กำเนิดชีวิตตามหลักพุทธศาสนา

เรื่องการกำเนิดชีวิตหรือต้นกำเนิดมนุษย์นั้น ถ้าอ่านจากพระไตรปิฎกก็จะพบเรื่องพระพรหมลงมากินง้วนดินแล้วร่างกายหยายเลยกลับเป็นพรหมไม่ได้ จึงกลายมาเป็นคนหรือมนุษย์และสืบเผ่าพันธุ์มาจนเราในทุกวันนี้ ซึ่งนี่ดูว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาในภายหลังโดยมีเรื่องพระพรหมของศาสนาพราหมณ์อยู่ด้วย จึงจัดว่าไม่น่าเขื่อถือและถ้าใช้หลักกาลามสูตร (หลักความเชื่อของพระพุทธเจ้า) มาพิจารณาก็ทำให้ตัดทิ้งไปได้เลยว่านี่ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

แต่ถ้าจะมาศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วก็จะอธิบายเรื่องต้นกำเนิดมนุษย์โดยสรุปได้ว่า เมื่อก่อนโลกจะเป็นกลุ่มแก๊สร้อนๆลอยอยู่ในอวกาศ เมื่อเย็นลงจึงจับตัวกันเป็นก้อนหินกลมแต่มีลาวาร้อนอยู่ภายใน ต่อมาจึงมีน้ำเกิดขึ้น (บางตำราก็ว่าน้ำมาจากลาวาภายในโลก บางตำราก็ว่าน้ำมาจากดาวหางน้ำแข็ง) เมื่อมีน้ำจึงได้มีอากาศ เมื่อมีน้ำและมีแสงแดดส่องมาถูกของแข็งพวกหิน ดิน ที่อยู่ในน้ำ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว และต่อมาสิ่งมีชีวิตนี้ก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเป็นพืชพวกตะไคร่น้ำและพืชในน้ำมากมายแล้วพืชนี้ก็ค่อยๆพัฒนามาเป็นสัตว์น้ำนาๆชนิดและพืชในน้ำก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเป็นพืชบนบกจนกลายมาเป็นต้นไม้ใหญ่ๆ และเกิดเป็นป่าไม้ขึ้นมากมาย และพวกสัตว์น้ำก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเป็นสัตว์บกและพัฒนามาเป็นสัตว์ชนิดต่างๆรวมทั้งคนหรือมนุษย์ด้วย

นี่คือการพิจารณาตามเหตุผลของนักวิทยาศาสตร์เรื่องต้นกำเนิดของคนหรือมนุษย์ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเชื่อก็ได้เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ถ้าเราจะพิจารณาตามหลักพุทธศาสนา เราก็ต้องใช้กฎสูงสุดของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าสอนไว้มาพิจารณา ที่เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ที่สรุปไว้ว่า "สิ่งใดจะเกิดขึ้น มันจะต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้น" ซึ่งเมื่อเราพิจารณาเรื่องกำเนิตชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมันก็ตรงกับกฎอิทัปปัจจยตาของพุทธศาสนา ดังนั้นเรื่องกำเนิดชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อ เพราะมีเหตุผลและมีความจริงรองรับ

แต่เราต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการดับทุกข์ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปรู้ก็ได้ว่าต้นกำเนิดของทุกชีวิตมาจากไหน? เพียงเรารู้ว่า ชีวิตของเราทุกคนเกิดมาได้อย่างไร? เท่านี้ก็ทำให้เกิดปัญญาเพียงพอที่จะนำมาใช้ประกอบกับสมาธิเพื่อดับทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบันได้แล้ว

เมื่อดูจากความเป็นจริงแล้ว ร่างกายของมนุษย์เราทุกคนนั้นเดิมทีจะยังไม่มีอยู่ก่อน แต่อาศัยพ่อและแม่ร่วมกันสร้างขึ้นมา และได้อาหาร น้ำ อากาศบริสุทธิ์ อุณหภูมิที่พอเหมาะ และการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จึงทำให้ร่างกาย (รูปขันธ์) เจริญเติบโตขึ้นมา ซึ่งร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่นี้เองที่มีระบบประสาท (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) สำหรับทำให้เกิดการรับรู้ (วิญญาณขันธ์) สิ่งต่างๆภายนอกของโลก (คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ) ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเกิดการรับรู้สิ่งใดแล้วก็จะเกิดความรู้สึก (เวทนาขันธ์) ต่อสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยทันที เมื่อรู้สึกแล้วก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้น (สัญญาขันธ์) ทันที เมื่อจำได้แล้วก็จะมีการคิดหรือปรุงแต่งให้เกิดความอยาก ความยึดถือ หรือปล่อยวาง เป็นต้น (สังขารขันธ์) ขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งระบบการทำงานนี้เองที่เรียกว่า จิต (เมื่อทำหน้าที่คิด) หรือใจ (เมื่อทำหน้าที่รู้)

สรุปได้ว่า ชีวิตของมนุษย์เรานี้ ก็ประกอบด้วย ร่างกายและจิตใจ ซึ่งจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่เกิดขึ้นมา และความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ก็ต้องอาศัยจิตและอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาอีกที ซึ่งมันก็เป็นไปตามหลักของเหตุผลและความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ และก็ตรงกับหลักพุทธศาสนาเรื่องอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนของตนเอง) ซึ่งความเชื่อเรื่องพระพรหมลงมากินง้วนดินนั้นเป็นแค่ความเชื่อตามตำราที่พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเชื่อเพียงเพราะเหตุว่ามีตำราอ้างอิง ดังนั้นเรื่องพระพรหมลงมากินง้วนดินนั้นจึงไม่ควรสนใจ สิ่งที่ควรสนใจก็คือเรื่องการกำเนิดชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์และเรื่องการเกิดร่างกายและจิตใจตามความเป็นจริง เพราะนี่คือการมองชีวิตตามที่เป็นจริง อันเป็นปัญญาที่จะนำไปใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

 เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดได้
ที่ www.whatami.net)

*********************