ให้อย่างไรจึงจะถูกต้อง

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมานี้เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน เมื่อความตายมาถึงก็ไม่สามารถจะยึดถือเอาอะไรไว้ได้ แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ยังจะกอบโกยผลประโยชน์เอาไว้เพื่อตนเองอย่างมากมาย แล้วก็ทำให้คนอื่นเขาขาดแคลนหรือเดือดร้อน นี่เป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของคนเราที่แม้จะยึดถือเอาไว้ไม่ได้แต่ก็ยังตระหนี่ไม่ยอมแบ่งปันให้แก่คนที่เดือดร้อน เหมือนสุนัขหวงก้างที่แม้ตัวเองก็กินไม่ได้แต่ก็ยังไม่ยอมให้สัตว์อื่นมากิน ซึ่งความตระหนี่หวงแหนนี้เองที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม เพราะเมื่อมีแต่คนที่ตระหนี่มากคนที่ขาดแคลนก็ย่อมที่จะมีมากตามไปด้วย แล้วสังคมก็เดือดร้อน ล้าหลัง ไม่พัฒนา และมีแต่ปัญหามากมายอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดปัญหาและความเดือดร้อนนั้นก็ย่อมที่จะย้อนกลับมาสู่ตนเองหรือลูกหลานในอนาคตไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และอาจจะส่งผลทำให้สังคมถึงความล่มสลายได้โดยง่าย

การเก็บกักตุนเพื่อตนเองจนเกินความจำเป็นนั้นจัดว่าเป็นความเห็นแก่ตัว ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ซึ่งมันเป็นกิเลสประเภทความโลภ ที่นอกจากจะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นแล้วยังสร้างความทุกข์ให้กับตนเองอีกด้วย เพราะการมีสิ่งของหวงแหนมากๆนั้นย่อมที่จะสร้างความวิตกกังวลหรือห่วงใยอยู่ลึกๆแก่เจ้าของอันทำให้จิตใจไม่สบาย หรือไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่สงบเย็นอยู่เสมอ ซึ่งมันเหมือนกับความหนักจิตหนักใจที่ต้องทนแบกของที่แม้จะน่ารักน่าพอใจที่เรายินดีที่จะแบก แต่มันก็ทำให้ต้องหนักเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกว่าเป็น “ทุกข์ซ่อนเร้น”ที่เรายินดีที่จะเป็นทุกข์ชนิดนี้เพราะมันมีสุขมาฉาบทาอยู่ภายนอก แต่ภายในกลับมีความทุกข์ทรมานซ่อนอยู่เงียบๆ มันจึงเป็นสิ่งที่คนมีปัญญาน้อยต้องทนรับอยู่ตลอดเวลาทั้งๆที่รู้แต่ก็ยังละวางไม่ได้ เพราะความยึดติดและกลัวว่าเมื่อละวางแล้วจะถูกคนอื่นแย่งชิงเอาไปแล้วตนเองจะเดือดร้อน

คนที่มีปัญญาเมื่อรู้จักถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นและความทุกข์ซ่อนเร้นที่เกิดแก่ตนเองนี้แล้วก็ย่อมที่จะพยายามหาทางกำจัดความทุกข์ซ่อนเร้นภายในจิตใจตนเองและหาทางป้องกันปัญหาและความเดือดร้อนนั้นด้วยการเสียสละส่วนเกินบางส่วนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนที่เรียกว่า “ทาน” ที่หมายถึง การให้

การให้นี้ถ้าเราให้ไม่ถูกต้องก็ไม่มีประโยชน์ซ้ำอาจจะมีโทษอีก อย่างเช่นการช่วยให้คนได้เล่นสนุกสนานแต่ไร้สาระหรือได้สนุกแต่ต้องมีทุกข์ในภายหลัง เป็นต้น ซึ่งการให้ที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยการให้นี้ก็มีอยู่หลายอย่าง อันได้แก่

๑. การให้ทรัพย์หรือสิ่งของที่จำเป็นแก่คนที่กำลังเดือดร้อน เพื่อช่วยให้เขาพ้นจากความเดือดร้อนนั้น หรือเพื่อช่วยให้เขาตั้งตัวได้หรือพึ่งตัวเองได้ แต่ถ้าช่วยแล้วทำให้เขาเกียจคร้านก็จัดว่าไม่เป็นประโยชน์กลับว่าเป็นโทษ

