วิทยาศาสตร์คืออะไร?

วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่ได้จากการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ซึ่งวิธีการของวิทยาศาสตร์นี้ จะทำให้ค้นพบความจริงของธรรมชาติได้อย่างถูกต้องแน่นอนที่สุด รวมทั้งยังทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติบางอย่างได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยวิทยาศาสตร์นี่เองที่ทำให้มนุษย์มีความเจริญทางวัตถุอย่างยิ่งในปัจจุบัน รวมทั้งวิทยาศาสตร์ก็ทำให้มนุษย์หายโง่จากเรื่องบางเรื่องที่มนุษย์ไม่รู้ และนี่เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่ชาวโลกในยุคปัจจุบันยอมรับที่สุด

วิทยาศาสตร์จะมีหลักการศึกษาหรือหัวใจโดยสรุปอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. ศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการศึกษาที่มีระเบียบแบบแผนและขั้นตอนที่แน่ชัด โดยจะมีการเริ่มต้นศึกษาจากพื้นฐานที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วค่อยๆแตกกิ่งก้านสาขาขยายออกไปอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งการทำเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดการเชื่อโยงกันของการศึกษานั้น ซึ่งทำให้สามารถจำแนกเป็นหมวดหมู่ได้อย่างมีระเบียบ อันจะส่งผลทำให้มองเห็นภาพรวมของระบบทั้งหมดได้โดยง่าย และยังทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งยังจำได้ง่ายอีกด้วย อีกทั้งก็ยังมีลำดับขั้นในการศึกษาและปฏิบัติ โดยจะมีการศึกษาและปฏิบัติไปตามลำดับโดยไม่ข้ามขั้นตอน ซึ่งก็จะทำให้ได้รับผลที่ต้องการรู้อย่างละเอียดและชัดเจนในทุกแง่มุม

๒. ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง คือการศึกษาจากของจริง โดยไม่ใช้การคาดคะเนหรือคิดเดาเอา ซึ่งของจริงนี้ก็คือธรรมชาติที่เราคนปกติธรรมดาสามารถที่จะรับรู้ หรือสัมผัสได้ด้วยระบบประสาททั้งหลายของร่างกายเรานี่เอง ซึ่งการศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริงนี้จะทำให้ผู้ศึกษาเกิดความรู้ ตลอดจนความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนโดยไม่ผิดพลาด เพราะมีของจริงมาเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งการศึกษาจากของจริงนี้แม้จะดูว่าง่ายๆธรรมดาๆ แต่ว่าจะทำให้ผู้ศึกษาค่อยๆเกิดความรู้แจ้งหรือเห็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ จนสามารถทำให้ผู้ศึกษานั้นกลายเป็นนักปราชญ์หรืออัจฉริยะขึ้นมาได้

๓. ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล โดยเหตุผลก็คือการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติที่มันผลักดันกันให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมา ซึ่งเหตุผลที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติได้ดีที่สุดจะเรียกว่าเป็น “เหตุผลที่สมเหตุสมผล” ส่วนเหตุผลลอยๆหรือเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลเพราะไม่มีหลักการรองรับนั้นไม่จัดว่าเป็นเหตุผล แต่เรียกว่าเป็น “การคาดเดา” ส่วนเหตุผลที่มีหลักการรองรับจะเรียกว่าเป็น “สมมติฐาน” ที่รอการพิสูจนให้เห็นจริงก่อน ซึ่งความจริงนั่นเองที่เป็นเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่สุด หรือจะเรียกความจริงว่า “เหนือเหตุเหนือผล” ก็ได้ เพราะเหตุผลยังเป็นเพียงความเข้าใจที่เกิดจากการคิดพิจารณาเท่านั้น ส่วนความจริงนั้นเป็นการได้รับรู้หรือสัมผัสจริงๆ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ให้รู้ว่าเหตุผลนั้นมันถูกต้องตามที่เป็นอยู่จริงของธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งในการศึกษาโดยใช้เหตุผลนี้ บางครั้งวิทยาศาสตร์ก็ใช้วิธีศึกษาจากเหตุโยงไปหาผลที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่อๆกันไปเหมือนโดมิโน จนพบผลสุดท้ายที่ต้องการค้นหา แต่บางครั้งก็ใช้วิธีศึกษาจากผลที่เกิดขึ้น แล้วโยงกลับย้อนขึ้นไปหาต้นเหตุของมัน จนพบต้นเหตุของมัน ซึ่งในการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์ก็ใช้การแก้ที่ต้นเหตุของมัน โดยการกำจัดหรือทำลายต้นเหตุของมันเสีย เมื่อต้นเหตุของมันไม่มี ผลของมันก็ย่อมที่จะไม่มีตามไปด้วย แต่บางครั้งถ้าแก้ที่ต้นเหตุของมันไม่ได้ ก็มาแก้ที่ปัจจัย (สิ่งสนับสนุน หรือเหตุย่อยๆ) ของมัน โดยการกำจัดหรือทำลายปัจจัยของมันเสีย เมื่อไม่มีปัจจัย แม้จะยังมีต้นเหตุอยู่ก็ตาม ก็ทำให้ผลของมันไม่สมบูรณ์หรือไม่เกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน

๔. เชื่อจากการที่ได้พิสูจน์แล้ว คือวิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อจากการบอกต่อๆกันมา, จากการทำตามๆกันมา, จากคำเล่าลือ, จากตำรา, จากเหตุผลตรงๆ (ตรรกะ), จากเหตุผลแวดล้อม (นัยยะ), จากสามัญสำนึกของเราเอง, จากการที่มีคนเขามาพูดตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อน, จากการที่เห็นว่าบุคคลที่สอนนั้นดูน่าเชื่อถือ, และแม้จากการที่บุคคลที่สอนนั้นเป็นครูอาจารย์ของเราเองก็ตาม ซึ่งเมื่อวิทยาศาสตร์จะเชื่อสิ่งใด วิทยาศาสตร์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงเสียก่อน ซึ่งการพิสูจน์นั้นจะต้องมีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายๆด้านหรือหลายๆตัวแปรหรือหลายๆวิธีการ จนได้ผลอย่างแน่ชัดโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ จึงจะเชื่อและตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมา ซึ่งในการพิสูจน์นั้น วิทยาศาสตร์จะใช้วิธีการตั้งสมมติฐานขึ้นมาก่อน แล้วมีการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้น ถ้าทดลองแล้วไม่ตรงกับสมมติฐาน ก็ตั้งใหม่ แล้วทดลองใหม่เรื่อยไปจนกว่าจะได้ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือถ้าทดลองแล้วก็ยังไม่ตรงกับสมมติฐานใดๆ ก็ต้องทิ้งเป็นคำถามเอาไว้ให้ทดลองกันใหม่

ธรรมชาตินั้นจะแยกได้ ๒ อย่าง คือ วัตถุ และ ไม่ใช่วัตถุ ซึ่งวัตถุก็คือสิ่งที่ระบบประสาทของตา หู จมูก ลิ้น และกายของเราสามารถรับรู้หรือสัมผัสได้ เช่น พวกสสาร พลังงาน รังสี ความกดดัน อุณหภูมิ เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุนั้นก็คือสิ่งที่ไม่มีลักษณะอย่างวัตถุ ที่เรียกว่า “นามธรรม” หรือธรรมชาติที่มีแต่ชื่อเรียก ซึ่งก็ได้แก่พวกจิตใจของสิ่งที่มีชีวิต อันได้แก่ การรับรู้, ความรู้สึก, ความจำ, และการปรุงแต่งคิดนึกของจิต ซึ่งธรรมชาติต่างๆเหล่านี้จะมีกฎของมันมาควบคุมอยู่ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงแยกได้ ๒ อย่าง คือวิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุ กับ วิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ

ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุของโลกนั้นมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เพราะมนุษย์ได้ค้นพบความจริงที่ละเอียดและลึกซึ้งของวัตถุได้อย่างมากมาย และนำเอาสิ่งที่ค้นพบนั้นมาประยุติให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆได้อย่างมากมาย ทั้งในด้านที่สร้างสรรค์และในด้านที่ทำลาย ซึ่งแม้การทำลายล้างโลกก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายเพราะความเจริญทางวัตถุที่มีมากเกินไป ส่วนวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจกลับตามไม่ทันวิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุ คือมนุษย์ยังไม่สนใจค้นคว้าหาความจริงในเรื่องจิตของตนเองให้มากพอ ดังนั้นมนุษย์จึงยังคงมีจิตที่โง่เขลาเพราะไม่ได้พัฒนาจิตให้เจริญขึ้นมาเป็นจิตที่ชาญฉลาดหรือมีสติปัญญาเพียงพอที่จะควบคุมวัตถุที่เจริญแล้วได้ หรือเรียกง่ายๆว่าปัจจุบันมนุษย์มีจิตที่ตกเป็นทาสของวัตถุ หรือเรียกได้ว่าวัตถุได้ครอบงำมนุษย์เอาไว้อย่างมิดชิด แล้วก็ทำให้มนุษย์มืดบอดหรือไม่มีดวงตาเห็นแจ้งถึงความจริงของชีวิต และของธรรมชาติที่ควรรู้ได้

มนุษย์ได้รับประโยชน์อะไรจากวิทยาศาสตร์บ้าง? ในด้านร่างกาย มนุษย์ได้รับความสบาย (ไม่ลำบาก) ในการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต เพราะมีเครื่องมือมากมายที่สะดวกและเบาแรงมาช่วย แม้โรคต่างๆของร่างกายบางอย่างก็อาศัยวิทยาศาสตร์มากำจัดให้หายไปได้ รวมทั้งยังช่วยให้มนุษย์บางคนมีอายุยืนยาวขึ้นอีกด้วย ส่วนในด้านจิตใจ มนุษย์ก็ได้รับความสุขที่ประณีตและรุนแรงอย่างมากจากวัตถุที่สร้างสรรค์ขึ้น

