ผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ

พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้ว่า “ผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม” ทำไมจึงทรงกล่าวเช่นนั้น? ก็เป็นเพราะว่าธรรมะนั้นจะช่วยให้ผู้ประพฤติธรรมนั้นมีความเจริญ ส่วนผู้ที่ไม่ประพฤติธรรมนั้นก็จะไม่มีความเจริญ และถ้ายิ่งเป็นผู้ที่เกลียดการประพฤติธรรมก็จะมีแต่ความเสื่อม เพราะประพฤติตรงข้ามกับธรรม

คำว่าธรรมหรือธรรมะในที่นี้จะหมายถึงการละเว้นความชั่วและหันมาทำแต่ความดีงาม ซึ่งความชั่วก็สรุปอยู่ที่การกระทำที่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น, การลุ่มหลงอบายมุข,ติดสิ่งเสพติด,ฟุ่มเฟือย,เกียจคร้าน,ไม่อดทน,มีกิริยาวาจาไม่สุภาพ,และคิดโลภ, คิดโกรธอาฆาตพยาบาท, ไม่ซื่อสัตย์,รวมทั้งมีความเห็นผิดจากธรรมนองคลองธรรม ส่วนความดีก็สรุปอยู่ที่การช่วยเหลือผู้อื่น,ขยัน,อดทน,มัธยัสถ์,มีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน,และคิดแต่จะช่วยเหลือผู้อื่น, คิดให้อภัย,ซื่อสัตย์, รวมทั้งมีความเห็นที่ถูกตามทำนองคลองธรรม

ความเจริญในที่นี้ก็คือการมีทรัพย์ มีเกียรติ และมีความสุขที่มั่นคง ซึ่งผู้ที่เป็นคนดีไม่ทำผิด, มีความขยันอดทนในการทำหน้าที่การงาน, และไม่โลภ รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่-ทำอยู่, ไม่โง่งมงาย, รวมทั้งรู้จักประหยัดอดออม, รู้จักใช้จ่าย ก็ย่อมที่จะมีทรัพย์มากและมีผู้คนเคารพยกย่องเสมอ ซึ่งก็จะทำให้มีความสุขที่มั่นคง

ส่วนความเสื่อมก็คือลักษณะตรงข้ามกับความเจริญ อันได้แก่การขาดแคลนทรัพย์, ด้อยเกียรติ, และไม่มีความสุขที่มั่นคง ซึ่งผู้ที่ชอบทำผิด, เกียจคร้านในการทำหน้าที่การงานของตนเอง, และมีแต่ความโลภ ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่-ทำอยู่,โง่งมงาย, ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย,ไม่ประหยัด ก็ย่อมที่จะขาดแคลนทรัพย์และไม่มีใครยกย่อง ซึ่งก็จะทำให้ขาดความสุขที่มั่นคง จะมีแต่ปัญหารุมเร้าชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะเจริญ

นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการประสบผลสำเร็จในการเรียนก็ต้องมีธรรมะในการเรียนจึงจะประสบผลสำเร็จ คือต้องขยันเรียน, ขยันทำการบ้าน, ขยันอ่านตำรา,ไม่เที่ยวเตร่, ไม่เสพสิ่งเสพติด, ไม่ฟุ่มเฟือย เป็นต้น ก็ย่อมที่จะประสบผลสำเร็จในการเรียนได้

ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่เกลียดธรรมะ ก็ย่อมที่จะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียน เพราะเกียจคร้านในการเรียน, ไม่ชอบทำการบ้าน, ไม่ชอบอ่านตำรา, ชอบเที่ยวเตร่เฮฮา, ชอบความความสุขสนุกสนาน, ฟุ่มเฟือย,หรือติดสิ่งเสพติด เป็นต้น ก็ย่อมที่จะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียนซึ่งอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะตกต่ำ

