ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า วิญญาณ ในพุทธศาสนา

มีคำบางคำที่ชาวพุทธเข้าใจผิดกันมาช้านานแล้วก็คือคำว่า “วิญญาณ” ซึ่งเราเข้าใจว่าหมายถึง “ผี” หรือ “เป็นจิตของสิ่งที่มีชีวิต” ที่สามารถออกจากร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ที่ตายแล้ว เพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไป อีกทั้งวิญญาณหรือผีนี้ยังมีความรู้สึกนึกคิด เหมือนกับตอนที่ยังไม่ตายอีกด้วย ซึ่งเรื่อง “จิตหรือวิญญาณออกจากร่าง” นี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่คำสอนของพุทธศาสนา แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่เขาเชื่อว่า วิญญาณหรือจิตของมนุษย์เรานี้เป็นอัตตา ที่เขาเรียกกันว่าเป็น ผี หรือ เจตภูต หรือ อัตตาน้อย หรือ กายทิพย์ หรือ ชีวะ เป็นต้น ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ ซึ่งจากความเชื่อนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า และเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม รวมทั้งเรื่องกรรมชนิดข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา

ส่วนคำว่า “วิญญาณ” ของพุทธศาสนานั้นจะหมายถึง กิริยาที่กำลังรับรู้สิ่งต่างๆอยู่ หรือ “การรับรู้” ที่เกิดขึ้นตามระบบประสาททั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖) ของร่างกายเรา อันได้แก่ที่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ (ที่สมอง) โดยพระพุทธเจ้าจะสอนว่า เมื่ออายตนะภายนอก (คือรูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งที่มาสัมผัสกาย ,สิ่งที่มาสัมผัสจิต) มากระทบกับอายตนะภายใน (คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) ที่ตรงกัน ก็จะเกิด วิญญาณ (การรับรู้ หรือกิริยาที่แจ้ง) ขึ้นมาตามอายตนะภายในที่เกิดการกระทบนั้น อันได้แก่

๑.เมื่อรูปมากระทบตา ก็จะเกิดวิญญาณทางตาขึ้น คือเกิดการเห็นภาพขึ้นมา

๒.เมื่อเสียงมากระทบหู ก็จะเกิดวิญญาณทางหูขึ้น คือเกิดการได้ยินเสียงขึ้นมา

๓.เมื่อกลิ่นมากระทบจมูก ก็จะเกิดวิญญาณทางจมูกขึ้น คือเกิดการได้กลิ่นขึ้นมา

๔.เมื่อรสมากระทบลิ้น ก็จะเกิดวิญญาณทางลิ้นขึ้น คือเกิดการรู้รสขึ้นมา

๕.เมื่อ สิ่งที่มาสัมผัสกาย มากระทบกาย ก็จะเกิดวิญญาณทางกายขึ้น คือเกิดการรับรู้ขึ้นที่กาย เช่น รู้ถึงความเย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง  เป็นต้นขึ้นมา

๖.เมื่อ สิ่งที่มาสัมผัสใจ มากระทบใจ ก็จะเกิดวิญญาณทางใจขึ้น คือเกิดการรับรู้ต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต เช่น การรับรู้ทั้งหมด, ความรู้สึก, การจำ, และการคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลายของจิต เป็นต้น ขึ้นมา

วิญญาณนี้เป็นเพียง กระแส (สิ่งที่ทยอยเกิดขึ้นและดับไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วไม่ขาดตอน จนดูผิวเผินเหมือนกับว่ามันเกิดนิ่งๆอยู่ตลอดเวลา) ของการรับรู้ ที่เกิดขึ้นมาโดยอาศัยอายตนะภายนอกและอายตนะภายในมาร่วมกัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  เมื่ออายตนะภายในจุดใดเสียหรือหยุดทำงาน หรือไม่มีอายตนะภายนอกภายนอกมากระทบ  วิญญาณตรงอายตนะภายในจุดนั้นมันก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งก็เหมือนไฟฟ้า ที่ต้องอาศัยไดนาโมที่หมุนอยู่ หรือแบตเตอร์รี่ที่ยังดีอยู่สร้างขึ้นมา ไฟฟ้าจึงจะเกิดขึ้นมาได้  แต่ถ้าไดนาโมหยุดหมุนหรือเสียหาย หรือแบตเตอร์รี่เสียหาย ไฟฟ้าจากไดนาโมหรือจากแบตเตอร์รี่นั้นก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ (หรือไม่มี) ตามกฎสูงสุดของธรรมชาติที่บอกว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น”

สรุปได้ว่า คำว่า วิญญาณ นี้ พระพุทธเจ้าจะหมายถึง กระแสการรับรู้ที่เกิดขึ้นมาชั่วคราวตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่ ถ้าร่างกายตาย วิญญาณนี้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หรือถ้าระบบประสาทจุดใดเสียหาย วิญญาณทางระบบประสาทนั้นก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งวิญญาณนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวตน (อัตตา) หรือเป็นวิญญาณเฉพาะของใคร เพราะมันก็เป็นเพียงธาตุอย่างหนึ่ง (วิญญาณจัดเป็นนามธาตุ) เหมือนธาตุดิน (ของแข็ง) ธาตุน้ำ (ของเหลว) ธาตุไฟ (ความร้อน) และ ธาตุลม (ก๊าซ) ตามธรรมชาติเท่านั้น แต่เมื่อมันได้มาประกอบกับความทรงจำที่สมองมีอยู่ มันก็สามารถปรุงแต่งให้เกิดเป็น จิต ที่สามารถ รู้สึกและนึกคิดได้ จนเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา  ส่วนความเชื่อว่าวิญญาณเป็นตัวตน (อัตตา) หรือเป็นจิตของสิ่งที่มีชีวิตที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้นั้น เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าสอน จึงขอให้ชาวพุทธเข้าใจความหมายของคำว่าวิญญาณที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องวิญญาณเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ได้อย่างถูกต้อง และเมื่อเข้าใจเรื่องวิญญาณเป็นอนัตตาแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องจิตเป็นอนัตตาได้ รวมทั้งเข้าใจว่า “มันไม่มีจิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวตนของเราหรือของใครๆได้” ซึ่งความเข้าใจนี้เองที่จัดเป็นปัญญาที่จะนำมาใช้คู่กับสมาธิเพื่อใช้ดับทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบันตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

เตชปญฺโญ ภิกขุ

๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์  www.whatami.net )

 

*********************