ความสุข คือ ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย และเป็นความรู้สึกที่น่าพึงพอใจ ที่ตรงข้ามกับความทุกข์ ที่เป็นความรู้สึกที่ทนได้ยาก และเป็นความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจ
ความสุขเกิดได้จากการที่ (๑) ภาพที่น่าพอใจ มาสัมผัสกับ ตา, (๒) เสียงที่น่าพอใจ มาสัมผัสกับ หู, (๓) กลิ่นที่น่าพอใจ มาสัมผัสกับ จมูก, (๔) รสที่น่าพอใจ มาสัมผัสกับ ลิ้น, (๕) วัตถุที่น่าพอใจ มาสัมผัสกับ ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อของร่างกาย, และ (๖) ความคิดหรืออารมณ์ที่น่าพอใจ มาสัมผัสกับ ใจ
สิ่งทั้ง ๖ ที่มาสัมผัสกับระบบประสาทของร่างกาย แล้วทำให้เกิดความสุขนี้ก็สรุปได้ ๓ ประเภท ที่เรียกว่า วัตถุนิยม คือ (๑) กามารมณ์ ซึ่งก็ได้แก่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่ น่ากำหนัดยินดีทั้งหลาย โดยมีจากเพศตรงข้ามเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด (๒) วัตถุ ซึ่งก็ได้แก่วัตถุสิ่งของทั้งหลาย ที่ไม่ใช่กามารมณ์ เช่น รถ บ้าน เครื่องมือต่างๆ เป็นต้น และ (๓) เกียรติ ซึ่งก็ได้แก่ เกียรติยศ ชื่อเสียง ความเด่นดัง ความมีอำนาจเหนือผู้อื่น
ความสุข เป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทั้งหลายของโลกอยากจะได้ หรืออยากจะมี ส่วนความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทั้งหลายเกลียดกลัว หรือไม่อยากจะได้ ไม่อยากจะมี แต่ความจริงของธรรมชาติอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ ความเป็นของคู่ คือเมื่อมีสว่างก็ต้องมีมืด เมื่อขาวก็ต้องมีดำ เมื่อมีเจริญก็ต้องมีเสื่อม เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย เมื่อมีได้ก็ต้องมีเสีย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีสุขก็ต้องมีทุกข์ตามมาในภายหลังทั้งสิ้น คือเมื่อมีสุขมาก ก็จะมีทุกข์มากตามมาด้วยเสมอ แต่ถ้ามีสุขน้อยก็จะมีทุกข์น้อยตามมาด้วยเหมือนกัน
ความสุขก็ยังแยกได้ ๒ ประเภท คือ สุขแท้ กับ สุขเทียม ซึ่งสุขแท้ก็คือความสุขที่ยั่งยืนและมีโทษน้อย ส่วนสุขเทียมก็คือความสุขที่ไม่ยั่งยืนและมีโทษมาก ซึ่งโทษในที่นี้ก็คือปัญหาต่างๆที่นำความทุกข์ ความเดือดร้อน และความยากลำบากมาให้แก่ผู้ที่มีความสุขนั้น
สุขเทียมก็คือความสุขจากวัตถุนิยมทั้งหลาย อย่างเช่น ความสุขจากการมีแฟน, หรือการมีเซ็กส์, ความสุขจากการเสพสิ่งเสพติด, ความสุขจากการเที่ยวเตร่เฮฮา, ความสุขจากการดูหนังฟังเพลง, ความสุขจาการเล่นเกมส์, ความสุขจากการพูดคุยเรื่องไร้สาระ, ความสุขจากการแต่งกายที่โก้หรูทันสมัย, ความสุขจากการมีเครื่องประดับราคาแพง, ความสุขจาการมีรถมอเตอร์ไซด์หรือมีมือถือที่มียี่ห้อและทันสมัย, ความสุขจากการกินอาหารที่เอร็ดอร่อย, และความสุขจากการเป็นคนเด่นหรือดังมีชื่อเสียง เป็นต้น
