พระพุทธเจ้าคือใคร? คำว่า พุทธะ แปลว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ซึ่งรู้ก็คือความรู้แจ้งในชีวิต ในโลก ตื่นก็คือตื่นจากความไม่รู้ เบิกบานก็คือเมื่อตื่นแล้วก็จะสดชื่นเบิกบานหรือไม่มีทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็คือผู้ที่ค้นพบวิธีการดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ได้อย่างสิ้นเชิง (หรือถาวร คือจะไม่กลับมาเกิดความทุกข์ใจอีกต่อไปจนตลอดชีวิตอย่างแน่นอน) ซึ่งการที่ใครสักคนจะค้นพบวิธีการดับทุกข์เช่นนี้ได้นั้น เขาจะต้องเป็นผู้ที่มีมันสมองอันปราดเปรื่อง หรือมีปัญญาอย่างมาก รวมทั้งยังต้องมีคุณสมบัติที่ดีงามอย่างสมบูรณ์ อันได้แก่ เสียสละ มีจิตที่ปกติ ไม่ลุ่มหลงกามารมณ์ อดทน จริงใจ มั่นคง มีใจเป็นกลาง ไม่ยึดติด และเป็นมิตรกับทุกคนอย่างเสมอหน้า ซึ่งบุคคลเช่นนี้นับว่าหาได้ยากยิ่งในสังคมมนุษย์ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ก็จะเห็นแก่ตัว ไม่มีปัญญา มีจิตที่ไม่ปกติ ลุ่มหลงกามารมณ์ ไม่อดทน ขาดความจริงใจ ไม่มั่นคง มีความลำเอียง ยึดติด และเป็นมิตรเฉพาะกับคนที่รักเท่านั้น นี่เองจึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ หรือแม้เป็นสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้
พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่ค้นพบวิธีการดับทุกข์อย่างถูกต้องเป็นบุคคลแรกของโลก และเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวเรื่องกับการดับทุกข์มากที่สุด รวมทั้งได้ทรงนำสิ่งที่ค้นพบนี้มาสอนแก่บุคคลที่สนใจจะศึกษาวิธีการดับทุกข์ ซึ่งการค้นพบของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า การตรัสรู้ ส่วนผู้ที่ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ จนเกิดความเข้าใจในคำสอนแล้วเกิดความเชื่อถือในตัวพระพุทธองค์และในคำสอนของพระพุทธองค์ ก็เรียกว่าเป็นผู้ตรัสรู้ตาม ซึ่งนี่ก็คือสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งสาวกของพระพุทธเจ้านี้ก็มีทั้งรู้มากและรู้น้อยต่างกัน แต่ทุกคนจะมีความรู้เรื่องการดับทุกข์เหมือนกันเป็นพื้นฐาน
เราอาจจะเคยเชื่อกันมาก่อนว่า พระพุทธเจ้านั้นมีฤทธิ์เดช หรือมีบุญมารมีมาก จึงทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพระองค์ไม่ได้มีฤทธิ์เดช หรือมีอำนาจวิเศษอะไรเลย พระองค์เพียงใช้ความตั้งใจอย่างมั่นคง (ที่เรียกว่าสมาธิ) มาพิจารณาถึงสิ่งที่มีอยู่ หรือเป็นอยู่จริงๆในธรรมชาติปัจจุบันที่เราทุกคนสามารถพบเห็นได้ โดยใช้เหตุใช้ผลเป็นหลักในการพิจารณา (ที่เรียกว่าปัญญา) โดยมีการพิจารณาไปตามลำดับ (คือจากพื้นฐานแล้วแตกแขนงไปเรื่อยๆอย่างมีระบบและเป็นระเบียบ) ก็ทำให้พระองค์ทรงตรัสรู้ขึ้นมาได้
เราสามารถตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ได้หรือไม่? การตรัสรู้นี้ใครๆก็สามารถตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ โดยจะต้องมีคุณสมบัติอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงมีอยู่บ้างพอสมควร คือไม่จำเป็นต้องมีอย่างสมบูรณ์ก็ได้ ขอให้มีอยู่บ้างเท่านั่นก็พอ ถ้าไม่มีเลย หรือมีไม่ครบทุกข้อ หรือมีน้อยเกินไปก็จะไม่สามารถศึกษาให้เกิดการตรัสรู้ขึ้นมาได้จริง