วิทยาศาสตร์ให้โทษอะไรกับมนุษย์บ้าง? ในด้านร่างกาย มนุษย์มีร่างกายที่อ่อนแอลงเพราะไม่ได้ใช้แรงกายในการทำงานเหมือนกับมนุษย์ในยุคที่ยังไม่มีความเจริญทางด้านวัตถุ เมื่อร่างกายอ่อนแอ ร่างกายก็มีภูมิคุ้มกันโรคลดน้อยลง จึงทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆขึ้นได้ง่าย อีกทั้งการเสพวัตถุมากๆก็ย่อมทำให้ได้รับสารพิษจากวัตถุเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น แล้วก็ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยมากขึ้น แม้มลพิษต่างๆที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการทิ้งกากของเสียจากวัตถุ ก็ย้อนกลับมาทำให้ร่างกายมนุษย์นั้นอ่อนแอลงและเกิดโรคร้ายต่างๆเพิ่มขึ้นอีก อันส่งผลให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีอายุขัยลดน้อยลง อีกทั้งการผลิตอาวุธต่างๆก็ยังทำให้การเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งของประเทศชาติอื่นก็ทำได้มากและกว้างขวางขึ้นด้วย แม้การทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ก็ทำได้มากและรุนแรงรวมทั้งรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย อันส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่อมวลมนุษยชาติได้อย่างมหันต์ แล้วก็ทำให้โลกมีแต่วิกฤติการณ์จนหาสันติภาพไม่ได้ และแม้โลกก็จะพินาศได้โดยง่ายเมื่อวิทยาศาสตร์ทางวัตถุเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งโดยไม่มีความเจริญทางด้านจิตใจมาควบคุม

ส่วนโทษทางด้านจิตใจนั้น มนุษย์ก็จะมีแต่ความเครียด หรือความหนักเหนื่อยใจอยู่เสมอๆ เพราะต้องเร่งร้อนในการแสวงหาวัตถุกาม (สิ่งอันเป็นที่ตั้งของความใคร่โดยเน้นไปที่เรื่องเพศตรงข้าม) , วัตถุสิ่งของ (เครื่องใช้ต่างๆหรือทรัพย์สินเงินทอง), และชื่อเสียงเกียรติยศหรือความเด่นดังที่อยากจะได้ แต่เมื่อได้มาแล้วก็ยังต้องหวาดกลัวหรือวิตกกังวลอยู่เสมอว่าจะถูกแย่งชิงสิ่งเหล่านี้ไป และเมื่อสิ่งที่ครอบครองอยู่นั้นต้องพลัดพรากจากไป ก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างรุนแรงขึ้นมาทันที ซึ่งโทษเหล่านี้ก็เกิดมาจากการที่จิตของมนุษย์นั้น ลุ่มหลงในความสุขจากวัตถุที่ประณีตทั้งหลาย ที่มนุษย์สรรสร้างขึ้นมาโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ที่เจริญอย่างยิ่งนี่เอง

วิทยาศาสตร์นั้นเปรียบเสมือดาบสองคม คือถ้าไม่รู้จักใช้ มันก็ให้โทษ แต่ถ้ารู้จักใช้ มันก็ให้ประโยชน์ โดยประโยชน์สูงสุดจากวิทยาศาสตร์นั้นก็คือ เราสามารถนำเอาหลักวิทยาศาสตร์นี้มาศึกษาชีวิต ให้เกิดความเห็นแจ้งชีวิตได้ เมื่อเราเห็นแจ้งชีวิต เราก็จะรู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง (คือไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน) ได้ และที่สำคัญเราก็ย่อมที่จะรู้ว่าความทุกข์ของจิตใจเรานี้มันคืออะไร?, มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เมื่อทุกข์ดับลงแล้วเป็นอย่างไร? และรู้ว่าจะดับมันได้โดยวิธีใด? ซึ่งเรื่องความทุกข์ของจิตใจนี้จัดว่าเป็นปัญหาใหญ่หรือสำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคน ถ้าเราจะสามารถทำให้ชีวิตไม่มีทุกข์ทางจิตใจได้เลยตลอดชีวิต ก็นับว่าชีวิตได้รับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิตแล้ว

จึงขอฝากให้ทุกท่านนำเอาเรื่องวิทยาศาสตร์นี้ไปคิด เพื่อที่จะได้รู้จักประโยชน์และโทษของวิทยาศาสตร์ในแง่มุมต่างๆอย่างถูกต้อง แล้วรู้จักละเว้นหรือไม่สร้างให้เกิดโทษภัยขึ้นมาสู่ตัวเอง แต่รู้จักนำวิทยาศาสตร์มาใช้เกิดประโยชน์ ทั้งแก่ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งแก่สังคม คือทั้งในการสร้างสันติสุขให้แก่ส่วนตัว และสร้างสันติภาพให้แก่โลกกันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ ๑๒ ก.ค. ๒๕๕๒
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)