หัวใจนักปราชญ์

ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้รอบรู้ หรือสามารถฝึกฝนให้ผู้อื่นเป็นผู้รอบรู้ได้? ตามหลักพุทธศาสนาจะสอนให้ปฏิบัติตามหลักหัวใจนักปราชญ์ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เป็นผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีหลักปฏิบัติ ๔ ประการคือ

๑.สุตะ คือการฟัง ซึ่งรวมทั้งการดูและการอ่านจากสื่อต่างๆ

๒.จิตตะ คือการคิด โดยนำสิ่งที่ฟังหรืออ่านมานั้นมาคิดพิจารณา

๓.ปุจฉา คือการสอบถามผู้รู้

๔.ลิขิต คือการจดจำหรือบันทึก

มีผู้กล่าวว่า “คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ” ก็คงจะจริง คือเราไม่ชอบศึกษาอะไรที่มันหนักสมอง เราชอบอะไรที่มันสบายๆ ง่ายๆ ซึ่งมันมีผลเสียตรงที่ทำให้เราไม่พัฒนาหรือไม่เจริญอย่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ซึ่งผู้ที่เป็นนักปราชญ์จะมีลักษณะสนใจที่จะศึกษาสิ่งต่างๆรอบตัวหรือเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจ ทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตของเรานั้นสามารถเป็นสิ่งสำหรับใช้ศึกษาได้ทั้งสิ้น ถ้าเรามองสิ่งต่างๆอย่างผิวเผินเราก็จะไม่เห็นสิ่งที่ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ภายในหรือเบื้องหลังได้ นักปราชญ์จะมองอะไรอย่างลึกซึ้งมากกว่าคนธรรมดาเขามองกัน ซึ่งคนทั่วๆไปอาจจะเรียกว่าอุตริก็ได้ เพราะเขาอาจจะมองสวนทางกับคนทั่วๆไปเขามองกัน คือคนทั่วไปอาจจะคิดว่าเขาบ้าก็ได้

มีผู้กล่าวว่า “เด็กไทยคิดไม่เป็น” ซึ่งก็คงจะเป็นเช่นนั้น คือเรามีหลักสูตรที่สอนให้เด็กท่องจำเสียส่วนใหญ่ แม้จะมีการสอนให้คิดก็ยังไม่สมบูรณ์ คือหลักในการคิดที่สมบูรณ์นั้นจะต้องมีพื้นฐานมาจาก

๑. สมาธิ (หรือความตั้งใจมากหน่อย) ซึ่งเด็กของเราขาดสมาธินี้มาก เพราะชอบคุย ชอบเล่น ชอบความสนุกสนานเฮฮามากกว่า ซึ่งมันทำให้ไม่มีสมาธิในการคิด คนที่จะคิดได้ดีหรือเก่งจะต้องมีสมาธิมาก หรือเป็นคนชอบสงบมากกว่าเป็นคนชอบเฮฮา

๒. รู้จักคิดในสิ่งที่ควรคิด คือคิดสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม(ไม่ใช่คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน หรือคิดในสิ่งที่ไร้สาระทั้งหลาย)

๓ รู้จักใช้เหตุผลในการคิด ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก ถ้าเราคิดโดยไม่มีเหตุผลมันก็ไม่มีความหมาย คือจะทำให้คิดแต่เรื่องงมงายหรือกลายเป็นเพ้อฝันไปได้ อีกทั้งการคิดก็ยังต้องคิดให้ลึกมากที่สุด(คือไล่หาเหตุผลไปเรื่อยๆจนถึงต้นตอ) และคิดให้รอบครอบ(คือให้หมดทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง)

ข้อต่อไปคือการสอบถามผู้รู้ คือเราจะต้องพยายามเข้าหาผู้รู้หรือมีความรู้ให้มาก เมื่อเราไม่รู้อะไรหรือติดขัดตรงไหนเราก็จะได้สอบถามเขาได้ง่าย แต่ถ้าไม่มีผู้รู้จริงก็ต้องไปค้นคว้าหาอ่านเอาเองจากตำราต่างๆหรืออาจจะไปคิดค้นหาเอาเองก็จะยิ่งดีเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ส่วนใครที่อยู่ไกลผู้รู้หรืออยู่ใกล้แต่ไม่สนใจสอบถามก็เท่ากับเปล่าประโยชน์ ซึ่งคนไทยนั้นจัดผู้รู้เอาไว้เป็นปูชนียบุคคลเท่านั้น คือเอาไว้เคารพบูชา ไม่ได้เอาไว้เป็นที่ศึกษา

ข้อสุดท้ายก็คือต้องมีการจดจำเอาไว้ ถ้าจำไม่ได้ก็สูญเปล่าอีก ดังนั้นการท่องจำจึงมีความจำเป็นเมื่อรู้และเข้าใจแล้ว (ถ้ายังไม่เข้าใจก็จำได้ยากและลืมง่าย) แต่ความจำก็มักเสื่อมหายได้ง่ายจึงต้องมีการบันทึกเอาไว้เพื่อป้องกันการสูญหาย ซึ่งการบันทึกก็มีทั้งการจดลงเป็นหนังสือ หรือการบันทึกเป็นเสียง เป็นภาพเพื่อเอาไว้ศึกษากันลืม หรือเพิ่มเติม หรือเอาไว้สอนผู้อื่นต่อไป ซึ่งคนไทยก็ไม่ค่อยชอบบันทึกอะไรเอาไว้ให้เป็นประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังกันมากนัก เราจึงยังล้าหลังบางประเทศที่เขาเจริญกว่าอยู่ทุกวันนี้

สรุปได้ว่าการที่จะเป็นผู้รอบรู้หรือนักปราชญ์ได้นั้นจะต้องสนใจศึกษา, รู้จักคิด, รู้จักสอบถามผู้รู้, และรู้จักจดจำบันทึก ซึ่งประเทศของเราขาดคุณสมบัติเหล่านี้มาก จึงทำให้ประเทศเราขาดผู้รอบรู้ในสาขาวิชาต่างๆอย่างมากมาย ดังนั้นเราจึงควรเร่งส่งเสริมให้เด็กไทยของเรามีคุณสมบัติของนักปราชญ์เหล่านี้มากขึ้น เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทยกันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************