ทำไมสมัยนี้ฟังธรรมะแล้วจึงไม่เห็นธรรม?

          จากที่เราเคยได้ฟัง (จากคนอื่น) หรืออ่าน (จากตำรา) มาว่า สมัยพุทธกาลมีหลายคนที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียงเล็กน้อย แล้วเกิดดวงตาเห็นธรรม หรือเกิดความเห็นแจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้า (ในเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔) ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเมื่อเราก็ได้ฟังหรืออ่านธรรมะนั้นบ้างก็ไม่เห็นจะทำให้เราเกิดดวงตาเห็นธรรมหรือเห็นแจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้างเลย หรือแม้เราจะได้ฟังหรืออ่านคำสอนของพระพุทธเจ้ามาอย่างมากมาย ก็ไม่เห็นว่าจะทำให้เราเกิดดวงตาเห็นธรม หรือเกิดความเห็นแจ้งคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาบ้างเลยเหมือนกัน ซ้ำยิ่งจะทำให้เกิดความสงสัยงงงวยหรือสับสนขึ้นมาเสียอีก ซึ่งสาเหตุที่การฟังหรืออ่านธรรมะแล้ว ไม่ทำให้เกิดการเห็นธรรมหรือมีดวงตาเห็นธรรมนั้นก็มาจาก ๒ สาเหตุใหญ่ๆคือ (๑) จากคนสอน หรือจากตำรา กับ (๒) จากคนฟัง หรือคนอ่าน

คือถ้าคนสอนหรือคนเขียนตำรานั้นสอนผิดหรือเขียนตำราไว้ผิด คนฟังหรืออ่านก็ไม่มีทางจะเห็นธรรมได้เลยไม่ว่าคนฟังหรืออ่านนั้นจะปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ก็ตาม หรือถ้าคนสอนก็สอนถูกต้องหรือเขียนตำราไว้ถูกต้อง แต่คนฟังหรืออ่านกลับปฏิบัติผิดก็จะไม่มีทางเห็นธรรมได้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าคนสอนนั้นสอนถูกต้องหรือเขียนตำราไว้ถูกต้องแล้ว บวกกับคนฟังหรืออ่านก็ปฏิบัติถูกต้องด้วย คนฟังหรืออ่านนั้นจึงจะเห็นธรรมได้

 การสอนผิดนั้นเป็นอย่างไร? คือในกรณีของคนสอนที่สอนผิดหรือเขียนตำราไว้ผิดนั้นก็ได้แก่ การนำเอาเรื่องที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้สนใจศึกษามาศึกษา (ที่เรียกว่าเรื่องอจินไตย อันได้แก่เรื่องพุทธประวัติ, เรื่องสมาธิสูงๆ, เรื่องกรรมและการรับผลกรรม, และเรื่องทางโลกที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์), หรือการสอนโดยไม่ใช้เหตุใช้ผล, หรือการสอนอย่างไม่เป็นระบบ (เช่นไม่เริ่มจากง่ายไปหายาก หรือไม่เริ่มจากพื้นฐานไปหายอด เป็นต้น), หรือการสอนให้เชื่อเพียงอย่างเดียวโดยยังไม่ได้พิสูจน์, หรือการนำเอาคำสอนที่ตรงข้ามกับหลักของพุทธศาสนามาสอน (อันได้แก่การสอนว่า วิญญาณหรือจิตใจของคนเรานี้เป็นอัตตาหรือตัวตนอมตะ ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วเพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้ หรือเมื่อร่างกายและจิตใจเก่านี้ตายแล้วก็จะเกิดจิตใจใหม่ขึ้นมาในร่างกายใหม่ที่ยังเหมือนเดิมขึ้นมาได้อีก อันทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย และความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า อย่างชนิดที่เป็นสถานที่หรือบุคคล รวมทั้งความเชื่อเรื่องเวรกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งความเชื่อนี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนา แต่คำสอนนี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว) เป็นต้น ซึ่งนี่คือหลักใหญ่ๆที่เป็นการสอนที่ผิดของผู้สอนหรือผู้ที่เขียนตำรา

