วิธีอบรมเด็กตามหลักพุทธศาสนา ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมอยากได้ความสุข ซึ่งปัจจุบันเรามักจะเข้าใจกันว่าทรัพย์คือสิ่งที่จะนำความสุขมาให้ ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะแสวงหาทรัพย์ให้ได้มากที่สุดและแม้การเลี้ยงลูก เราก็จะพยายามเน้นที่จะอบรมหรือฝึกฝนให้ลูกเป็นคนที่หาเงินได้เก่ง โดยพยายามให้การศึกษาและการฝึกฝนอาชีพให้ได้เก่งกว่าใครๆ ซึ่งการคิดเช่นนี้ก็จะทำให้เราได้คนเก่งแต่ว่าขาดคุณธรรม ซึ่งเด็กที่เก่งโดยไม่มีคุณธรรมนั้นจะเป็นคนเห็นแก่ตัว คือทำอะไรๆก็เพื่อตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงคนอื่น ซึ่งความเห็นแก่ตัวนี้ก็จะทำให้เกิดความโลภ คืออยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง แล้วการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นทั้งอาจจะในทางที่ถูกและผิดก็จะตามมา อันจะทำให้ทั้งตัวเองก็เดือดร้อนและสังคมก็วุ่นวายอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน ตามหลักพุทธศาสนาแล้วการอบรมเด็กให้มีคุณธรรมจะเป็นเรื่องสำคัญกว่าการอบรมให้เด็กเก่ง คือถึงแม้จะมีการสอนเรื่องการศึกษาและอาชีพ แต่ก็มีเรื่องคุณธรรมสอนแทรกอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งคุณธรรมนี้จะช่วยให้เด็กเป็นคนดีและมีปัญญา (ปัญญาในที่นี้หมายถึงความเห็นแจ้งในชีวิต) ที่สำคัญเด็กที่มีคุณธรรมจะไม่เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ตัวน้อย เมื่อเห็นแก่ตัวน้อยก็จะเห็นแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งคุณธรรมนี้จะนำสันติสุขมาให้สังคมและนำสันติภาพมาให้โลกได้อย่างแน่นอน ถ้าโลกขาดคุณธรรมโลกก็จะพินาศ ซึ่งคุณธรรมที่จะใช้อบรมเด็กนั้นตามหลักพุทธศาสนาจะสรุปไว้ ๑๐ ประการ อันได้แก่ (๑) เสียสละเพื่อผู้อื่น ซึ่งการเสียสละนี้ก็คือการรู้จักให้ หรือยอม (ให้อภัย) หรือแบ่งปัน หรือการสละสิ่งที่เกินออกไปจากตัวเรา คือตามธรรมชาติของคนเรานี้จะเห็นแก่ตัวและความเห็นแก่ตัวนี้ก็จะทำให้เกิดความโลภหรืออยากได้สิ่งที่น่าพอใจ (อันได้แก่ สิ่งที่น่ารักน่าใคร่หรือเรื่องทางเพศ, วัตถุ, เกียรติยศชื่อเสียง) อันจะนำไปสู่การแสวงหา แย่งชิง และหวงแหนสิ่งเหล่านี้ แล้วความเดือดร้อนวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากการแตกความสามัคคี จากอาชญากรรมต่างๆ จากสงคราม จากมลพิษ และจากภัยธรรมชาติ การฝึกให้รู้จักให้หรือเสียสละเพื่อผู้อื่น ก็เท่ากับเป็นการลดความเดือดร้อนวุ่นวายที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตด้วย โลกจะลุกเป็นไฟถ้าเราไม่รู้จักให้ (๒) มีศีล ซึ่งการมีศีลก็คือการระวังรักษากายและวาจาของเราให้เรียบร้อยงดงาม โดยในทางปฏิบัติ ศีลก็คือการไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม รวมทั้งการงดเว้นการพูดที่ไม่เหมาะสม อันได้แก่การพูดโกหก การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ ถ้าใครมีศีลก็จะเป็นคนที่สงบและปกติ ถ้าสังคมมีศีล สังคมก็จะสงบสุขและมั่นคง ศีลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งถ้าต้องการให้สังคมสงบสุข (๓) ไม่ลุ่มหลงในกามารมณ์ ซึ่งกามารมณ์นี้ก็คือเรื่องความรัก ความใคร่ หรือความพึงพอใจอย่างยิ่งในสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย (คือจากภาพที่สวยงาม เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมหวน รสที่เอร็ดอร่อย และสัมผัสที่น่าพอใจทางกาย) โดยมีจากเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสูงสุด โดยใครที่ติดใจลุ่มหลงอยู่ในกามารมณ์นี้ก็จะทำให้จิตใจของเขามืดบอด