วิธีการค้นหาสู่การค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นหลักที่เราไม่สามารถที่จะรู้จักหรือเข้าใจได้อย่างถูกต้องจากการอ่านจากตำรามา หรือฟังมาจากคนอื่น หรือแม้จากการคาดคะเนหรือคิดคำนวณเอาเท่านั้น แต่จะรู้จักได้อย่างถูกต้องจากการฟังหรืออ่านคำสอนที่ถูกต้องหรือแท้จริงมาก่อน แล้วนำสิ่งที่ได้ฟังมาหรืออ่านมานั้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลอย่างละเอียดรอบครอบ จนเกิดเป็นความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งขึ้นมา แล้วจึงนำสิ่งที่เข้าใจแล้วนั้นมาทดลองปฏิบัติหรือพิสูจน์อย่างเต็มความสามารถ จนพบกับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้นอย่างแน่ชัด จึงจะเรียกว่าเป็นการรู้จักหรือเข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งสรุปแล้วนี่ก็คือการค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาติภายในจิตใจของมนุษย์ โดยใช้เหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ จนค้นพบความจริงนั้นด้วยจิตใจของมนุษย์เอง ซึ่งหลักในการค้นหาโดยสรุปนั้นก็มีดังต่อไปนี้ 

          (๑)  เราจะต้องยึดกฎสูงสุดของธรรมชาติที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งเอาไว้ให้มั่นว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนจะต้องอาศัยเหตุและปัจจัย (ปัจจัย หมายถึง เหตุย่อยๆที่มาช่วยสนับสนุน) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น” ซึ่งกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ก็สรุปได้ว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่อาศัยเหตุ” ซึ่งเมื่อแจกแจงรายละเอียดของกฎสูงสุดนี้ก็จะได้ว่า “เมื่อมีเหตุ จึงมีผล, ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็ไม่มี, หรือ เมื่อเหตุเกิดขึ้น ผลจึงเกิดขึ้นมาทันที, เมื่อเหตุดับหายไป ผลจึงดับหายตามไปด้วยทันที”

(๒) หลักคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าก็คือ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักในการกำจัดความทุกข์ (หรือดับทุกข์) ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบันให้ลดน้อยลงก็ได้ หรือให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวรก็ได้ ซึ่งหลักอริสัจ ๔ นี้ก็สรุปอยู่ที่ ความทุกข์เกิดขึ้นจากความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตัวเรา-ของเรา เมื่อไม่มีความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตัวเรา-ของเรา ก็จะไม่มีความทุกข์

(๓) หลักอริยสัจ ๔ นี้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ คือศึกษาจากจิตใจของเราเอง โดยใช้สิ่งที่เรามีอยู่จริงๆในร่างกายและจิตใจของเราเองมาศึกษาและทดลองปฏิบัติ โดยไม่อาศัยความเชื่อจากตำราใดๆหรือจากใครๆทั้งสิ้น และไม่อาศัยการคิดคำนวณหรือการคาดคะเนใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งเราจะไม่ศึกษาเรื่องราวหรือทฤษฎีใดๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดับทุกข์นี้โดยตรง หรือไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาเรื่องการดับทุกข์

(๔) หลักอริยสัจ ๔ นี้จะสอนให้เรานำเอาขันธ์ (ส่วนหรือกลุ่ม) ๕ ที่สรุปเป็นร่างกายและจิตใจของเราเองที่ยังมีสติสมบูรณ์ดีอยู่นี้มาใช้ศึกษา โดยการนำขันธ์ทั้ง ๕ มาพิจารณาถึง (๑) เหตุที่ทำให้เกิดขันธ์ แต่ละขั้นขึ้นมา (๒) ลักษณะที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรในแต่ละขันธ์ (๓) ลักษณะที่ต้องทนอยู่ของแต่ละขันธ์ (๔) และลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (คือไม่ใช่ตัวตนอมตะ หรือไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริงๆ แต่เป็นแค่ตัวตนมายา หรือตัวตนชั่วคราวเท่านั้น) ของแต่ละขันธ์ ซึ่งลักษณะนี้เรียกว่า กฎไตรลักษณ์ ที่หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งด้วยสิ่งต่างๆ โดยลักษณะ ๓ ประการเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

