับได้ และเมื่อลักขโมยจี้ปล้นนานๆเข้าก็จะประมาท และก็จะถูกจับได้ต้องติดคุกติดตะรางทำให้มีความทุกข์ตรมอย่างยาวนาน ซึ่งมันไม่คุ้มกันเลยกับความสุขอันน้อยนิดจากการที่ได้สิ่งของที่ลักขโมยจี้ปล้นเขามา เป็นต้น
ส่วนความสุขจากการทำความดีนั้นนอกจากจะทำให้คนที่ทำมีความสุขความอิ่มใจในขณะที่ทำแล้ว สังคมยังยกย่องเชิดชูคนที่ทำความดี และยังทำให้สังคมมีความสงบสุขมั่นคงยิ่งขึ้น อันจะส่งผลผู้ที่ทำความดีนั้นมีความสุขมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างเช่นคนที่ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ทำให้เขาพ้นทุกข์ภัย พ้นความเดือดร้อนและพึ่งตนเองได้ คนดีเช่นนี้ก็จะมีแต่ความสุขความอิ่มใจอยู่เสมอๆ แม้เขาจะยากจนก็ตาม เป็นต้น
การลุ่มหลงติดใจในความสุขจากการทำความชั่วนั้นเป็นสิ่งเลวร้ายที่ทุกสังคมทุกศาสนารังเกียจ แต่การลุ่มหลงติดใจในความสุขจากการทำความดีนั้นทุกสังคมทุกศาสนาสรรเสริญ แต่ถึงแม้จะเป็นความสุขจากการทำความดีอย่างที่สุดก็ตามมันก็ยังต้องมีความทุกข์ตามมาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงตามกฎของสิ่งที่เป็นคู่
ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนเราให้ละเว้นความชั่วก่อน แล้วหันมาสร้างความดีให้พร้อมมูล แต่ก็ทรงสอนไม่ให้ติดใจลุ่มหลงในความสุขจากความดีนั้น ทรงสอนให้ทำจิตให้อยู่เหนือทั้งความดีและความชั่ว หลุดพ้นจากทั้งความสุขและทุกข์ แล้วก็จะพบกับความสงบเย็น หรือสันติสุขที่แท้จริง ซึ่งการทำจิตให้อยู่เหนือความดีและชั่วนี้ก็คือการเตรียมพร้อมต้อนรับความทุกข์อย่างเต็มที่ ที่เรียกว่าความไม่ประมาทหรือเรียกว่าเป็นอริยมรรคหรือวิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ในพุทธศาสนานั่นเอง.
|