เราควรถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งสูงสุดของชีวิต?

บางที่เรามัวแต่วุ่นวายอยู่กับการทำมาหากินและเสพความสุขจนลืมพิจารณาดูความจริงของชีวิตว่า เรากำลังทำอะไรอยู่? สิ่งที่เราทำอยู่นี้มันมีสาระหรือประโยชน์ที่แท้จริงกับชีวิตหรือไม่? และอะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต?

คนส่วนมากจะเข้าใจว่า ชีวิตเกิดมาเพื่อเสพความสุข ดังนั้นเขาจึงเข้าใจว่า การแสวงหาความสุขเป็นสาระหรือประโยชน์สูงสุดของการมีชีวิต ถ้าไม่มีความสุขก็ตายเสียดีกว่า นี่เองที่เป็นเหตุทำให้คนทำความผิดหรือชั่วได้เพียงเพราะว่าเพื่อให้ได้ความสุข

แล้วความสุขให้อะไรกับเราบ้าง? ความสุขเป็นแค่ความรู้สึกอย่างหนึ่งของจิต ที่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย สิ่งกระทบใจ) มากระตุ้น มันจึงเกิดขึ้นมาได้ และมันก็เป็นแค่เพียงความรู้สึกที่ทนได้ง่ายหรือความรู้สึกที่น่าพึงพอใจเท่านั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน ไม่ช้ามันก็จะดับหายไป ทิ้งไว้เพียงความอยากได้ใหม่ อันเป็นนิสัยให้เราต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหามาอีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ความสุขยังทำให้จิตเกิดความเร้าร้อนใจในขณะที่กำลังมีความสุขอยู่ (ที่เรียกว่า ทุกข์ซ่อนเร้น) และความสุขยังนำมาซึ่งปัญหามากมายในภายหลัง ซึ่งปัญหานี้เองที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชีวิต ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และแม้โลกด้วย  ดังนั้นความสุขจึงไม่ควรเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิตเพราะมันนำความทุกข์มาให้ทั้งโดยตรง (คือทุกข์ซ่อนเร้น) และโดยอ้อม (คือปัญหาและความเดือดร้อนมากมาย)  แม้จะเป็นความสุขที่ดีงามหรือถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมก็ตาม

เมื่อไม่ใช่ความสุขแล้วอะไรควรเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต? คำตอบก็คือ ความสงบเย็น หรือ นิพพาน เพราะนิพพาน คือ ความสงบเย็นของจิต ที่ไม่ทำให้จิตเกิดความเร่าร้อน (หรือทุกข์ซ่อนเร้น) และไม่สร้างปัญหาใดๆมาให้ในภายหลัง จึงไม่มีความเดือดร้อนใดๆตามมา แม้ความเบื่อหน่ายเพียงเล็กน้อยจากการไม่มีความสุขก็จะไม่มี แม้จะกำลังจะตายก็จะไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือเสียดายอะไรแม้เพียงเล็กน้อย เพราะจิตหลุดพ้นจากความยึดติดในความเป็นตัวตน-ของตนแล้ว

เตชปัญโญ ภิกขุ   ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************