(๕) ขันธ์ ๕ นี้ก็ได้แก่ รูป (ร่างกายและอวัยวะต่างของร่างกาย), วิญญาณ (การรับรู้สิ่งต่างๆทางระบบประสาททั้ง ๖ คือ  ตา, หู,  จมูก, ลิ้น, กาย และ ใจ), เวทนา (ความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้มา ซึ่งสรุปอยู่ที่ ๑. ความรู้สึกสุข ๒. ความรู้สึกทุกข์ และ ๓. ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์), สัญญา  (อาการที่จำสิ่งต่างๆที่รับรู้ได้), สังขาร (อาการที่จิตปรุงแต่งให้เกิดเป็นความอยาก หรือความยึดถือ หรือความคิดต่างๆ) ซึ่งรูปนี้ก็ได้แก่ร่างกายของมนุษย์เรา ส่วนวิญญาณ, เวทนา, สัญญา, และสังขารนี้ก็คือส่วนประกอบที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจิตหรือใจของมนุษย์เรานั่นเอง

(๖) การเกิดขึ้นของแต่ละขันธ์นั้นก็คือ ร่างกายและอวัยวะต่างๆของร่างกายมนุษย์เรานี้ก็ต้องอาศัยอาหาร, น้ำ, ความร้อน, และอากาศบริสุทธิ์ ที่พอเหมาะพอดีมาร่วมกันปรุงแต่งให้ร่างกายเกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ (เกิดรูปขันธ์) , เมื่อมีร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีระบบประสาททั้ง ๖ เกิดขึ้นอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเมื่อระบบประสาทใดทำงานอยู่และได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆภายนอก (อันได้แก่ ภาพ, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งที่มาสัมผัสกาย, และสิ่งที่มาสัมผัสใจ) ก็จะเกิดการรับรู้ (เกิดวิญญาณขันธ์) ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที, เมื่อเกิดการรับรู้ใดขึ้นมา ก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที (เกิดเวทนาขันธ์), เมื่อเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาแล้ว จิตก็จะนำเอาการรับรู้และความรู้สึกนั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของความทรงจำที่สมองเก็บเอาไว้ ถ้ามีข้อมูลที่ตรงกันก็จะเกิดการจำสิ่งที่ได้รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที (เกิดสัญญาขันธ์), และเมื่อจำสิ่งที่ได้รับรู้นั้นได้แล้ว จิตก็จะเกิดการปรุงแต่งให้เกิดความอยากได้บ้าง ไม่อยากได้บ้าง ลังเลใจบ้าง และเกิดความความยึดถือขึ้นมาบ้าง รวมทั้งปรุงแต่งให้เกิดความคิดต่างๆ ขึ้นมาบ้าง เป็นต้น (เกิดสังขารขันธ์) ซึ่งนี่ก็คือการเกิดขึ้นของขันธ์แต่ละขันธ์ที่ต้องอาศัยกันและกันเพื่อเกิดขึ้นมา โดยมีรูปหรือร่างกายมาเป็นพื้นฐานในการปรุงแต่งให้เกิดขันธ์ที่เป็นจิตใจของมนุษย์เรานี้ขึ้นมา

(๗) วิธีการพิจารณาตามกฎไตรลักษณ์ก็คือ ให้พิจารณาว่า ร่างกายและอวัยวะของร่างกายทุกส่วนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะตั้งอยู่อย่างถาวรหรือเป็นอมตะได้ สุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายก็จะต้องแตกสลายหรือตายไปในที่สุด และแม้เมื่อร่างกายยังไม่ตาย มันก็ยังต้องทนที่จะรักษาร่างกายเอาไว้ด้วยความยากลำบาก มากบ้าง น้อยบ้างอยู่ตลอดเวลา เช่น ต้องทนต่อความหิว กระหาย ร้อน หนาว โรคต่างๆ และการทำร้ายจากสิ่งภายนอกต่างๆมากมาย เป็นต้น รวมทั้งเราจะหาร่างกายของเราจริงๆที่เป็นแก่นหรือเป็นร่างกายอมตะชนิดที่จะมีอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดรไม่มี จะมีก็เพียงร่างกายชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนจิตใจนั้นเราก็ต้องพิจารณาว่า ขันธ์แต่ละขันธ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจิตใจนั้น มันก็ต้องอาศัยกันและกันเพื่อเกิดขึ้นมา เมื่อส่วนที่เป็นเหตุดับหายไป ส่วนที่เป็นผลก็ย่อมที่จะต้องดับหายตามไปด้วยเสมอทันที อย่างเช่น ถ้าไม่มีความทรงจำที่เนื้อสมองเก็บเอาไว้ จิตก็จำอะไรไม่ได้ เมื่อจำอะไรไม่ได้ จิตก็จะปรุงแต่งหรือคิดอะไรไม่ได้ตามไปด้วย  หรือเมื่อวิญญาณ (การรับรู้) ไม่เกิดขึ้น ส่วนที่เป็นเวทนา สัญญา และสังขารก็ย่อมที่จะไม่เกิดขึ้น หรือเมื่อวิญญาณได้เกิดขึ้นมาแล้วและดับหายไป ส่วนที่เป็นเวทนา สัญญา และสังขารก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที หรือถ้าระบบประสาทต่างๆของร่างกายเสียหาย วิญญาณที่ระบบประสาทที่เสียหายนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าร่างกายตาย ระบบประสาททั้ง ๖ ก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที เป็นต้น

