เมื่อพอก็มีสุข

พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ว่า “ความสันโดษคือทรัพย์อย่างยิ่ง” ซึ่งความสันโดษก็หมายถึง ความพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ หรือทำอยู่ และทรัพย์ก็หมายถึงสิ่งที่ทำความปลื้มใจ และพระพุทธพจน์นี้ก็หมายถึงว่า “ถ้าเรารู้จักพอมันก็เป็นสุขได้”

มนุษย์เรานั้นส่วนมากเป็นพวกวัตถุนิยม คือนิยมเรื่องกามารมณ์ เรื่องวัตถุฟุ่มเฟือยและนิยมความมีเกียรติ มีชื่อเสียง ถ้าใครมีวัตถุนิยมนี้มากก็จะรู้สึกว่ามีความสุข ส่วนคนที่ไม่มีก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นสุข หรือรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต ยิ่งถ้าได้เห็นคนที่เขาหล่อหรือสวย หรือรวย หรือมีเกียรติ หรือเขามีแฟนหล่อหรือสวยก็จะทำให้รู้สึกอยากจะมีอยากจะเป็นอย่างเขาบ้าง ซึ่งความเบื่อหน่าย หรือความอยากมี อยากเป็นอย่างเขาบ้างนี้เองที่มันเผาลนจิตใจของผู้อยากอยู่เงียบๆให้ทรมาน ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง

มีนิทานชาดกเล่าไว้ว่ามีขอทานคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่ทางแยก แล้วก็คิดอยากจะมีวัวสัก ๑ ตัวและพื้นที่สัก ๑ ไร่ เมื่อเขาเก็บเงินจนได้แล้วเขาก็อยากจะมีวัวเพิ่มเป็น ๕ ตัวและที่ ๕ ไร่ เมื่อเขาเก็บเงินจนได้ครบแล้วเขาก็อยากจะมีวัว ๑๐ ตัวและที่ ๑๐ ไร่ และเมื่อได้แล้วเขาก็อยากมีวัว ๑๐๐ ตัวและที่ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งแม้จะได้มาเท่าไรเขาก็ไม่พอใจในสิ่งที่เขามีอยู่ ซึ่งนี่คือความไม่รู้จักพอของคนเราที่ทำให้ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง

คนเรานั้นถ้ามีแต่ความอยากเผาลนจิตใจอยู่เสมอก็จะทำให้ไม่มีความสุข แต่ถ้าเรารู้จักพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ เราก็จะมีความสุขได้ ถึงแม้เราจะไม่มีอะไรอย่างที่คนอื่นเขามีก็ตาม

พุทธศาสนาไม่ได้สอนว่าเราจะต้องร่ำรวยหรือยากจน แต่สอนให้พอใจในสิ่งที่ตนเองมี ถ้าคนรวยยังไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ ส่วนคนจนถ้าไม่อิจฉาใคร หรือไม่อยากมีอยากเป็นอย่างคนรวยและพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ก็จะมีความสุขใจได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าคนรวยจะรู้จักพอก็จะมีความสุขใจได้ ส่วนคนจนที่ไม่รู้จักพอก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ

ขอให้คิดดูให้ดี ถ้าเรายากจนอยู่แล้ว แต่กลับไม่พอใจในชีวิตของเราเอง และฝันอยากจะร่ำรวยอยู่เสมอ เราก็จะมีแต่ความเศร้าใจและไม่เป็นสุข แล้วอย่างนี้เราโง่หรือฉลาด ? และจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเรายากจนแต่เราไม่สนใจกับมัน คือเราพอใจของเราอยู่แค่นี้ เราก็มีความสุขใจได้ ซึ่งจะดีกว่าคนรวยที่ยังไม่รู้จักพอก็จะไม่มีความสุขใจ

