กฎไตรลักษณ์

            ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการที่มีอยู่ในสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (บางทีก็เรียกว่า สามัญญลักษณะ ที่หมายถึง ลักษณะธรรมดาหรือสามัญของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย) คือเมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายได้ถูกกฎสูงสุดของธรรมชาติสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีลักษณะ ๓ ประการนี้อยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งก็ได้แก่

๑. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง

๒. ทุกขัง คือ ความต้องทน

๓. อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

เมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายได้อาศัยสิ่งอื่นๆมาเป็นเหตุและปัจจัยในการมาปรุงแต่งให้เกิดมันตัวตนของมันขึ้นมา ดังนั้นจึงเท่ากับว่าตัวตนที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยนี้ จะหาสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มี จะมีก็เพียงตัวตนที่เหมือนกับว่ามีอยู่จริง แต่ว่าไม่ใช่ของจริง (ถ้าเป็นของจริงมันจะต้องไม่อาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งตัวตนของมันขึ้นมา คือมันจะมีตัวตนเป็นของตนเอง และตัวตนนี้ก็จะมีความเป็นอมตะ คือไม่ตายหรือไม่ดับหายไปอย่างเด็ดขาด รวมทั้งไม่ต้องมีสภาวะที่ต้องทนอยู่อีกด้วย ที่เรียกว่าเป็น อัตตา ที่หมายถึง ตนเอง ตามหลักความเชื่อของศาสนาพราหมณ์) ที่เราสมมติเรียกกันว่าเป็นตัวตนเท่านั้น   ดังนั้นสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งนี้ เราจะเรียกว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว หรือ ตัวตนสมติ หรือ ตัวตนมายา เพราะมันไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง จะมีก็เพียงชั่วคราว และเราเพียงสมมติเรียกว่าเป็นตัวตนเท่านั้น ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของ อนัตตา ที่หมายถึง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

ตัวตนที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งนี้ จะไม่มีตัวตนที่เป็นอิสระ เพราะมันจะต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งมันขึ้นมา เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไป ตัวตนนี้ก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหายไป (ใช้กับจิต) ตัวตนนี้ก็ย่อมที่จะแตกหรือดับหายตามไปด้วยทันที และสิ่งที่เป็นเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันก็ยังต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งมันขึ้นมาอีกเหมือนกัน ซึ่งเหตุและปัจจัยพื้นฐานที่ปรุงแต่งสิ่งทั้งหลายนี้ขึ้นมา (อันได้แก่ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน คือของแข็ง, ธาตุน้ำ คือของเหลว, ธาตุไฟ คือความร้อน, และธาตุลม คือพวกก๊าซ) ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร คือไม่สามารถที่จะดำรงค์อยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป หรือมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงไม่สามารถดำรงค์อยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป คือจะต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหายไป (ใช้กับจิต) ในที่สุดอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว อีกทั้งขณะที่ยังไม่แตกดับไป (หรือยังตั้งอยู่) สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง (หรือไหล) ไปสู่ความแตกดับอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งนี่คือลักษณะของ อนิจจัง ที่หมายถึง ความไม่เที่ยง หรือไม่เป็นอมตะ หรือไม่ถาวร หรือไม่สามารถอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป

          เมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งตัวตนชั่วคราวของมันขึ้นมา แล้วตัวตนนั้นก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นตัวตนชั่วคราวนี้จึงต้องมีสภาวะที่ต้องทนที่จะประคับประคองเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งตัวตนชั่วคราวของมันเอาไว้ ถ้าไม่มีการทนประคับประคองเอาไว้ ตัวตนชั่วคราวของมันก็จะแตกดับหายไปทันที ซึ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นก็มี วัตถุ กับ จิต ถ้าเป็นวัตถุก็จะไม่มีปัญหา เพราะไม่มีจิตมารับรู้สภาวะที่ต้องทนของมัน แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ก็จะมีจิตมารับรู้ถึงสภาวะที่ต้องทนนี้อยู่ตลอเวลา ถ้าขณะใดจิตเกิดสภาวะที่ต้องทนมาก (จากการเกิดอุปาทานว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา) ก็จะเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยากมาก ที่เรียกว่า ความทุกข์ แต่ถ้าขณะใดที่จิตมีสภาวะที่ต้องทนน้อย (จากการที่ไม่มีอุปาทานว่ามีตัวเรา-ของเราเกิดขึ้น) ก็จะเกิดความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือทนได้สบาย ที่เรียกว่า ความไม่มีทุกข์ หรือนิพพาน ซึ่งนี่คือลักษณะของ ทุกขัง ที่หมายถึง ความต้องทน

 

                                                                   เตชปัญโญ ภิกขุ

                                                                   อาศรมพุทธบุตร เกาสีชัง ชลบุรี

                                                                   ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

 

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net)

*********************