นิพพานในชีวิตประจำวัน

คำว่า นิพพาน นี้เราที่เป็นคนธรรมดามักจะเข้าใจว่าเป็นคำที่สูงส่งหรือไกลสุดเอื้อม จะเป็นสิ่งที่คนมีบุญบารมีมากๆเท่านั้นถึงจะมีนิพพานได้ คือเรามักเข้าใจกันมาผิดๆว่านิพพานหมายถึงความสิ้นกิเลส ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร แต่กว่าที่ใครจะบรรลุนิพพานได้ก็จะต้องฝึกฝนสมาธิและอบรมปัญญามาอย่างหนักและมากมาย ซึ่งอาจจะหลายหมื่นหลายแสนชาติ และจะบรรลุหรือเข้าถึงสภาวะของนิพพานได้ก็ต่อเมื่อได้ตายไปแล้ว อีกทั้งเมื่อตายไปแล้วก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์อีกต่อไป ซึ่งนี่เป็นความรู้และความเข้าใจที่ผิด ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่แทรกซึมปะปนอยู่กับพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จนทำให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจที่ผิดต่อคำว่านิพพานมาโดยตลอด จึงทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์จากนิพพานหรือจากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้

คำว่า นิพพาน ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง ความดับเย็น หรือสงบเย็น ซึ่งเป็นอาการของจิตเราขณะที่ไม่มีกิเลสแผดเผาให้เร่าร้อน คือขณะใดที่จิตของเราถูกกระตุ้นไม่ว่าจะจากสิ่งภายนอก หรือจากการคิดนึกของจิตเราเองก็ตามให้เกิดความรัก ชอบ อยากได้ โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล ผิดหวัง เป็นต้น ที่สรุปอยู่ที่ความยินดีกับยินร้าย ซึ่งเป็นอาการของกิเลส จิตของเราก็จะเร่าร้อนทรมาน ไม่สงบหรือที่เรียกว่าเป็นทุกข์ มากบ้างน้อยบ้างไปตามกิเลสขณะที่มันเกิดขึ้น

แต่กิเลสนั้นก็หาได้เกิดอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลาไม่ เมื่อมันถูกกระตุ้น มันจึงจะเกิดขึ้น และเมื่อสิ่งกระตุ้นหายไป มันก็จะค่อยๆจางหายไป แต่พอถูกกระตุ้นใหม่มันก็เกิดขึ้นมาอีก ส่วนขณะเวลาที่ไม่มีอะไรมากระตุ้น จิตมันก็ไม่มีกิเลสที่รุนแรง จะมีบ้างก็เพียงกิเลสอ่อนๆหรือบางๆที่เรียกว่านิวรณ์หรือสิ่งปิดกั้นจิตจากความดี ที่เป็นเพียงความฟุ้งซ่านและความเศร้าซึมเกิดขึ้นมารบกวนจิตให้รำคาญใจหรือไม่สงบเย็นอยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่ทำให้จิตเป็นทุกข์มากเหมือนขณะที่กิเลสเกิดขึ้น