จิต หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งคิดนึก ส่วน ใจ หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รับรู้ หรือเป็นศูนย์กลางของการปรุงแต่งคิดนึกอีกที โดยสรุปแล้วจิตใจก็คือ สิ่งที่รู้สึกและคิดนึกได้ โดยขณะที่จิตตื่นอยู่ มันก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดได้ แต่เมื่อจิตหลับสนิทโดยไม่ฝัน จิตก็จะไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งก็เท่ากับว่าขณะนั้นยังไม่มีจิต จะมีก็เพียงร่างกายที่ยังไม่ตายและมีวิญญาณเกิดขึ้นมาอ่อนๆภายในร่างกายเพื่อคอยกระตุ้นให้ร่างกายทำงานโดยอัตโนมัติเท่านั้น อีกทั้งปกติในวันหนึ่งๆของเรานี้ จิตก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ คือเมื่อจิตเกิดการรับรู้สิ่งหนึ่งแล้วก็จะดับไป แล้วก็ไปจะเกิดการรับรู้สิ่งอื่นๆต่อไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่จิตตื่นอยู่ และแน่นอนว่าความรู้สึก, การจำสิ่งที่รับรู้ได้, และการปรุงแต่งของจิต ก็ย่อมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิญญาณด้วยเสมอ อีกทั้งจิตก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีร่างกายก็จะไม่มีจิต และเมื่อร่างกายไม่เที่ยง จิตก็จึงไม่เที่ยงตามไปด้วย ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของความไม่เที่ยงของจิต

ส่วนขณะที่จิตเกิดความยึดถือว่ามีตนเองหรือมีตัวเราอยู่นั้น จิตก็จะเกิดความรู้สึกหนัก เหนื่อย เราร้อน หรือทรมานใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งนี่ก็คืออาการของความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ ซึ่งอาการของความยึดถือก็คือ อยากจะให้เป็นไปตามที่จิตอยากจะให้เป็น ถ้ายิ่งอยากมากแล้วไม่ได้สมอยาก จิตก็จะเกิดความทุกข์มาก ถ้าอยากน้อยแล้วไม่ได้สมอยากก็จะมีความทุกข์น้อย  แต่ถ้าจิตไม่มีความอยากใดๆ จิตก็จะไม่มีความทุกข์ จะมีบ้างก็เพียงความรู้สึกที่ต้องทนอยู่บ้างเพียงเล็กน้อยตามธรรมชาติของจิต ที่เป็นสิ่งปรุงแต่งที่ต้องมีลักษณะที่ต้องทนอยู่ตามธรรมชาติจากกฎไตรลักษณ์เท่านั้น ซึ่งลักษณะนี้เรียกว่า ที่สุดแห่งทุกข์ คือความทุกข์มันได้ลดลงจนถึงที่สุดเท่าที่มันจะสามารถลดลงได้แล้ว (ทางศาสนาเรียกว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความไม่มีทุกข์ หรือความสงบเย็น)