ความสุขที่เกิดมาจากวัตถุนิยมนี้จัดว่าเป็นสุขเทียม เพราะมันมีอยู่ไม่นานก็หมดสิ้นไป ไม่สามารถมีอยู่อย่างยั่งยืนได้ และยังมีโทษตามมามากมายในภายหลังทั้งสิ้น อย่างเช่น การมีคู่ก็นำมาซึ่งการแย่งชิง ความหึงหวง และการทะเลาะกัน ทำร้ายกัน, ส่วนการมีเซ็กส์ก็นำมาซึ่งการตั้งท้อง หรือการติดโรคเอดส์, ส่วนการเล่นเกมส์ก็ทำให้เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา เสียการเรียน เสียการงาน และเสียอนาคตได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการลักขโมยจนถูกลงโทษได้, ส่วนการเสพสิ่งเสพติดก็นำมาซึ่งความสิ้นเปลือง เสียสุขภาพ เกิดโรค และอาจส่งผลให้เกิดการลักขโมย จี้ ปล้นขึ้นมาได้, ส่วนการใช้สอยสิ่งโก้หรูทันสมัยก็ทำให้สิ้นเปลืองเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แล้วก็นำมาซึ่งความขาดแคลน แล้วก็อาจส่งผลให้เกิดการแสวงหาในทางที่ผิดจนถูกลงโทษได้, ส่วนการมีชื่อเสียงก็นำมาซึ่งความอิจฉา ความแตกแยก และศัตรู รวมทั้งการใช้จ่ายมากมายเพื่อแสวงหาและรักษาชื่อเสียงเอาไว้ เป็นต้น ยิ่งถ้าใครลุ่มหลงติดใจในความสุขเทียมนี้มากๆ ก็จะยิ่งมีปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนมาก แต่ถ้าใครติดใจลุ่มหลงในความสุขเทียมนี้น้อย ก็จะมีปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนน้อย
ส่วนความสุขแท้ก็คือความสุขที่เกิดจากการทำความดีทั้งหลาย ซึ่งความดีนั้นก็มีมากมาย อันสรุปอยู่ที่ การตั้งใจที่จะไม่ทำความชั่ว, การช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีทุกข์ให้พ้นทุกข์, การให้ทรัพย์หรือสิ่งของ, การให้อภัย, การให้ความรู้, การให้ธรรมะ, การทำจิตให้เป็นสมาธิ, การคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา, และการทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง เช่น นักเรียนก็มีหน้าที่เรียนหนังสือ, ครูอาจารย์ก็มีหน้าที่สอนหนังสือและอบรมศิษย์ให้เป็นคนดี, พ่อแม่ก็มีหน้าที่เลี้ยงลูกและอบรมลูกให้เป็นคนดี, ลูกก็มีหน้าที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่และครูอาจารย์, คนทั่วไปก็มีหน้าที่ทำงานเลี้ยงชีวิตและครอบครัว, ประชาชนก็มีหน้าที่ดูแลรักษาประเทศชาติ, ศาสนิกก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาและดูแลรักษาศาสนา, มวลมนุษย์ก็มีหน้าที่ดูแลโลกให้มีสันติภาพและดูและรักษาธรรมชาติ เป็นต้น
ความสุขแท้นี้จะเป็นความสุขที่ยั่งยืน เพราะเป็นความสุขที่เกิดมาจากการทำความดี ซึ่งความดีก็คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งตนเองและสังคม ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งความสุขแท้นี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ความสุขสงบ ก็ได้ ถ้าใครมีความสุขแท้นี้มาก เขาก็จะมีความสุขสงบอย่างยั่งยืนได้ หรือถ้าสังคมใดมีความสุขแท้นี้มาก สังคมนั้นก็จะมีความสงบร่มเย็นมาก หรือถ้ามนุษย์โลกมีความสุขแท้นี้กันมากๆ โลกก็จะมีสันติภาพได้
