วิธีการพิจารณาให้เกิดดวงตาเห็นธรรม เมื่อพระสารีบุตรสมัยที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิครั้งแรกโดยย่อว่า "ทุกสิ่งย่อมเกิดจากเหตุ" แล้วท่านเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า "สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนต้องดับหายไปเป็นธรรมดา" นี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรนำมาพิจารณาอย่างยิ่งว่า การได้ฟังธรรมะย่อๆเพียงเท่านี้ทำให้คนธรรมดา (ปุถุชน) เกิดดวงตาเห็นธรรมได้อย่างไร การจะเกิดดวงตาเห็นธรรมจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นที่เรียกว่าโสดาบันนั้น จะต้องทำลายสังโยชน์ (เครื่องผูกจิตไว้ในความทุกข์) ที่สำคัญตัวแรกที่เป็นเพียงความเห็นผิดหยาบๆให้ได้เสียก่อน ซึ่งสังโยชน์ตัวแรกนี้ก็ได้แก่ สักกายทิฎฐิ คือความเห็นผิดว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตน (อัตตา) อยู่ในชีวิตของเราทุกคน คำว่า อัตตา แปลว่า ตน ตนเอง ซึ่งเป็นความเชื่อว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตนของมันเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งใดๆมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งอัตตานี้จะมีลักษณะเที่ยงแท้ถาวร (นิจจัง) หรือเป็นอมตะ (ไม่ตายหรือดับหายไปอย่างเด็ดขาด) มีสภาวะที่ไม่ต้องทน (สุขัง) เพราะมันมีตัวตนเป็นของตนเองดังนั้นตัวตนของมันจึงไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใดๆ เรียกว่าเป็นอิสระในตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งความเชื่อเรื่องอัตตานี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่เน้นสอนว่า จิต หรือ วิญญาณ ของสิ่งที่มีชีวิต เช่น คนเรานี้เป็นอัตตา ที่จะไม่มีวันดับสูญหายไปอย่างเด็ดขาด เมื่อร่างกายตาย อัตตานี้ก็จะยังมีการเกิดขึ้นมาใหม่ได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น (ซึ่งความเชื่อนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวีนว่ายตายเกิด และความเชื่อว่ามีนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา) ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๘๐๐ ปี ความเชื่อเรื่องอัตตานี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระองค์และได้รับการสืบต่อมาจนถึงในปัจจุบัน ถ้าเรายังมีความเชื่อว่าจิตหรือวิญญาณของเรานี้เป็นอัตตา ก็เท่ากับว่าเรายังมีสังโยชน์หยายๆตัวแรกครอบงำจิตอยู่ จึงทำให้เราไม่มีดวงตาเห็นธรรม ซึ่งวิธีการทำลายสังโยชน์ตัวนี้ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจากคำสอนของพระอัสสชิที่สอนว่า "ทุกสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ" นี้ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จึงจะมีดวงตาเห็นธรรมได้ วิธีการพิจารณาก็คือ ให้เราเพ่งพิจารณาดูจากความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลาย
โดยเฉพาะในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา" นี้ว่า
มีสิ่งใดบ้างที่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาเป็นเหตุปรุงแต่งขึ้น
ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาดูจากสิ่งที่มีอยู่จริงในขันธ์ทั้ง ๕ (คือร่างกายและจิตใจ)
ของเราแล้วก็จะพบว่า มันไม่มีสิ่งใดหรือขันธ์ใดเลยที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
คือทุกขันธ์ล้วนต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น
เมื่อมันต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
ดังนั้นมันจึงมีความไม่เที่ยงแท้ถาวร
คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตก (ใช้กับร่างกาย) ดับ
(ใช้กับจิตใจ) อยู่ตลอดเวลา
สุดท้ายไม่ช้าก็เร็วสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานี้ก็ต้องแตกดับไปอย่างแน่นอน
(อนิจจัง) รวมทั้งเมื่อยังตั้งอยู่ (ยังไม่แตกดับ) มันก็ยังต้องทนประคับประคองตัวตนปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยตวามยากลำบาก
(ทุกขัง) อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย (นี่คือการเห็นกฎไตรลักษณ์ในขันธ์ทั้ง ๕) นี่ก็แสดงถึงว่า ทั้งร่างกายและจิตใจ
(คือแต่ละขันธ์) ของทุกชีวิตโดยเฉพาะในตัวเรานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยฝีมือธรรมชาติทั้งสิ้น
มันไม่ได้มีตัวตนเป็นของตนเองเลยสักสิ่ง (หรือขันธ์) เดียว หรือเรียกว่ามันไม่มีอิสระในตัวตนของมันเองเลย
ตัวตนของมันต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่มาปรุงแต่งตลอดเวลา ซึ่งนี่ก็คือปัญญาขั้นเข้าใจอย่างถูกต้องว่า
มันไม่ได้มีอัตตาในทุกชีวิตแลย มีแต่สิ่งที่เป็นอนัตตา (อนัตตา แปลว่า
ไม่ใช่อัตตา) ทั้งสิ้น และเมื่อเรามีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเช่นนี้แล้ว
สังโยชน์ตัวแรกคือสักกายทิฎฐิที่เป็นความเห็นผิดว่าร่างกายหรือจิตใจของทุกชีวิตเป็นอัตตาก็จะถูกทำลายไปทันที
รวมทั้งเมื่อเรามีความเข้าใจดังนี้แล้วก็ได้นำความเข้าใจนี้มาเพ่ง
(ด้วยสมาธิอย่างจริงจังและต่อเนื่อง) พิจารณาดูจากร่างกายและจิตใจของเราเอง
จนจิตมันยอมรับความจริง
แล้วจิตมันก็จะคลายความยึดมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นอัตตาหรือตัวตนที่เป็นเรา-ของเราลงทันที
เมื่อจิตไม่มีความยึดมั่นเช่นนี้แล้ว
ความทุกข์ของจิตที่เกิดมาจากความยึดมั่นก็จะไม่มี
(หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับลงได้แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์
มันก็จะกลับคืนสู่ความประภัสสรหรือบริสุทธิ์ได้ดังเดิม
(คือเหมือนจิตเด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆ) จิตที่บริสุทธิ์นี้ก็จะมีความปกติ สงบ
เย็น สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบา สบาย อยู่แล้วเป็นปกติ
ซึ่งลักษณะนี้เองที่พระพุทธเจ้าทรงสมมติเรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า ความดับลงของทุกข์
หรือแปลว่า เย็น ก็ได้ และเมื่อนิพพานได้ปรากฏขึ้นมาจริงๆดังนี้แล้ว
ก็จะทำให้สังโยชน์ดัวหยาบๆที่สองอันได้แก่วิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าว่ามีจริงหรือ? ในพระธรรม(หรืออริยสัจ
๔) ว่าจะดับทุกข์ได้จริงหรือ? ในพระสงฆ์ว่าจะมีผู้ปฏิบัติได้จริงหรือ?
และในการปฏิบัติว่าจะถูกต้องหรือ? ได้หายไปทันที
เมื่อความลังเลสงสัยนี้ได้หายไปแล้ว
การปฏิบัติเรื่องศีลก็จะเดินไปถูกทาง คือเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันเท่านั้น
ซึ่งนี่ก็คือการทำลายสังโยชน์หยายๆตัวที่ ๓ คือ ลีลัพตปรามาส
ที่เป็นการปฏิบัติศีลและพรต (ข้อปฏิบัติปลีกย่อย)
ที่ผิดเพี้ยนไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ให้หายไป และเมื่อทำลายสังโยชน์ตัวที่ ๓
นี้ได้จิตนี้ก็ได้รับการสมมติว่ามีปัญญาเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าแล้ว
หรือเรียกให้สวยหรูว่ามีดวงตาเห็นธรรม หรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นที่เรียกว่า
พระโสดาบัน ที่หมายถึง ผู้แรกเข้าสู่กระแสแห่งนิพพานอันสูงสุด
(คือเย็นสนิทและถาวร) แล้ว เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๒๗
ธันวาคม ๒๕๕๖
|