ขณะที่จิตไม่มีกิเลสนี้เองที่เป็นช่วงเวลาที่จิตพอจะมีความสงบเย็นอยู่บ้าง ลองคิดดูว่าถ้าจิตของเราถูกกระตุ้นให้เกิดกิเลสอยู่ตลอดเวลาหรือทั้งวันทั้งคืนมันจะเร่าร้อนทรมานขนาดไหน? เราคงเป็นบ้าตายกันไปนานแล้วเพราะถูกกิเลสเผาจนตาย แต่ก็ได้เวลาที่จิตมันว่างจากกิเลสนี้เองที่เป็นช่วงเวลาให้จิตได้พักผ่อน อย่างเช่นเวลาเราทำงานยุ่งๆนานๆเข้า จิตก็จะอ่อนล้า และเราก็อยากจะพักผ่อนหรือนอนหลับบ้าง ให้จิตผ่อนคลายและกลับมาสดชื่นร่าเริงเข้มแข็งอีกครั้ง หรือเมื่อเราเที่ยวเตร่หรือเสพสุขทางตา หู จมูก ลิ้น และทางกายอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินมาหลายชั่วโมง เราก็จะรู้สึกเครียด หรือไม่สนุกเสียแล้ว และจะกลายเป็นความทรมานขึ้นมาทันทีถ้ายังไม่หยุด ดังนั้นทางเดียวที่จะแก้ไขได้ก็คือต้องไปพักผ่อน ซึ่งก็ทำได้ด้วยการหลบไปหาความสงบ หรือไม่มีสิ่งมากระตุ้นเป็นเวลานานๆ ซึ่งก็อาจจะไปนอนหลับสักพักก็ได้ ซึ่งช่วงเวลาพักของจิตนี้เองที่เรียกว่าเป็นความสงบ หรือความเย็นของจิต เพราะกิเลสที่แผดเผาได้ดับลงชั่วคราว ซึ่งในทางศาสนาเรียกว่าเป็นนิพพานขั้นต้น หรือนิพพานชั่วคราว ที่ยังไม่เย็นสนิทและไม่ถาวรเหมือนนิพพานชนิดสูงสุด แต่เพียงเท่านี้ก็นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งแล้วสำหรับเราที่ยังไม่มีเวลามาศึกษาและปฏิบัติให้เกิดนิพพานชนิดสูงสุด

ช่วงเวลาที่จิตสงบนี้ก็เปรียบเหมือนกับน้ำที่จืดสนิท คือแม้เราจะกินอาหารที่เอร็ดอร่อยมากมายสักเท่าใดก็ตาม สุดท้ายเราก็ต้องมาดื่มน้ำที่จืดสนิทนี้ เพื่อให้เกิดความสบาย ถ้าลองไม่ได้ดื่มน้ำจืดสนิทตบท้าย ลองคิดดูว่าเราจะทรมานขนาดไหน? เหมือนกับคนที่หัวเราะอย่างสนุกสนานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่หยุดก็คงเป็นบ้าไปแล้ว

นิพพานขั้นต้นหรือความสงบเย็นชั่วคราวนี้เองที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตของเราทุกคนเอาไว้ แต่เราก็ไม่ค่อยจะชอบ เพราะเราติดอยู่ในความสุขสนุกสนานเสียจนเคยตัว แม้จะต้องกลับมาหานิพพานก็กลับมาเพียงแค่ให้พอมีกำลังหรือให้เกิดความสดชื่นปลอดโปร่งแจ่มใสขึ้นหน่อยเท่านั้น แต่ถ้าจะให้อยู่ในนิพพานนี้นานๆก็จะเกิดความเบื่อหน่าย หรือทุกข์ทรมานขึ้นมาทันที คือจิตมันจะดิ้นรนอยากจะไปหาความสุขสนุกสนานอีก เหมือนคนที่ติดยาเสพติดอย่างหนักที่จะลงแดงตายถ้าอดยานั้นนานๆ ดังนั้นเราจึงต้องวิ่งไปหาความสุขสนุกสนานกันอีกจนเหนื่อยล้า แล้วก็กลับมาหานิพพานอีก เป็นอย่างนี้เรื่อยไป นี่เองที่ทำให้เราไม่สามารถอยู่เงียบๆกันนานๆได้ เรามักจะชอบพูด ชอบคุย ชอบอยู่กับเพื่อนหรือกับคนรัก ชอบเที่ยวเตร่ ชอบเล่น ชอบเสพสิ่งให้ความสุขจนสร้างปัญหาต่างๆขึ้นมา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม สุขภาพ และครอบครัว อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมของเราปัจจุบัน

พุทธศาสนามีหลักสำคัญอยู่ที่สอนเรื่องการดับทุกข์ทั้งปวง โดยทุกข์ทั้งปวงนั้นจะมาจากจิตใจของเราแต่ละคนนี่เอง ซึ่งก็มาจากจิตใจที่ถูกกิเลสครอบงำ พุทธศาสนาจึงสอนให้เราพยายามเอาชนะกิเลสให้ได้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุนิพพาน โดยเริ่มมาจากนิพพานขึ้นต้นหรือความสงบเย็นของจิตใจเวลาที่กิเลสดับลงชั่วคราวนี้ แล้วขึ้นไปเป็นนิพพานสูงสุดคือสงบเย็นถาวรตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ซึ่งก็สามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติโดยย่อ ๓ ประการ คือ

