อนัตตลักขณะสูตร

จากอนัตตลักขณะสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สิ่งนั้นไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเรา” หรือสรุปสั้นๆว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" นี้ ก็มีบางคนอาศัยเหตุผลในทางตรงกันข้ามเพื่อสร้างอัตตาขึ้นมาว่า "ถ้าสิ่งใดเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ต้องเป็นอัตตา"

ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจกับคำต่างๆให้เข้าใจเสียก่อน เราจึงจะเข้าใจพระสูตรนี้

คำว่า "สิ่ง" ก็หมายถึง อะไรก็ได้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ที่ทรงยกมาแสดงในอนัตตลักขณสูตรนี้ก็คือ ขันธ์ ๕ อันได้แก่ ร่างกาย, ความรู้สึก, ความจำ, การปรุงแต่งของจิต (เช่น ความคิด ความอยาก ความยึดถือ ความซาบซึ้ง), และการรับรู้ทางระบบประสาททั้งหลาย ๖ (วิญญาณ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆก็สามารถสัมผัสได้กันจนเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตของเราทุกคนนี่เอง

ความไม่เที่ยงคืออะไร? ความไม่เที่ยงคือ ความไม่คงทนถาวร หรือไม่อยู่นิ่งเช่นเดิมได้ตลอดไป แต่จะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมีความแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) ไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว เรียกง่ายๆว่า ไม่เป็นอมตะ (อมตะแปลว่าไม่ตาย)

ความทุกข์คืออะไร? ความทุกข์คืออาการที่ต้องทน เพราะเมื่อมันไม่เที่ยง มันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นมันจึงต้องทนต่อความไม่เที่ยงนั้นอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเพ่งดูความไม่เที่ยงนั้นแล้วเราก็จะเกิดความอิดหนาระอาใจขึ้นมาทันที

อนัตตาคืออะไร? อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเป็นอัตตา (ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์) ซึ่งคำว่า อัตตา แปลว่า ตน, ตนเอง, ตัวตน ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของตนเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาปรุงแต่งมันขึ้นมา ซึ่งอัตตานี้จะมีลักษณะ เที่ยง (หรือเป็นอมตะ) เป็นสุข (ไม่เป็นทุกข์) ซึ่งนี่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่สอนว่าจิตหรือวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นอัตตา ที่ไม่มีวันดับหายไปอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายก็ตามหรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าใดก็ตาม ซึ่งอัตตานี้เองที่เขาหมายถึงตัวตนของเราทุกคน

ในความเป็นจริงที่เราทุกคนก็สามารถสัมผัสได้ก็คือ จิต หรือ วิญญาณ ของเรานี้มันไม่เที่ยง(เพราะมันมีการเกิดดับและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) และเป็นทุกข์ (ต้องทนอยู่) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า จิต หรือ วิญญาณ ของเรานี้มันไม่ใช่ตัวตนที่จะให้มายึดเอาว่าเป็นเรา เป็นของเราได้

แต่ได้มีบางคนพยายามที่จะสร้างอัตตาขึ้นมาเพื่อมายึดถือ ดัวยการจินตนาการ (คิดเพ้อฝัน) เอาเองว่ายังมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือขันธ์ทั้ง ๕ อันได้แก่ วิญญาณธาตุบ้าง เจตภูติบ้าง กายทิพย์บ้าง กายธรรมบ้าง เป็นต้น ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เที่ยง และไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อมันเที่ยงและไม่เป็นทุกข์ มันจึงเป็นอัตตา หรือเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งนี่เป็นแค่การคิดเพ้อฝันเอาเท่านั้น โดยอาศัยเหตุผลที่ว่า "เมื่อสิ่งใดเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ สิ่งนั้นจึงควรเป็นอัตตา" มาอ้างอิง ซึ่งก็ถูกถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยง และไม่เป็นทุกข์จริง แต่ที่สำคัญสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายและจิตใจของเรา โดยเราก็ต้องสามารถสัมผัสได้จริง แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งนอกร่างกายและจิตใจของเรา สิ่งนั้นก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนของเราไม่ได้อยู่นั่นเอง และที่สำคัญสิ่งที่เขาเพ้อฝันว่าเป็นอัตตานี้ เป็นสิ่งที่เราคนธรรมดาไม่สามารถที่จะพิสูจน์ให้เห็นแจ้งได้ ซึ่งผู้ที่เพ้อฝันนี้ก็ต้องอาศัยการอวดอ้างว่าตนเองเป็นผู้ที่วิเศษเหนือผู้คนธรรมดา เพราะมีสมาธิขั้นสูง หรือมีบุญบารมีมาก หรือมีฤทธิ์มีเดชมีอิทธิปาฏิหาริย์ หรือถอดจิตได้ หรือหมดกิเลสแล้ว หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เป็นต้น จึงสามารถค้นพบสิ่งที่เป็นอัตตานี้ได้ และแน่นอนว่าคนที่มีปัญญาเขาก็จะไม่สนใจในเรื่องการโอ้อวดนี้ เพราะเขาเข้าใจดีว่านี่คือการคิดเพ้อฝันขึ้นมาเองของคนเขลาที่มีจิตไม่ซื่อตรง ที่อยากมีอัตตาและอยากมีชื่อเสียงหรืออยากมีลาภสักการะ(ด้วยความโลภ)

