ความไม่เข้าใจกฎสูงสุดของธรรมชาติ จึงทำให้ไม่เข้าใจพุทธศาสนา ธรรมชาติจะมีกฎอยู่กฎหนึ่งที่เป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ ซึ่งเทียบได้กับพระเจ้าของบางศาสนา ซึ่งกฎสูงสุดนี้เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า "สิ่งใดที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัย (ปัจจัยก็คือเหตุย่อยๆ) มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น" คือกฎนี้จะบอกว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยพร้อมก่อน สิ่งนั้นจึงจะเกิดขึ้นมาได้ และตั้งอยู่ได้ ถ้าไม่มีเหตุหรือปัจจัย สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ หรือเมื่อมีเหตุและปัจจัยพร้อมแล้ว และเกิดขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่ดับหายไป ก็เรียกว่ายังตั้งอยู่ แต่เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันได้ดับหายไป สิ่งที่ตั้งอยู่นั้นก็จะต้องดับหายตามไปด้วยทันที ซึ่งนี่คือการอธิบายถึงลักษณะของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนของมันเอง (ถ้าสิ่งใดเป็นตัวตนของมันเอง สิ่งนั้นก็ไม่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าเป็นอัตตา ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่าจิตเป็นอัตตา) คือกฎนี้จะบอกว่า เมื่อมีเหตุ (และปัจจัย) ผลจึงมี, เมื่อเหตุเกิดขึ้น ผลจึงเกิดขึ้น, เมื่อเหตุไม่มี ผลจึงไม่มี, เมื่อเหตุดับไป ผลจึงดับไป อย่างเช่น เมื่อมีเชื้อของพ่อเป็นเหตุ มาผสมกับปัจจัยคือไข่ของแม่ จึงทำให้เริ่มเกิดร่างกายของเราขึ้นมา และเมื่อมีอาหาร น้ำ ความร้อน อากาศบริสุทธิ์ เป็นเหตุ และมีการรักษาดูแลเป็นปัจจัย ร่างกายของเราจึงเจริญเติบโตขึ้นและตั้งอยู่ได้ แต่ถ้าขาดอาหาร หรือน้ำ หรือความร้อน หรืออากาศบริสุทธิ์ ร่างกายของเราก็จะแตกหรือตายไปทันที ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า ร่างกายของเรานี้เป็น "สิ่งปรุงแต่ง" ที่เป็นอนัตตา คือไม่ใช่อัตตา และเป็นอนิจจัง คือไม่เป็นอมตะ รวมทั้งยังเป็นทุกขัง คือมีสภาวะที่ต้องทนอยู่ด้วยตลอดเวลา เป็นต้น แม้จิตของเรา ก็เป็นสิ่งปรุงแต่งเหมือนกับร่างกาย คือจิตต้องอาศัยร่างกายเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ (การรับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ ของร่างกาย) ขึ้นมา และอาศัยความทรงจำจากสมองเป็นปัจจัย มาปรุงแต่งร่วมกัน จึงเกิดเป็นความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ขึ้นมา และตั้งอยู่ได้ก็เพราะยังมีวิญญาณและความทรงจำอยู่ แต่ถ้าร่างกายตาย วิญญาณก็จะดับหายไปทันที ซึ่งนี่ก็คือเหตุได้ดับหายไปแล้ว จึงทำให้จิตพลอยดับหายตามไปด้วยทันที เหมือนแสงไฟจากหลอดไฟฟ้า ที่เมื่อไม่มีกระแสไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงไส้หลอด แสงไฟฟ้านั้นมันก็จะดับหายไปทันที หรือในกรณีถ้ายังมีเหตุ (คือมีวิญญาณ) อยู่ เพราะร่างกายยังไม่ตาย แต่สมองเสียหาย จนความทรงจำหายไปหมด ก็จะยังเกิดจิตขึ้นมาเหมือนกัน แต่ว่าไม่สมบูรณ์ คือแม้จะรับรู้และรู้สึกได้ แต่จำอะไรไม่ได้ และคิดอะไรไม่ได้ ที่เรียกว่าเป็นเจ้าชายนิทรา นี่คือการนำเอากฎสูงสุดของธรรมชาติ มาพิจารณาให้เข้าใจถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาในร่างกายและจิตใจของเราทุกคน เพื่อให้มองเห็นความจริงสูงสุดที่ควรรู้ว่า มันไม่มีสิ่งที่เป็นแก่นหรือตัวตนของเราอยู่ในร่างกายและจิตใจนี้เลย (ที่เรียกว่าสุญญตา) ซึ่งนี่คือปัญญาที่จะนำมาใช้คู่กับสมาธิเพื่อดับทุกข์ตามหลักโดยสรุปของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า แต่เพราะความไม่เข้าใจถึงกฎสูงสุดของธรรมชาติ จึงทำให้เข้าใจผิดไปว่า จิตนี้เป็นอัตตา (คือเป็น ตัวตนอมตะ ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาในปัจจุบัน) ที่ไม่มีวันดับหายไป และไม่ต้องอาศัยร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เกิดขึ้นมาได้ด้วยตนเอง (อย่างทีเรียกว่า ผี) บางคนก็เชื่อว่า แม้จิตจะดับหายไปจากร่างกายนี้แล้ว แต่ถ้าอวิชชาหรือกิเลสหรือกรรมยังไม่หมด สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดจิตที่เป็นเราขึ้นมาได้อีกในร่างกายใหม่เพื่อรับผลกรรม ซึ่งนี่ก็เป็นแค่ความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลมาอธิบายและไม่มีความจริงรองรับ เพราะความจริงแล้ว อวิชชา (ความรู้ผิดว่ามีตัวเรา) หรือกิเลส (ความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ) หรือกรรม (การกระทำด้วยเจตนาหรือกิเลส) นั้นมันไม่ได้มีอำนาจวิเศษอะไรที่จะทำให้เกิดจิตใหม่ขึ้นในร่างกายใหม่ได้เลย มันจะทำได้ก็เพียงทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวและความยึดถือว่ามีตัวเราพร้อมความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งจากความเป็นจริงแล้ว เมื่อเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ เด็กทุกคนจะมีจิตที่บริสุทธิ์ คือยังไม่มีกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตนเอง แต่เมื่อโตขึ้น และมีความจำมากขึ้น กิเลสและความยึดถือจึงค่อยเกิดขึ้นมาภายหลัง (แต่คนที่ไม่เข้าใจก็เชื่อว่าเด็กที่เกิดมาทุกคนจะมีกรรมตามมาด้วย ซึ่งนี่ก็คือความเชื่อว่ากรรมเป็นอัตตา ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์นั่นเอง) จึงขอให้ชาวพุทธ พยายามศึกษากฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จะได้ไม่หลงผิดไปคว้าเอาความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มายึดถือ อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็เลยทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ (ประโยชน์ก็คือความดับทุกข์หรือนิพพานในปัจจุบัน) จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เตชปญฺโญ ภิกขุ ๓๐ พ.ค. ๒๕๕๗ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
|