พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน?

เมื่อกล่าวคำว่า “พระพุทธเจ้า” ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ๒,๕๕๐ กว่าปีมาแล้ว ที่เดิมเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ต่อมาได้ทรงออกผนวชเพื่อแสวงหาวิธีการทำให้ชีวิตไม่มีความทุกข์ จนได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ แล้วกลายเป็นพระพุทธเจ้า ที่หมายถึง ผู้ที่รู้แจ้งโลก รู้แจ้งชีวิต รู้แจ้งวิธีการดับทุกข์อย่างสูงสุดไม่มีใครเทียบเท่า และพระพุทธองค์ก็ได้ทรงนำสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นี้มาสั่งสอนแก่ผู้คน จนมีผู้เคารพนับถือมากมาย ซึ่งต่อมาคำสอนของพระพุทธองค์ก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก จนกลายมาเป็นศาสนาที่เรียกว่า “พุทธศาสนา” ที่มีคนจำนวนมากนับถือ

แต่ถ้าเราจะมองอย่างลึกซึ้งอย่างคนมีปัญญาแล้ว เราจะเห็นว่า ความเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้เป็นที่ร่างกายอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่ความเป็นพระพุทธเจ้านั้นจะเป็นที่จิตใจ คือเมื่อจิตของเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ สภาวะของความเป็นพระพุทธเจ้าก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตของเจ้าชายสิทธัตถะทันที คือสภาวะของความเป็นพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นแก่จิตของใครก็ได้ ถ้าจิตนั้นมีลักษณะของความเป็นพระพุทธเจ้าครบถ้วน ซึ่งลักษณะจิตของพระพุทธเจ้านั้นก็จะประกอบด้วย

 ๑. ความบริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลสใดๆอยู่เลย เมื่อไม่มีกิเลสใดๆความยึดถือว่ามีตัวตนทั้งหลายก็จะไม่มี เมื่อไม่มีความยึดถือว่ามีตัวตนใดๆ จิตของพระพุทธเจ้าก็จะไม่มีความทุกข์ใดๆ เมื่อไม่มีความทุกข์ จิตก็จะสงบเย็น (นิพพาน)

๒. ปัญญา คือจะมีปัญญาหรือความรอบรู้ในเรื่องของโลกและชีวิตอย่างถูกต้องที่สุด เมื่อมีความรอบรู้ในชีวิตอย่างถูกต้องแท้จริง จึงทำให้รู้จักวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นแก่จิตใจของตนเองอย่างถาวรได้  

๓. ความกรุณา คือจะมีความคิดที่จะช่วยผู้ที่กำลังมีความทุกข์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์อยู่เสมอ ไม่ทรงคิดเกลียดชังใครแม้คนที่จะเกลียดพระองค์อย่างที่สุดก็ตาม ซึ่งวิธีการช่วยเหลือของพระพุทธองค์นั้นก็คือ การสอนให้ผู้ที่กำลังมีความทุกข์นั้นมีดวงตาเห็นธรรม หรือมีความเห็นแจ้งชีวิตและโลกตามอย่างพระพุทธองค์ เมื่อใครสามารถศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ จนเกิดความเห็นแจ้งชีวิตและโลกได้แล้ว เขาก็จะรู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อให้จิตใจของเขาไม่มีความทุกข์ได้ด้วยตัวเองตามอย่างพระพุทธเจ้า

การที่จิตของเราจะมีลักษณะของพระพุทธเจ้าได้นั้น เราก็ต้องมีการศึกษาและปฏิบัติจนเกิดทั้งความบริสุทธิ์ ปัญญา และความกรุณาขึ้นมาอย่างแท้จริง สภาวะของความเป็นพระพุทธเจ้าก็จะปรากฏแก่จิตของเราทันทีโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งใดๆมาช่วย รวมทั้งไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา (คือปฏิบัติเมื่อใดก็จะเกิดผลเมื่อนั้นทันที) อีกด้วย ซึ่งจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สภาวะของพระพุทธเจ้าปรากฏแก่จิตของเราได้นั้นก็คือ “การมีปัญญา” คือเมื่อใดที่เรามีปัญญาอย่างถูกต้องแท้จริงแล้ว จิตของเราก็จะบริสุทธิ์และมีความกรุณาเกิดขึ้นตามมาด้วยทันที

ทำอย่างไรเราจึงจะมีปัญญาที่ถูกต้องแท้จริง? ซึ่งคำว่า “ปัญญา” ตามความหมายของพุทธศาสนาก็หมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ ซึ่งคำสอนที่จะทำให้เกิดความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์นั้นก็คือคำสอนเรื่อง อริยสัจ ๔ ซึ่งอริยสัจ ๔ นั้นจะสรุปได้ดังนี้