๒. การให้แรงกาย คือบางคนไม่มีทรัพย์ก็อาจช่วยด้วยการใช้แรงกายแทน เช่นช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม หรือการช่วยสร้างบ้านให้แก่คนที่บ้านถูกภัยธรรมชาติทำลาย เป็นต้น

๓. การให้โอกาส คือบางคนมีโอกาสที่ดีแต่ก็เสียสละให้แก่คนที่ด้อยโอกาส อย่างเช่นคนที่ค้าขายร่ำรวยแต่ก็ไม่เอาเปรียบร้านค้าที่ค้าขายไม่ดี หรือคนที่มี่โอกาสทำงานดีแต่ก็ปล่อยให้คนอื่นที่มีความรู้เข้าไปทำแทนส่วนตัวเองไปหางานอื่นแทน หรือนักเรียนที่เรียนแก่งแต่ก็ไม่อาศัยสิทธิ์ที่จะได้เรียนโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน เป็นต้น

๓. การให้อภัย คือเป็นการไม่ถือโทษแก่ผู้ที่มาล่วงละเมิดเรา อย่างเช่นคนที่มาด่าว่าเรา หรือมาทำร้ายเรา หรือมาเบียดเบียนทรัพย์สินเรา เมื่อเราไม่เดือดร้อนเราก็ไม่ถือโทษ หรือไม่เอาเรื่องเขา ซึ่งก็จะทำให้ไม่เกิดการอาฆาตพยาบาทกัน แต่จะทำให้มีสันติสุขแทน

๔. การให้ความรู้ คือบางคนแม้ไม่มีทรัพย์ก็สามารถช่วยคนอื่นได้ด้วยการให้ความรู้แทน ซึ่งความรู้นี้จะช่วยให้คนเราเอาตัวรอดได้ เช่น ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพ ความรู้ในเรื่องกฎหมาย ความรู้ในเรื่องการซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ หรือความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นต้น

๕. การให้ธรรมะ คือบางคนแม้ไม่มีทรัพย์ และไม่มีคามรู้อื่นๆ แต่มีความรู้ในเรื่องธรรมะหรือหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามและเป็นสุขก็สามารถช่วยอบรมสั่งสอนแก่ผู้อื่นได้ ซึ่งผู้ที่จะรับคำสอนและการอบรมได้ก็ได้แก่เด็กและเยาวชน หรือแก่นิสิตนักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป หรือแม้แก่ชาวต่างประเทศ เป็นต้น

การให้ธรรมะนี้มีคุณค่ามากกว่าการให้ทุกอย่างเพราะผู้ที่มีธรรมะแล้วย่อมที่จะพึ่งพาตนเองได้หรือเอาตัวรอดได้เพราะมีหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งการให้ทรัพย์สิ่งของหรือความรู้ หรือแม้การให้อภัยก็ตาม ถ้าผู้รับยังไม่มีธรรมะ แม้เราจะให้อะไรไปมากมายก็ตาม ก็จะยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือไม่สามารถจะแก้ปัญหาให้แก่ตนเองได้เพราะขาดหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง อย่างเช่นคนที่ติดอบายมุข เช่นการพนัน หรือสิ่งเสพติด หรือฟุ่มเฟือย หรือเกียจคร้าน เป็นต้นถ้ายังไม่ละเลิก สิ่งเหล่านี้ก็จะยังไม่พ้นจากปัญหาและความเดือดร้อนได้แม้ใครจะมาช่วยเหลือด้านต่างๆอย่างมากมายก็ตาม

สรุปว่าการให้ที่ถูกต้องสูงสุดก็คือการให้ธรรมะหรือการสอนให้รู้หลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งในปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธี เช่นการพิมพ์เป็นหนังสือ หรือการสอนผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้ทางอินเตอร์เน็ต หรือการไปสอนตามโรงเรียนหรือวิทยาลัย เป็นต้น และเมื่อผู้รับมีธรรมะแล้วการให้อื่นๆเช่นให้ทรัพย์ หรือความรู้ หรือโอกาส หรือให้อภัยก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าผู้รับยังไม่มีธรรมะ แม้เราจะให้อะไรไปอย่างมากมายก็ตาม ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างแท้จริงแก่ผู้รับเลย.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************