การรักธรรมะ หรือประพฤติธรรมะก็จะมีความเจริญ ส่วนการชังธรรมะ หรือประพฤติตรงข้ามธรรมะก็จะมีแต่ความเสื่อมนั้นใครๆก็รู้ แต่ว่าผู้ที่จะทำตามนั้นมีน้อย ส่วนมากจะชิงชังธรรมะ เพราะความโง่ที่คิดว่าจะสามารถมีความเจริญได้โดยไม่ต้องมีธรรมะก็ได้ เช่นคิดว่าจะอาศัยพึ่งพามรดกจากพ่อแม่ที่หาไว้ให้ หรือคิดว่าจะอาศัยคู่ครองหรือพี่น้องที่ร่ำรวย หรือคิดว่าจะอาศัยอ้อนวอนพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้ตนร่ำรวยขึ้นมาได้ หรือจะอาศัยโชคลาภให้ร่ำรวย หรือจะอาศัยเล่นการพนันให้ร่ำรวย หรือบางคนแย่ไปกว่านั้นก็คิดว่าจะทำการทุจริต เช่น คดโกง ลักขโมย ยักยอก จี้ปล้น คอร์รัปชั่น ติดสินบน ปลอมปน ค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย เป็นต้นเพื่อทำให้ร่ำรวยขึ้นมา เป็นต้น และคิดว่าเมื่อตนมีทรัพย์มากๆแล้วก็จะสามารถซื้อหาเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่ตนเองได้

การมีธรรมะนั้นถึงแม้จะทำให้มีความเจริญได้ก็จริง แต่ว่าจะต้องพึ่งตนเองอย่างมาก คือต้องใช้ความอดทนอย่างมาก และจะต้องใช้เวลามากอีกด้วย นี่เองที่ทำให้คนโง่ที่มีความโลภอยากเจริญเร็วๆโดยไม่ต้องพึ่งตนเอง ไม่ต้องอดทนทำการงานให้เหนื่อยยากนั้นไม่อยากจะทำตามธรรมะ แต่อยากจะรวยทางลัด หรืออยากเจริญทางลัดอย่างง่ายๆสบายๆและเร็วๆ ซึ่งเมื่อมีสิ่งภายนอกต่างๆมาให้พึ่ง จึงได้ทำให้หันเหไปพึ่งพาสิ่งต่างๆภายนอกเหล่านั้น และทำให้เกลียดกลัวการมีธรรมะไปในที่สุด

ยิ่งสังคมมีผู้คนที่พึ่งพาสิ่งภายนอกกันมากๆก็จะยิ่งทำให้เกิดค่านิยมในการเกลียดชังธรรมะมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว แม้คนที่พึ่งพาสิ่งภายนอกนั้นสุดท้ายจะหาความเจริญที่แท้จริงไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครมองเห็น เขาจะมองเห็นแต่ขณะที่คนที่พึ่งพาสิ่งภายนอกนั้นยังไม่ถึงเวลาเสื่อมเท่านั้น อย่างเช่นคนที่ขายสิ่งเสพติด ที่จะร่ำรวยอยู่ได้ไม่นานก็จะถูกจับไปลงโทษและถูกยึดทรัพย์จนหมดสิ้น หรือคนที่เล่นการพนันก็อาจจะร่ำรวยอยู่ได้ไม่นานก็จะหมดตัวอย่างรวดเร็ว หรือคนที่ร่ำรวยเพราะรับมรดกจากพ่อแม่ก็จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักทำการงานก็ย่อมที่จะหมดตัวได้ในที่สุด หรือคนที่เอาแต่พึ่งคู่ครองหรือพึ่งญาติพี่น้องก็จะถูกเขารังเกียจทำให้ตนเองไม่สบายใจ-คับแค้นใจ และเมื่อไม่มีคนให้พึ่งก็ย่อมที่จะเดือดร้อน หรือคนที่ชอบพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะเอาแต่นอน ฝันหวานไม่ทำการงานก็ย่อมที่จะยากจนลงได้ เป็นต้น

ธรรมะนั้นเป็นสัจจธรรมหรือความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ธรรมะจึงเป็นของทันสมัยอยู่เสมอ ไม่มีวันล้าสมัย การมีธรรมะถึงแม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้างในตอนแรก แต่จะมีความสงบสุขที่มั่นคงในภายหลังได้ ซึ่งจะต่างกับการไม่มีธรรมะ ที่แม้อาจจะมีความสุขสบายในตอนแรก แต่ก็จะมีแต่ปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลังอย่างแน่นอน หรือพูดง่ายๆว่า “เมื่อรักสุขจะเป็นทุกข์ในภายหลัง ถ้ารักทุกข์จะเป็นสุขในภายหลัง”.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)