๑. พยายามละเว้นการเสพสุขที่มีโทษ ซึ่งเป็นสุขจากสิ่งที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชีวิต คือจากการทำความผิดต่างๆ หรือจากสิ่งเสพติด และสิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหลายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่เรียกว่าการละเว้นความชั่ว

๒. หันมาเสพสุขที่ไม่มีโทษ คือจากการเรียน จากการทำงานที่สุจริต หรือจากครอบครัว หรือจากการเสียสละ การทำประโยชน์แก่ส่วนรวม การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน หรือจากการเผยแพร่ความรู้และธรรมะแก่สังคม ที่เรียกว่าการทำความดี

๓. พยายามฝึกฝนจิตให้มีสมาธิ และศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อเอาชนะความสุขแม้จากการทำความดีที่ยังจะทำให้จิตใจเกิดกิเลสอยู่ เพื่อให้จิตมีนิพพานขั้นต้นที่มากขึ้น บ่อยขึ้น จนถึงขั้นสูงสุดคือมีนิพพานอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่

นิพพานนั้นไม่ใช่สิ่งเกินเอื้อมอย่างที่เราอาจจะเข้าใจกันผิดๆมาก่อน นิพพานนั้นมีอยู่พร้อมแล้วกับทุกชีวิต เพียงแต่อาจจะมีน้อยไปหน่อยเท่านั้น และเราก็ยังเกลียดกลัวนิพพานกันเสียอีก ดังนั้นชีวิตของเราจึงไม่พบกับความสงบเย็นที่มั่นคงกันสักที นิพพานจึงเปรียบเหมือนพ่อแม่ผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง แต่เรากลับเนรคุณต่อนิพพานด้วยการเกลียดกลัวนิพพานแล้ววิ่งหนีไปหามารหรือกิเลส จึงทำให้ชีวิตของเรามีแต่ปัญหาและทุกข์อยู่เรื่อยไปไม่รู้จักจบสิ้น

ความสุขทั้งหลายของโลกล้วนมีโทษทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นความสุขจากการทำสิ่งผิดหรือไม่ดีก็จะยิ่งมีโทษมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนความสุขแม้จากการทำสิ่งที่ถูกกต้องหรือดีงามก็ยังมีโทษอยู่อีก คือทำให้ติดให้ลุ่มหลงและต้องพบกับความไม่พอใจบ้าง ความผิดหวังบ้าง ความพลัดพรากบ้าง ความไม่รู้จักอิ่มจักพอบ้าง ซึ่งก็ทำให้ต้องเร่าร้อนใจ ทรมานใจ เศร้าโศกเสียใจ หรือทุกข์ตรมต่างๆนานๆ

ยิ่งเมื่อเวลาที่ร่างกาย แก่หรือเจ็บป่วย ก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น และสุดท้ายเมื่อเวลาใกล้จะตายก็จะยิ่งทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส นี่เองที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปล่อยวางความยึดติดในสิ่งทั้งปวง เพื่อที่จิตจะได้บริสุทธิ์จากกิเลสหรือจากความยึดติดในสิ่งทั้งปวง แล้วมามีจิตที่บริสุทธิ์หรือสะอาดไม่มีกิเลสใดๆ เพื่อที่จะได้ไม่มีความทุกข์ใดๆเลยตลอดชีวิตที่มีอยู่

ส่วนเรื่องชาติหน้านั้นไม่ต้องห่วง เพราะคนที่จะบรรลุนิพพานสูงสุดได้นั้นเขาย่อมที่จะมีปัญญาชนิดที่มองเห็นชีวิตได้อย่างถูกต้องอยู่แล้วในตัว ถ้าใครยังไม่มีปัญญาชนิดนี้ เขาก็จะยังไม่สามารถบรรลุนิพพานสูงสุดนี้ได้ ซึ่งถ้าเราจะศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างถึงที่สุดแล้วเราก็จะพบว่าที่จริงแล้วแม้ชาตินี้ก็ยังหาตัวตนของเราจริงๆไม่มี แล้วชาติหน้ามันจะมีมากจากที่ไหนได้.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)