ส่วนคนที่มีปัญญาน้อยก็ย่อมที่จะขาดสติปัญญาในการพิจารณา ดังนั้นคนที่มีปัญญาน้อยบางคนจึงเชื่อเรื่องที่เพ้อฝันขึ้นมานี้โดยง่ายและเมื่อมีอัตตาตามความเพ้อฝันของเขาแล้ว เขาก็จำเป็นที่จะต้องสร้างสภาวะหรือสถานที่ขึ้นมาเพื่อมารองรับอัตตานี้ ซึ่งสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมารองรับอัตตานี้ก็คือ "นิพพาน" โดยเขาก็จะคิดเพ้อฝัน (ตามความอยากธรรมดาๆของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส) ไปอีกว่า นิพพานจะต้องเป็นเหมือนบ้านเมืองที่มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ใดๆอยู่ชั่วนิรันดร ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่มีใครจะสามารถพิสูจน์หรือสัมผัสได้ จะมีก็แต่ผู้ที่โอ้อวดว่าตนเป็นผู้วิเศษเท่านั้นที่บอกว่าตนเองเคยไปสัมผัสเมืองนิพพานนี้มาแล้ว และก็เป็นธรรมดาที่คนมีปัญญาเขาก็ไม่เชื่อ จะมีก็แต่คนด้อยปัญญาเท่านั้นที่เชื่อ

ส่วนในทางพุทธศาสนาจะสอนว่า อัตตานั้นไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงความคิดเพ้อฝันกันไปเอง เพราะจากความจริงของร่างกายและจิตใจของเรา(ขันธ์ ๕)นี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ดังนั้นมันจึงเป็นอนัตตา แต่บางคนก็เข้าใจว่านิพพานหมายถึง การตายแล้วตัวตน (อัตตา) จะไม่กลับมาเกิดให้เป็นทุกข์อีกอย่างถาวร แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าสภาพของนิพพานนั้นเป็นอย่างไร (คือยังเชื่อว่ามีนิพพาน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร) แต่บางคนก็เข้าใจว่านิพพานก็คือการตายแล้วตัวตน(อัตตา)ของเราจะดับสูญหรือหายไปเลย ไม่มีการกลับมาเกิดใหม่ได้อีกต่อไปตลอดกาล

ส่วนนิพพานที่เราทุกคนก็สามารถสัมผัสได้ก็คือ ความสงบเย็นขณะที่จิตของเราไม่มีทุกข์ ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนก็สามารถสัมผัสได้โดยไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษอะไรเลย คือเพียงเราอาศัยจิตที่มีสมาธิมาละหรือปล่อยวางความยึดถือว่ามีตัวตนของเราเสีย โดยมีปัญญาหรือความรอบรู้ว่า "แท้จริงมันไม่มีเราอยู่จริง" นี้มาควบคุม เท่านี้นิพพานก็ปรากฏให้เราได้สัมผัสแล้ว

นิพพานนี้แม้จะเป็นสิ่งที่เที่ยง (เพราะมันสามารถที่จะปรากฏแก่จิตของเราได้อย่างถาวรตราบเท่าที่จะมีจิตอยู่) และไม่เป็นทุกข์ (เพราะไม่ต้องทนต่อความไม่เที่ยง) แต่มันก็ยังเป็นอนัตตา (เพราะมันเป็นแค่ความรู้สึกที่สงบเย็นเท่านั้น) คือจิตของเรานี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เมื่อจิตนิพพาน ก็คือความเป็นทุกข์หรือความต้องทนของจิตนี้มันได้ลดน้อยลงมาก (เพราะจิตเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ดังนั้นมันจึงมีลักษณะของทุกข์อยู่ด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อย) จนไม่มีปัญหา หรือจิตแทบไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ดังนั้นถึงแม้จิตจะนิพพาน มันก็ไม่ได้ทำให้จิตที่นิพพานนี้เปลี่ยนมาเป็นอัตตาได้เลย

สรุปได้ว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" ซึ่งขันธ์ ๕ ของเรา (คือร่างกายและจิตใจ)ก็ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ดังนั้นมันจึงเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) และแม้จิตจะนิพพาน (สงบเย็นอย่างถาวร คือเที่ยงและไม่เป็นทุกข์) จิตมันก็ยังคงเป็นอนัตตาอยู่วันยังค่ำ ไม่มีทางจะเป็นอัตตาไปได้เลย ส่วนการที่ใครๆจะมาคิดเพ้อฝันว่ามีวิญญาณธาตุบ้าง กายทิพย์บ้าง กายธรรมบ้างว่าเป็นอัตตาที่อาศัยอยู่ในขันธ์ ๕ (หรือมาปรุงแต่งให้เกิดจิตหรือวิญญาณขึ้นมาก็ตาม) ก็เป็นแค่ความคิดเพ้อฝันที่พิสูจน์ให้เห็นความจริงไม่ได้ รวมทั้งยังคิดเพ้อฝันต่อไปอีกว่านิพพานเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดรนี้ก็เหมือนกัน คือพิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้ และช่วยดับทุกข์ไม่ได้ จะมีก็แต่คนที่มีใจคิดไม่ซื่อเท่านั้นที่อวดอ้างว่าตนเองปฏิบัติจนพบอัตตาและนิพพานที่เพ้อฝันนั้นแล้ว และก็มีแต่คนปัญญาน้อยบางคนเท่านั้นที่เชื่อ ส่วนผู้ที่มีปัญญาจริงๆนั้นเขาจะไม่เชื่อและไม่สนใจเรื่องเพ้อฝันเหล่านี้.

เตชปญฺโญ ภิกขุ ๒๘ ส.ค. ๒๕๕๒
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)