๑. ความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายและจิตใจนี้ว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” คือเมื่อใดที่จิตมนุษย์เกิดความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร หรือเป็นอมตะ หรือเป็นตัวตนของตนที่จะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร เมื่อนั้นจิตที่ยึดมั่นถือมั่นนี้ก็จะเกิดความทุกข์ทรมานหรือเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ไม่มากก็น้อย (ถ้ายึดมากก็ทุกข์มาก ถ้ายึดน้อยก็ทุกข์น้อย)

๒. ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหมด ก็คือ ความโง่สูงสุด (อวิชชา) ที่เป็นความรู้ผิด หรือเข้าใจผิด ที่รู้และเข้าใจว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา คือเมื่อใดที่จิตเกิดความรู้ว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเราขึ้นมา จิตโง่นี้ก็จะเกิดการปรุงแต่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาในโลก และเมื่อจิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาในโลกแล้ว มันก็อยากได้สิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความสุขแก่ตัวเอง และอยากหนีหรือทำลายสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตัวเอง ซึ่ง “ความอยาก” นี้เองที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา แล้วก็ตามมาด้วยความทุกข์ทันที

๓. เมื่อใดที่จิตเกิดความรู้ขึ้นมาว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง มีแต่ตัวตนมายา หรือตัวตนชั่วคราวเท่านั้น”  เมื่อนั้นก็ชื่อว่าจิตได้เกิดปัญญาสูงสุด (หรือวิชชา) ขึ้นมาอย่างแท้จริงแล้ว และเมื่อมีสมาธิ (จิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น เข้มแข็ง และอ่อนโยน) กับศีล (จิตที่ปกติเพราะไม่ได้ทำความผิดหรือชั่วมาก่อน) มาประกอบอยู่ด้วย ก็จะทำให้ความโง่สูงสุดหายไปจากจิตในขณะนั้นทันที และเมื่อไม่มีความโง่สูงสุดเสียอย่างเดียว พวกความรู้สึกว่ามีตัวเราและความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราก็ย่อมจะไม่มีตามไปด้วยทันที รวมทั้งความทุกข์ใจทั้งหลายก็จะไม่มีตามไปด้วย เมื่อจิตใจไม่มีความทุกข์ มันก็ย่อมที่จะสงบเย็น หรือที่ทางศาสนาเรียกว่านิพพานทันที

๔. วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้จิตไม่มีความทุกข์นี้ก็สรุปอยู่ที่ ๑. การศึกษาให้เกิดความเข้าใจในเรื่องว่า “มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง มีแต่ตัวตนมายาหรือตัวตนชั่วคราวเท่านั้น” (หรือเรื่อง อนัตตา – ความไม่ใช่ตัวตนอมตะ) ๒. การนำความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจารณา ในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องนานๆ (หรือด้วยสมาธิ) ๓. การเป็นคนดีมีศีลธรรม หรือการไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น   ซึ่งเมื่อเราสามารถปฏิบัติให้หลักทั้ง ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นมาได้จริงพร้อมกันเมื่อใด ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับหรือดับลงทันที หรือความทุกข์ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น รวมทั้งถ้าสามารถเราปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนจิตใต้สำนึกของเราที่ได้สั่งสมความรู้ผิดๆว่ามีตัวเราเอาไว้นั้น ได้ถูกความรู้ถูกว่าไม่มีตัวเราอยู่จริงเข้าไปทำลายจนหมดความเคยชินที่จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่อีกอย่างถาวร ความรู้ผิดนั้นและความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา รวมทั้งความทุกข์ทางใจทั้งปวงก็จะไม่กลับมาเกิดแก่จิตใจ (ที่สมมติเรียกว่าเป็น) ของเราอีกต่อไปอย่างถาวร

สรุปได้ว่า สภาวะของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่จิตใจที่บริสุทธิ์ มีปัญญา และมีความกรุณา ที่เราทุกคนสามารถศึกษาและปฏิบัติให้เกิดขึ้นแก่จิตใจของเราได้ทุกเวลาและทุกสถานที่โดยไม่ขึ้นอยู่กับใครๆหรือสิ่งใดทั้งสิ้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเอาไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” คือ เมื่อใดที่จิตของเรามีความบริสุทธิ์ มีปัญญา และมีความกรุณา เมื่อนั้นเราก็จะพบสภาวะจิตที่เรียกว่า “พุทธะ” ที่หมายถึง รู้ (รู้แจ้งชีวิตและโลก), ตื่น (หายโง่), และเบิกบาน (สดชื่น หรือไม่มีทุกข์) ทันที ซึ่งนี่ก็คือการพบพระพุทธเจ้าตัวจริง ที่ทรงประทับอยู่เบื้องหลังความโง่ (อวิชชา) ของเรานี่เอง เมื่อเราเอาความโงที่ปิดบังพระพุทธเจ้าออกไป เราก็จะพบพระพุทธเจ้าได้โดยไม่ยากเย็นเลย

เตชปญฺโญ ภิกขุ   ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๔

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

***********************