ปัญหาสำคัญที่ทำให้เรา สังคม และโลกเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ความติดใจในความสุขเทียม ซึ่งความติดใจก็คือ ความชื่นชอบหรือพอใจอย่างยิ่งจนขาดไม่ได้ ถ้าขาดไปก็จะรู้สึกทรมานใจหรือเป็นทุกข์ คือความสุขเทียมนั้นมันเป็นความรู้สึกที่รุนแรง เร้าร้อน หรือซู่ซ่าน่าตื่นเต้น เมื่อจิตได้รับรู้ความสุขเทียมนี้เข้าแล้วก็จะเกิดความพอใจอย่างยิ่งขึ้นมาทันที แล้วก็จะติดใจลุ่มหลงมาก และเมื่อเกิดเบื่อหน่ายความสุขเทียมชนิดเก่า หรือเมื่อความสุขเทียมหมดสิ้นไปตามธรรมชาติของมัน จิตใจก็จะรู้สึกหิวโหยหรืออยากจะเสพหรืออยากมีความสุขเทียมชนิดใหม่ๆขึ้นมาอีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น อันทำให้ต้องไปแสวงหาความสุขเทียมใหม่ๆมาเสพอีก และอยากได้ความสุขเทียมนี้มากขึ้นเรื่อยๆด้วย ซึ่งมันก็เหมือนกับการติดสิ่งเสพติด เช่น พวกบุหรี่ กัญชา เฮโรอีน หรือยาบ้า เป็นต้นนั่นเอง และเมื่อมีความอยากได้ความสุขเทียมมากขึ้น และรุนแรงขึ้น ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดการแย่งชิงวัตถุนิยมขึ้นมา อันส่งผลให้เกิดการเอารัดอัดเอาเปรียบ หรือเบียดเบียนกันในรูปแบบต่างๆขึ้นมา ทั้งในทางที่ถูกและผิด คือคนดีก็ทำอย่างถูกกฎหมาย ส่วนคนชั่วก็ทำอย่างผิดกฎหมาย แล้วสังคมก็เดือดร้อนวุ่นวาย โลกก็มีวิกฤตการณ์ ไม่มีสันติภาพ
ส่วนความสุขแท้นั้นจะเป็นความสุขที่สงบ เรียบง่าย ไม่รุนแรง ไม่ซู่ซ่า หรือเป็นความสุขใจ อิ่มใจ ที่เรียกว่าเป็นความสุขเย็น ดังนั้นคนธรรมดาทั่วไปจึงไม่ค่อยชื่นชอบหรือพอใจเท่าความสุขเทียมจากวัตถุนิยมที่รุนแรง หรือซู่ซ่ามากกว่า ซึ่งนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์และความเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้
วิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องความติดใจในความสุขเทียมก็คือ ขั้นต้นเราต้องตั้งใจพิจารณาให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ความสุขเทียมนั้นมีโทษมาก มากจนถึงขนาดที่จะทำลายชีวิตของเรา ครอบครัวของเรา สังคมและประเทศชาติของเรา รวมทั้งทำลายโลกได้ เพื่อให้เกิดความกลัวโทษของมันขึ้นมาก่อน ต่อจากนั้นก็ต้องมาพยายามลด ละ เลิก การแสวงหาและเสพความสุขเทียมนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหันมาแสวงหาความสุขแท้จากการทำความดีให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงจิตใจให้มาติดใจหรือพอใจในความสุขสงบนี้แทน ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งความอดทนและความเพียรมาช่วย ถ้าทำได้ก็จะทำให้ชีวิตได้พบกับความสุขที่แท้จริงขึ้นมาได้ จึงขอฝากให้ทุกคนเอาเรื่องความสุขนี้ไปคิด เพื่อให้เกิดปัญญาแล้วเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องกันต่อไป.
(พุทธทาส อินฺทปญฺโญ)
|