การเวียนว่ายตาย-เกิดของพุทธศาสนาคืออะไร?

        ในปัจจุบันชาวพุทธเกือบจะทั้งหมดยังเข้าใจเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดของพุทธศาสนาไม่ถูกต้อง เพราะพุทธศาสนาได้ถูกศาสนาพราหมณ์ผสมผสานหรือกลืนกินมาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงทำให้มีหลักคำสอนของพราหมณ์เข้ามาอยู่ในพุทธศาสนาโดยเฉพาะในพระไตรปิฎกเต็มไปหมด ซึ่งคำสอนที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาก็คือ เรื่องจิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอัตตาหรือเป็นตัวตนอมตะ (คือจะไม่ตายหรือดับสูญอย่างเด็ดขาด)  ที่สามารถออกจากร่างกายของคนเราเมื่อตายไปแล้วได้ และยังสามารถไปเกิดใหม่ยังร่างกายใหม่ๆได้อีกเรื่อยไป อย่างที่เรียกว่า “การเวียนว่ายตาย-เกิด”

        อย่างเช่น ถ้าใครมีสมาธิสูงๆ ตายไปก็ไปเกิดเป็นพรหม, ถ้าทำความดี ตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์, ถ้าทำดีปนชั่วตายไปก็มาเกิดเป็นคนอยู่ในโลกนี้, เมื่อทำชั่วน้อยตายไปก็มาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่นบโลกนี้, ถ้าทำชั่วมากขึ้นหน่อยตายไปก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย (ผี), ถ้าทำชั่วมากขึ้นอีกตายไปก็ไปเกิดเป็นเปรต, แต่ถ้าทำชั่วมากๆตายไปก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกอยู่ในนรก เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คือการสอนเรื่องกรรมตามหลักของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่า เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้ในชาตินี้ เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นชาติต่อๆไป อย่างที่ชาวพุทธรับเอามาเป็นความเชื่อของพุทธศาสนาอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งยังทำให้ชาวพุทธเจ้าใจไปอีกว่า เมื่อใครสามารถปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาตามหลักอริยมรรคจนถึงขั้นสมบูรณ์แล้ว ก็จะบรรลุนิพพาน ซึ่งนิพพานนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นการตายแล้วจิตหรือวิญญาณจะดับสูญไปเลย ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตาย-เกิดเป็นอะไรๆอีกต่อไป แต่ก็มีบ้างที่เข้าใจว่าเป็นตายไปแล้วจิตหรือวิญญาณนี้จะได้ไปอยู่ยังบ้านเมืองหรือมีสภาวะที่มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์อยู่ชั่วนิรันดร ซึ่งนี่คือความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่มีความเชื่อว่าจิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอัตตา (ตัวตนอมตะ) และทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล ผี เปรต สัตว์นรก นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ฯลฯ รวมทั้งเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า และเรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน หรือเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย เป็นต้น ขึ้นมา อย่างที่มีอยู่ในคำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนาในปัจจุบัน

        ส่วนหลักคำสอนระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ที่แท้จริงของพุทธศาสนานั้นจะสอนตรงข้ามกับหลักของศาสนาพราหมณ์ คือพุทธศาสนาจะสอนว่า จิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนชนิดที่จะเป็นอมตะอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน แต่ว่าเป็นเพียงตัวตนชั่วคราวที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ขึ้นมาจากสิ่งอื่นๆ (คือจากธาตุต่างๆของโลก) เท่านั้น ไม่ได้มีตัวตนเป็นของตนเองเลยสักนิด  คือร่างกายก็เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของธาตุดิน (ของแข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว), ธาตุไฟ (ความร้อน), และธาตุลม (ก๊าซ) ส่วนวิญญาณ (การรับรู้ที่เกิดขึ้นตามระบบประสาทของร่างกาย คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ก็เกิดขึ้นมาจาการปรุงแต่งของร่างกายที่ยังไม่ตาย ส่วนจิตหรือใจ (สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) ก็เกิดขึ้นมาจากการทำงานของวิญญาณกับความทรงจำจากสมองมาทำงานร่วมกัน จึงทำให้เกิดมีการรับรู้, รู้สึก, จำ, และคิดหรือปรุงแต่งขึ้นมาได้ ดังนั้นถ้าไม่มีธาตุดิน หรือน้ำ หรือไฟ หรือลม ร่างกายก็จะต้องตายหรือแตกสลายไป ถ้าไม่มีร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่ วิญญาณก็จะเกิดขึ้นมาในร่างกายที่ตายแล้วไม่ได้ และเมื่อไม่มีวิญญาณ จิตก็ย่อมที่จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งนี่คือการสรุปเรื่องเกิดขึ้นมาของร่างกายและจิตใจของคนเรา ตามกฎสูงสุดของธรรมชาติที่เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ที่บังคับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุและปัจจัยมารปรุงแต่งให้เกิดขึ้น”