หรือมองไม่เห็นโทษภัยจากกามารมณ์ว่ามันมีโทษภัยตามมามากมายเพียงใด อย่างเช่น โรคติดต่อทางเพศที่ร่ายแรง เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น, ความเหนื่อยยากในการแสวงหา, ภาระที่เพิ่มขึ้น, ความวิตกกังวลเพราะกลัวว่าจะต้องสูญเสียไป, ความทุกข์ตรมเมื่อต้องสูญเสียไป, การฆ่ากันทำร้ายกัน, และการถูกลงโทษเมื่อกามารมณ์ผลักดันให้ต้องทำผิด เป็นต้น ดังนั้นการฝึกให้เอาชนะหรืออยู่เหนือกามารมณ์นี้ได้ ก็เท่ากับเป็นการเอาชนะหรืออยู่เหนือปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ได้ แล้วก็จะหลุดพ้นหรือมีอิสระที่จะเดินไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นและสูงขึ้นต่อไปได้ (๔) มีปัญญา ซึ่งปัญญานี้ก็หมายถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ โดยสิ่งที่ควรรู้สูงสุดก็คือ รู้แจ้งชีวิต หรือเห็นแจ้งชีวิต (ส่วนความรู้อื่นๆ เช่น วิชาการต่างๆ อาชีพต่างๆ หรือความรู้เรื่องระบบต่างๆของร่างกาย หรือความรู้เรื่องธรรมชาติรอบๆตัว เป็นต้นนี้ จัดว่าเป็นความรู้รองๆลงมา ซึ่งตามปกติชาวโลกก็สอนกันอยู่แล้ว) ซึ่งปัญญานี้จะมีพื้นฐานมาจากการใช้เหตุผลในการศึกษาธรรมชาติที่เราสามารถสัมผัสได้จริง และเชื่อในสิ่งที่เราได้พิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น โดยสิ่งที่ศึกษาก็คือร่างกายและจิตใจของเราเองและธรรมชาติรอบๆตัวที่ควรรู้ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นคนฉลาดรอบรู้ มีเหตุมีผล ไม่โง่งมงาย สามารถดำเนินชีวิตให้ถูกต้องจนบรรลุถึงสิ่งสูงสุด (ความไม่มีทุกข์) ของชีวิตได้ ผู้ไร้ปัญญาย่อมมืดบอดและดำเนินชีวิตผิดพลาด จนทำให้ทั้งตัวเองและโลกพินาศได้ (๕) มีความอดทน ซึ่งความอดทนนี้หมายถึง การกระทำสิ่งที่สมควรกระทำ และไม่กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ซึ่งที่สมควรกระทำนั้นก็คือสิ่งที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างเช่น การเรียน การทำงาน การช่วยเหลือผู้อื่น และการอบรมปัญญา-สมาธิ เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ไม่สมควรทำนั้นก็คือสิ่งที่ทำไปแล้วจะทำให้เกิดปัญหาหรือเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งความอดทนนี้ก็มีทั้งความอดทนต่อสิ่งที่มายั่วให้โกรธหรือไม่พอใจ และอดทนต่อสิ่งที่มายั่วให้รักหรือพอใจ อย่างเช่น อดทนต่อคำด่า หรืออดทนต่อความร้อน ความหนาว และความเหนื่อยยาก เป็นต้น ที่มายั่วให้โกรธหรืออยากทำลาย และอดทนต่อความสนุกสนานเฮฮา ต่อความสวยงามน่ารักใคร่ ต่อความเอร็ดอร่อย ต่อความสุขสบาย ที่มายั่วให้รักหรืออยากได้ เป็นต้น ซึ่งความอดทนสูงสุดก็คือ อดทนต่อสิ่งที่มายั่วให้รักหรืออยากได้ที่จะนำปัญหามาให้ในภายหลัง ความอดทนจึงเป็นเครื่องกำจัดนิสัยเลวร้ายของจิตใจมนุษย์ที่ดีที่สุด (๖) มีความพากเพียร ซึ่งความเพียรก็คือความขยันหรือความพยายามอดทนทำอย่างต่อเนื่อง คือการที่เราจะทำสิ่งใดให้บรรลุถึงเป้าหมายได้ เราต้องมีความเพียรมาช่วยจึงจะสำเร็จ ถ้าขาดความเพียรจะไม่มีทางสำเร็จ อย่างเช่น เด็กที่มีความพากเพียรในการเรียนก็จะเรียนจบและมีความรู้มาก หรือผู้ที่จะฝึกฝนสิ่งใดก็ต้องขยันฝึกอยู่เสมอๆไม่ละทิ้ง ก็ย่อมที่จะประสบผลสำเร็จได้ เป็นต้น ซึ่งความเพียรนี้เรียกอีกอย่างว่าเป็น ความกล้าหาญ เพราะไม่เกลงกลัวปัญหาที่ขวางหน้า แม้ปัญหานั้นจะใหญ่โตสักเพียงใดก็ตามก็สามารถเอาชนะปัญหานั้นได้โดยใช้ความเพียร ส่วนศัตรูของความเพียรก็คือความเกียจคร้าน (ความไม่อดทนต่อความยากลำบาก) คือแม้จะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ถ้าเกียจคร้านก็เอาชนะปัญหานั้นไม่ได้ (๗) มีความจริงใจ ซึ่งความจริงใจนี้ก็คือความซื่อสัตย์ ซึ่งก็มีทั้งซื่อสัตย์ต่อตนเอง คือเป็นคนไม่เหลาะแหละโลเล และซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น คือเมื่อรับปากว่าจะทำสิ่งใดแล้วก็จะทำตามนั้นไม่บิดพลิ้วอย่างเด็ดขาด ซึ่งคนที่มีความจริงใจเท่านั้นจึงจะได้พบกับความจริงสูงสุด (คือเห็นแจ้งชีวิต) รวมทั้งเป็นที่รักและเคารพของคนที่รู้จัก ส่วนคนที่ไม่มีความจริงใจก็จะไม่พบความจริงสูงสูดและไม่มีใครรักเคารพ (๘) มีความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงนี้ก็คือความตั้งใจมั่นไม่เปลี่ยนแปลง คือเมื่อเราตั้งใจที่จะทำสิ่งใดที่มองเห็นแล้วว่าสามารถทำได้แล้วก็จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จจนได้ แม้จะต้องประสบกับอุปสรรค์หรือปัญหาอย่างยิ่งก็ตาม โดยการที่เราทำสิ่งใดอย่างต่อเนื่องและมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้จิตเกิดพลังหรือสมาธิขึ้นมาได้ ซึ่งความมั่นคงนี้ก็คือจุดสูงสุดของความอดทน ความเพียร และความจริงใจ คือเราต้องทำด้วยความซื่อสัตย์หรือจริงใจอย่างอดทนและอย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จ จึงจะกลายเป็นความมั่นคงได้ (๙) มีความเป็นมิตร ซึ่งความเป็นมิตรนี้ก็คือความไม่เป็นศัตรูกับใครๆ หรือไม่โกรธเกลียดใครๆ เมื่อไม่มีความโกรธเกลียดใครๆเราก็จะรักทุกคนอย่างเสมอหน้า แม้คนที่เรารักนั้นจะโกรธเกลียดเราก็ตาม และเมื่อมีความรักก็ย่อมที่จะมีความคิดที่จะช่วยเหลือทุกคนที่กำลังประสบกับความทุกข์ หรือความเดือดร้อนอยู่ให้หลุดพ้นจากความทุกข์และความเดือดร้อนเท่าที่จะสามารถทำได้ อีกทั้งเมื่อเราไม่เป็นศัตรูกับใครๆ แม้ศัตรูก็ยังเคารพและจะกลายมาเป็นมิตรได้ ความเป็นมิตรนี้เองที่จะทำให้โลกมีสันติภาพได้ ส่วนการเป็นศัตรูกันหรือเอาชนะกัน ก็มีแต่จะสร้างวิกฤติและทำลายโลกได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำลายมิตรภาพก็คือความเห็นแก่ตัว และมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น การฝึกให้เกิดมิตรภาพก็คือการฝึกให้เป็นคนไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง (๑๐) มีความใจเย็น ซึ่งความใจเย็นนี้ก็คือความที่มีใจสงบนิ่ง และเพ่งมองโลกด้วยใจอันสงบ ไม่มีความยินดี-ยินร้ายใดๆ เมื่อต้องประสบกับปัญหาก็จะแก้ไขด้วยความใจเย็น ไม่รีบร้อนและเฉื่อยชา เมื่อต้องตัดสินใจ ก็จะตัดสินใจด้วยความยุติธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างใครด้วยความรักหรือเกลียดก็ตาม ซึ่งผู้ที่มีความใจเย็นนี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือมาก เหมาะที่จะเป็นผู้นำของสังคม การฝึกให้มีความใจเย็นนี้ก็ทำได้โดยการฝึกให้มีสมาธิมากๆควบคู่กับการฝึกให้มีคุณธรรมอื่นๆด้วย โดยความใจเย็นนี้จะเป็นสุดยอดของคุณธรรม คือเมื่อเรามีคุณธรรมอื่นๆพร้อมแล้วก็จะส่งเสริมให้เกิดความใจเย็นขึ้นมาโดยง่าย คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดว่าเป็นความดีสากล คือเป็นสิ่งดีงามที่มนุษย์ทุกคนยอมรับและใครๆก็ปฏิบัติได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางสู่สันติภาพของโลกอีกด้วย ถ้าโลกขาดคุณธรรมเหล่านี้ โลกก็จะมีแต่วิกฤติการณ์และจะพินาศ การสร้างโลกให้มีสันติภาพก็ต้องเริ่มจากการสร้างเด็กให้มีคุณธรรมหรือศีลธรรม จึงขอฝากให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้มาช่วยกันสร้างเด็กของเราให้เป็นผู้มีคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้เพียงพอ เพื่อสันติภาพอันยั่งยืนของโลกกันต่อไป. เตชปญฺโญ ภิกขุ
|