ผู้คนสมัยนี้นิยมชมชอบคนสวย คนหล่อ พอตนเองมีคู่ไม่สวย ไม่หล่อก็จะทุกข์ใจ เพราะไม่พอใจในคู่ของตนเอง หรือนิยมตึกรามบ้านช่องที่ใหญ่โต แต่ตนเองอยู่บ้านเล็กๆก็จะรู้สึกไม่พอใจในที่อยู่ของตน หรือเห็นคนอื่นเขามีรถ มีมือถือราคาแพงยี่ห้อดังแต่ตนเองไม่มีอย่างเขาก็จะรู้สึกทุกข์ใจ หรือเห็นเขาใส่เสื้อผ้าราคาแพง แต่พอมองตัวเองกลับใส่เสื้อผ้าราคาถูกก็ทุกข์ใจ หรือเห็นคนอื่นเขามีชื่อเสียงโด่งดังแต่ตนเองไม่มีใครรู้จักก็ทุกข์ใจ ฯลฯ ซึ่งนี่คือตัวอย่างของความไม่รู้จักพอที่ทำให้ต้องทุกข์ใจไปฟรีๆโดยไม่ได้อะไรเลย

เราอาจจะคิดว่าพุทธศาสนาสอนให้งอมืองอเท้าไม่พัฒนา เพราะสอนเรื่องให้พอใจในสิ่งที่ตนเองมี ซึ่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น คือพุทธศาสนาจะสอนให้เราทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่อย่างดีที่สุด ส่วนผลจะได้มาอย่างไรเราก็พอใจเท่านั้น ได้มากเราก็พอใจ ได้น้อยเราก็พอใจ ถ้ามีมากก็นำไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนยากจน แล้วอย่างนี้จะว่าพุทธศาสนาสอนให้งอมืองอเท้าๆได้ อย่างไร

ทำไมเราจึงไม่ภูมิใจในตัวของเรา หรือหยิ่งในศักดิ์ศรีของเรา แม้เราจะต่ำต้องหรือยากจน หรือขี้เหล่ แต่เราก็อย่าไปอายใจ เพราะเราก็มีค่าสำหรับเราอย่างที่สุดแล้ว คนอื่นแม้จะหล่อ หรือสวยและรวยมีเกียรติอย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่มีค่าอะไรสำหรับเราเลย ถ้าเราไปบูชาเขา อยากเป็นอย่างเขา หรือยกย่องเขาให้สูงกว่าเรา ก็เท่ากับเราเหยียบทับคุณค่าของเราลงจนติดดินมองไม่เห็น ซึ่งเท่ากับเป็นการดูหมิ่นตนเอง และดูหมิ่นบรรพบุรุษของเราเองด้วย

ล้นเกล้ารัชการที่ ๖ ได้ทรงสอนไว้ว่า “ การที่เรารับเอาวัฒนธรรมของฝรั่งเขามาปฏิบัตินั้น เขาก็เอ็นดูเราเหมือนกับเอ็นดูสุนัขที่ยืนสองขาได้” ลองคิดให้ลึกๆจากประโยคนี้แล้วเราจะรู้สึกอับอายและเจ็บปวดอย่างที่สุดที่เราไปหลงบูชาอะไรก็ไม่รู้ที่มีแต่เรื่องไร้สาระและมาดูหมิ่นคุณค่าของเราเอง เรียกว่าลืมกำพืดของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างที่สุดของมนุษย์

เมื่อเรามีจิตใจที่อ่อนแอ เราก็จะถูกชักจูงได้ง่าย หรือเมื่อสติปัญญาของเราอ่อนแอ เราก็จะถูกชักจูงได้ง่าย ทำไมเราจึงไม่กลับมาเป็นตัวของเราเอง ภูมิใจในตัวของเราอง ค้นหาสิ่งที่ดีในตัวของเราเองแล้วนำมาเป็นจุดที่สร้างความภาคภูมิใจในตัวของเรา ซึ่งนี่จะเป็นหนทางแห่งอิสรภาพทั้งทางกายและทางสติปัญญา อันจะนำมาซึ่งความสุขและความมั่นคงในชีวิต ดีกว่าไปเป็นทาสทางสติปัญญาของเขาให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ของเราเอง หรือที่เรียกว่า “ขายความเป็นมนุษย์ให้แก่เขาไปแล้ว” นั่นเอง.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************