        เมื่อไม่มีจิตหรือวิญญาณที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ ดังนั้นจึงทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดอย่างของพราหมณ์นั้นไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นไปได้เลย  แต่พุทธศาสนาก็มีการสอนเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตาย-เกิดอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่คำสอนสำคัญ (คำสอนสำคัญคือเรื่องอริยสัจ ๔ ที่เป็นเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน) รวมทั้งก็มีการสอนเรื่องเทวดา นางฟ้า และเรื่องนรก สวรรค์ เป็นต้นอยู่ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่เหมือนกับของศาสนาพราหมณ์ที่สอนว่าเป็นสิ่งนอกตัว, เป็นเรื่องลึกลับ, ไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้, และเราไม่สามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน คือพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นสิ่งที่สอนจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน, มีเหตุผลมาอธิบายได้, เป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบัน, และเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งอยู่สักหน่อยเท่านั้น

อย่างเช่น เมื่อเรามีพรหมวิหารธรรม (คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) หรือมีสมาธิ จิตของเราก็จะตั้งมั่นอยู่ด้วยความสุขสงบ ก็สมมติเรียกว่าเรากำลังเกิดเป็นพรหมอยู่ (เป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ), เมื่อเรามีความละอายต่อการทำบาป และเกรงกลัวผลของบาป (หิริโอตตัปปะ) หรือทำความดีอยู่ จิตของเราก็เกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมาทันที ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นเทวดา, แต่ถ้าเรากำลังมีความสุขที่เกิดมาจากการทำงานอย่างเหนื่อยยาก ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นคน (ถ้าคนมีคุณธรรมก็เรียกว่าเป็นมนุษย์), แต่ถ้าเมื่อใดที่จิตของเรากำลังโง่อย่างไม่สมควรจะโง่ ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน, แต่เมื่อใดที่จิตของเรากำลังเกิดความอยากได้หรือหิวด้วยกิเลส (ความโลภ) อย่างรุนแรง ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นเปรต (ผู้ทรมานใจอยู่ด้วยความหิวโหย), แต่เมื่อใดที่จิตของเราหวาดกลัวหรือขลาดกลัวเพราะทำความผิดเอาไว้ ต้องหลบๆซ่อนๆกลัวคนพบเห็นหรือรู้จัก ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นอสุรกาย (หรือผี), แต่เมื่อใดที่เรากำลังเกิดความโกรธอย่างรุนแรง ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นยักษ์ (ผู้ที่ควรเกรงกลัวเพราะอาจจะทำร้ายคนอื่นได้ง่าย), และเมื่อใดที่จิตของเรากำลังเกิดความทุกข์ใจหรือเร่าร้อนใจอย่างกับถูกไฟเผา (จากความโกรธ หรือกลัว เป็นต้น) ก็สมมติเรียกว่ากำลังเกิดเป็นสัตว์นรก ที่กำลังตกนรกอยู่ เป็นต้น

เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดของพุทธศาสนานี้ แท้จริงก็คืออาการของจิตเราในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามอำนาจของกิเลสที่เกิดขึ้นมาครอบงำจิตอยู่นั้นเอง แต่เราก็มาสมมติเรียกให้คนฟังเข้าใจได้ง่ายๆว่า เป็นการเวียนว่ายตาย-เกิดที่คล้ายๆกับ เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดของศาสนาพราหมณ์ คือปกติในวันหนึ่งๆของจิตใจเรานี้ มันจะเกิดเป็นอาการอย่างหนึ่งแล้วก็ดับไป (หรือตาย) แล้วก็เกิดเป็นอาการอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาใหม่ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา โดยวันหนึ่งๆอาจมีการเกิดและตายเกิดขึ้นในจิตใจของเรานับเป็นร้อยๆครั้งก็ได้ ซึ่งการที่จิตของเราจะเกิดอาการใดขึ้นมานั้นก็จะต้องมีกิเลสมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาจิตก็จะกระทำอะไรๆไปตามอำนาจกิเลสนั้น (ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง) เมื่อทำอะไรลงไป เรียกว่าเป็นกรรม (ที่หมายถึงการกระทำด้วยเจตนา ซึ่งเจตนาก็คือกิเลส) เมื่อมีกรรมก็ย่อมที่จะมีวิบาก (ผลของกรรม) ตามมาด้วยเสมอ ซึ่งผลของกรรมนี้ก็ได้แก่เมื่อทำกรรมดี (ความดี) ก็จะเกิดความสุข (ถ้าสุขมากก็สมมติเรียกว่าเป็นเทวดา ถ้ามีสุขปนทุกข์ก็สมมติเรียกว่าเป็นคน) แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะตกสู่อบายภูมิ (สภาวะที่มีความสุขน้อยลงแต่มีความทุกข์มาปนอยู่มากขึ้นตามลำดับ อันได้แก่ ถ้าทำชั่วมากก็จะเกิดความทุกข์มาก ที่สมมติเรียกว่าเป็นสัตว์นรกที่กำลังตกนรก แต่ถ้าทำความชั่วน้อยลงก็จะมีความทุกข์น้อยลงตามลำดับ คือ เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน) แต่เมื่อใดที่จิตของเราว่างจากกิเลส (ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติเมื่อจิตมันถูกกิเลสแผดเผาอยู่จนอ่อนล้าแล้วก็ได้, หรือเกิดมาจากการใช้สมาธิมาระงับกิเลสให้ดับลงชั่วคราวก็ได้, หรือเกิดมาจากการเจริญปัญญาจนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมาว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” จนทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวรก็ได้) จิตของเราก็จะสะอาด (บริสุทธิ์) ว่าง สงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย หรือไม่เกิดอาการใดๆอย่างที่เกิดจากกิเลสขึ้นมา ซึ่งนี่คืออาการของ นิพพาน ที่หมายถึง ความสงบเย็น หรือความไม่มีทุกข์ หรือความว่างจากการเกิดมีตัวตนใดๆขึ้นมา หรือที่เรียกว่าความหลุดพ้นจากกิเลส

สรุปได้ว่า เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดที่แท้จริงของพุทธศาสนานั้นก็คือ อาการที่จิตของเราในชีวิตประจำวันนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นมาครอบงำอยู่ และเราก็มาสมมติเรียกอาการต่างๆนั้นให้เหมือนกับการเวียนว่ายตาย-เกิดที่ศาสนาพราหมณ์เขาสอนกันอยู่ เพื่อให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย (เพราะสมัยพุทธกาลนั้นผู้คนเขาเข้าใจเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดอย่างของศาสนาพราหมณ์กันอยู่ก่อนแล้ว) ถ้ามาสอนว่าหมายถึงสภาวะของจิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของกิเลสในปัจจุบัน คนที่มีปัญญาน้อยก็อาจเข้าใจได้ยาก แต่ถ้ามาสอนโดยใช้การสมมติอย่างนี้ก็จะทำให้คนมีปัญญาน้อยเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงขอให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายได้ช่วยกันศึกษาเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดที่แท้จริงของพุทธศาสนานี้ให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้นำหลักการนี้ไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและช่วยกันเผยแพร่ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป  

เตชปญฺโญ ภิกขุ

๒๑ ธันวาคา พ.ศ. ๒๕๕๔

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์  www.whatami.net )

***********************