สรุปได้ว่า เมื่อจิตก็ไม่เที่ยงและต้องทนอยู่ดังนี้แล้ว จึงทำให้มองไม่เห็นว่าจะมีจิตที่เป็นแก่นแท้หรือตัวตนถาวรหรือตัวตนที่จะตั้งอยู่อย่างเป็นอมตะหรือมีอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ ดังนั้นแม้ความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ มันก็ต้องอาศัยจิตเกิดขึ้นมาด้วย ดังนั้นจึงเท่ากับว่า สิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆนั้นมันไม่มี จะมีก็เพียงตัวเราชั่วคราว (ไม่ถาวร) หรือตัวเรามายา (หลอกลวงว่าเป็นของจริง) หรือตัวเราสมมติ (ลงมติร่วมกันว่าเป็นจริง) เท่านั้น  

(๘) เมื่อเราได้พิจารณาร่างกายและจิตใจที่เรามีอยู่จริงตามกฎไตรลักษณ์ จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งแล้วว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริง มันจะมีก็เพียงตัวตนชั่วคราวเท่านั้น” ดังนี้แล้ว เราก็ต้องทดลองนำเอาความเข้าใจนี้มาตั้งใจเพ่งพิจารณาดูที่ร่างกายและจิตใจของเราเอง อย่างจริงจังและต่อเนื่องนานๆ ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้จริง จิตก็จะค่อยๆคลายความอยากลงและปล่อยวางความยึดถือว่ามีตัวเราหรือตัวตนของใครๆลง และเมื่อจิตไม่มีความอยากและความยึดถือใดๆแล้ว จิตก็จะกลับมาบริสุทธิ์หรือหลุดพ้นจากความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็ไม่มีทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์ จิตมันก็จะกลับคืนสู่ความปกติของมัน คือ สงบ เย็น เบา สบาย สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า นิพพาน นั่นเอง

(๙) การปฏิบัติเพื่อให้นิพพานปรากฏแก่จิตนี้ ถ้าใครสามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ความเคยชินที่จิตจะกลับมาเกิดความยึดถือว่ามีตนเอง ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกหายไป พร้อมกันนี้ก็จิตก็จะมีสติมาคอยระวังไม่ให้จิตกลับมาเกิดความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาอีกตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้จิตที่หลัดพ้นนี้ไม่กลับมาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาได้อีกอย่างถาวรตราบเท่าที่จะยังมีจิตอยู่ แต่ถ้าใครปฏิบัติได้เพียงชั่วคราว นิพพานก็จะปรากฏเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้ ผู้ที่จะปฏิบัติได้จำเป็นที่จะต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่ก่อนเป็นพื้นฐาน รวมทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา คือช่างสังเกต สนใจ มีเหตุผล ยอมรับความจริง, และยังต้องเป็นคนที่ไม่โอ้อวด, ไม่มีมารยา, ต้องเป็นคนอ่อนน้อม, สุภาพ, ไม่ลุ่มหลงติดใจในความสุขทั้งหลายของโลกโดยเฉพาะในเรื่องเพศมากจนเกินไป, ต้องเป็นคนซื่อสัตย์, จริงใจ, ขยัน, อดทน, เสียสละ, มีศีล, มีเมตตา (คือไม่เป็นศัตรูกับใครๆแต่จะเป็นมิตรกับทุกคนอย่างเสมอหน้า), มีและใจที่เป็นกลาง (ไม่มีความลำเอียงเข้าข้างใคร) มาเป็นคุณสมบัติอยู่ด้วยพอสมควร จึงจะสามารถปฏิบัติเพื่อให้ถึงความไม่มีทุกข์นี้ได้ ถ้าใครยังมีคุณสมบัติเหล่านี้ไม่เพียงพอ ก็ต้องมาตั้งใจพากเพียรสั่งสมคุณสมบัติเหล่านี้ให้มากขึ้น 

สรุปได้ว่า เราสามารถค้นหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เรื่องการปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์ในปัจจุบันของจิตใจเราเองได้ จากการพิจารณาดูร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบันอย่างจริงจังว่ามันไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆอยู่จริง”  และน้อมนำเอาความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจาณาดูที่ร่างกายและจิตใจของเราเองด้วยสมาธิหรือความตั้งใจอย่างที่สุด ก็จะทำให้ความทุกข์ของจิตใจเรานี้ดับหายไปทั้งอย่างชั่วคราวหรือดับหายไปอย่างถาวรได้อย่างแท้จริง ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าเราได้ค้นพบคำสอนเรื่องการดับทุกข์หรือหลักอริสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าแล้วด้วยสติปัญญาของเราเองโดยไม่เชื่อจากใครๆทั้งสิ้น.

เตชปญฺโญ ภิกขุ.   ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************