การปฏิบัติผิดนั้นเป็นอย่างไร? คือในกรณีของผู้ฟังหรืออ่านที่ปฏิบัติผิดนั้นก็ได้แก่ การที่ไม่ทำใจให้เป็นกลาง (คือมีอคติหรือลำเอียงเพราะชอบหรือชังหรือกลัวหรือโง่ หรือยังยึดติดในความเชื่อเก่าๆอยู่) ต่อผู้สอนหรือต่อผู้ที่เขียนตำรา, หรือการถือว่าตัวเองมีความรู้มากกว่าหรือถูกต้องกว่าผู้สอนหรือผู้ที่เขียนตำรา, หรือการไม่สนใจหรือตั้งใจ (คือไม่มีสมาธิ) ในการฟังหรืออ่าน, หรือไม่รู้จักการนำสิ่งที่ได้ฟังหรืออ่านนั้นมาพิจารณาด้วยเหตุผล (คือไม่เกิดความเข้าใจ), หรือการที่เอาแต่เชื่อในสิ่งที่ได้ฟังมาหรืออ่านมาเพียงอย่างเดียว โดยยังไม่ได้ปฏิบัติหรือพิสูจน์ให้เห็นจริงเสียก่อน เป็นต้น ซึ่งนี่คือหลักใหญ่ๆที่เป็นการปฏิบัติที่ผิดของผู้ฟังหรืออ่าน  

          การสอนถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร? คือในกรณีของคนสอนที่สอนถูกต้องหรือเขียนตำราไว้ถูกต้องนั้นก็ได้แก่ การสอนแต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันมนุษย์, การไม่สอนเรื่องที่พระพุทธเจ้าห้ามศึกษา, การสอนโดยใช้เหตุใช้ผล, การสอนอย่างเป็นระบบ, การสอนให้ทดลองปฏิบัติหรือพิสูจน์ให้เห็นจริงเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ, และการสอนให้เข้าใจถึงหลักสำคัญของคำสอนของพระพุทธเจ้าอันได้แก่เรื่อง ร่างกายและจิตใจของมนุษย์และสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา (ไม่ใช่หรือไม่เป็นอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน) 

การปฏิบัติถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร? คือในกรณีของผู้ฟังหรืออ่านที่ปฏิบัติถูกต้องนั้นก็ได้แก่ การทำใจให้เป็นกลางหรือไม่มีอคติใดๆหรือไม่ยึดติดในความเชื่อใดๆ, แล้วก็ตั้งใจฟัง (มีสมาธิ), แล้วนำเอาสิ่งที่ฟังนั้นมาคิดพิจารณาด้วยเหตุผล จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าแท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆหรือของสิ่งใดอยู่จริง, แล้วจิตก็ปล่อยวางความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเราลง (หรืออาการที่จิตไม่มีความอยากใดๆหรือที่เรียกว่าจิตว่างจากกิเลส) จนความทุกข์ของจิตใจได้ระงับดับหายไปจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว), แล้วจิตก็สงบเย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย เพราะจิตไม่มีความทุกข์ (แม้เพียงชั่วคราว)  หรือที่เราชอบเรียกกันว่า นิพพาน (ที่หมายถึงความไม่มีทุกข์) ซึ่งนี่คือหลักสำคัญในการปฏิบัติที่ถูกต้องของผู้ฟังที่จะทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรม หรือมีความเห็นแจ้งในคำสอนที่แท้จริงในเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าได้

          สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องว่าจะปฏิบัติอย่างไรจิตใจของเราในปัจจุบันจึงจะไม่เกิดความทุกข์? หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “ดับทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้” ซึ่งการเห็นธรรมหรือการมีดวงตาเห็นธรรมก็คือ การเห็นแจ้งหรือรู้สึกด้วยจิตของเราเองจริงๆ ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี้นำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจเราได้จริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) แต่การที่ใครจะฟังธรรมหรืออ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จะเกิดดวงตาเห็นธรรมหรือเห็นแจ้งขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องประกอบไปด้วยทั้งการสอนหรือเขียนตำราที่ถูกต้องของผู้สอน และการปฏิบัติที่ถูกต้องของผู้ศึกษาเองด้วย จึงจะทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรม หรือเกิดความเห็นแจ้งในคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้อย่างแท้จริง.

 

เตชปญฺโญ ภิกขุ.   ๒๒ ต.ค. ๒๕๕๕

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************