สาเหตุที่เราจะต้องมีคุณสมบัตินี้อยู่บ้าง ก็เพราะคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มาช่วยส่งเสริมให้เกิดการตรัสรู้หรือค้นพบขึ้นมาได้ ถ้าขาดคุณสมบัติใดไปก็จะทำให้ไม่สามารถเกิดการตรัสรู้ขึ้นมาได้ อย่างเช่น ถ้าขาดปัญญาก็จะทำให้เป็นคนโง่เขลา หรือถ้าไม่มีความจริงใจก็จะทำให้ไม่ศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือถ้าไม่มีใจเป็นกลางก็จะทำให้เรามีใจเอนเอียงเข้าข้างความเห็นที่เราชอบใจ ซึ่งมันก็อาจเป็นความเห็นที่ผิดก็ได้ หรือถ้าเป็นคนที่ยึดติดอยู่ในความเชื่อเก่าๆมาก่อนไม่ยอมวาง ก็จะถูกความเชื่อนั้นครอบงำทำให้ไม่เปิดใจรับความรู้ใหม่ๆที่ถูกต้องได้ เป็นต้น
พระพุทธเจ้าคิดอย่างไร? เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มค้นคว้าวิธีการดับทุกข์นั้น พระองค์ก็ได้ทรงเคยทดลองศึกษาและปฏิบัติตามหลักการของบรรดาเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงของยุคนั้นมาแล้วทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ค้นพบความจริงที่ต้องการ เพราะพระองค์ยังไม่ได้ค้นพบวิธีการคิดที่ถูกต้อง จนกระทั่งพระองค์ทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีคิดใหม่ โดย(๑)จะไม่เชื่อตามความเชื่อต่างๆที่ชาวโลกเขาเชื่อกันอยู่แต่เก่าก่อน แล้ว(๒)หันมาศึกษาจากธรรมชาติหรือสิ่งที่มีอยู่จริง โดย(๓)ใช้เหตุผลในการศึกษา และ(๔)มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง(๕)จะเชื่อต่อเมื่อได้ทดลองปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดความเห็นแจ้งอย่างแท้จริงแล้วเท่านั้น จึงได้ทรงนำสิ่งที่ค้นพบมาสอนแก่มหาชน ซึ่งวิธีคิดนี้ในยุคนี้เรียกว่าเป็นวิธีคิดอย่างวิทยาศาสตร์
ในเรื่องความเชื่อนี้จะสำคัญมากเป็นอันดับแรก เพราะความเชื่อก็คือการที่เรายอมรับเอาความรู้หรือวิธีการที่เราเชื่อถือนั้นมาปฏิบัติ ดังนั้นเมื่อเราเชื่อในสิ่งใดเราก็จะถูกสิ่งนั้นครอบงำทำให้สติปัญญาของเราไม่เป็นอิสระทันที คือทำให้เราไม่คิดอะไรนอกเหนือไปจากที่เราเชื่อถืออยู่ ซึ่งการที่เราไม่มีอิสระในการคิดก็คือ ทำให้เราไม่เกิดปัญญาหรือความรอบรู้ที่ถูกต้อง กว้างขวาง และลึกซึ้งได้ รวมทั้งทำให้ไม่รู้ตัวด้วยว่าความเชื่อของเรานั้นถูกหรือผิดอีกด้วย
การที่เรายึดติดในความเชื่อทั้งหลาย อันได้แก่ (๑)จากการที่คนอื่นเขาบอกต่อๆกันมา หรือ(๒)จากการที่เขาทำตามๆกันมาแต่โบร่ำโบราณ หรือ(๓)จากที่ผู้คนเขากำลังล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน หรือ(๔)จากตำรา หรือ(๕)จากการคิดคำนวณด้วยเหตุผลตรงๆ หรือ(๖)จากเหตุผลแวดล้อม หรือ(๗)จากสามัญสำนึกของเราเอง หรือ(๘)จากความเห็นเก่าๆที่เรามีอยู่ หรือ(๙)จากบุคคลที่ดูภายนอกว่าน่าเชื่อถือ หรือแม้(๑๐)จากครูอาจารย์ของเราเองก็ตามนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเชื่อที่เราเชื่อตามเขานั้นมันถูกต้อง ถ้าบังเอิญความเชื่อนี้มันผิด เราก็จะมีความเชื่อที่ผิดตามไปด้วยทันที ซึ่งสิ่งที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ คนที่เมื่อเชื่อในสิ่งใดแล้วก็ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ไปเป็นอย่างอื่นได้ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ตนเชื่ออยู่นี้ไม่มีเหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม
การที่เราเชื่อตามคนอื่นนั้น มันมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนว่าอย่าไปยึดติดในความเชื่อใดๆทั้งสิ้นอย่างเด็ดขาด ต่อเมื่อเราได้รับรู้หลักการใดมา ก็ให้เรานำหลักการนั้นมาพิจารณาดูก่อนว่ามีโทษหรือมีประโยชน์ ถ้าเห็นว่ามีโทษ ก็ให้ละทั้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ให้นำมาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติเต็มที่แล้วไม่ได้ผล ก็ให้ละทั้งอีกเหมือนกัน แต่ถ้าปฏิบัติแล้วได้ผลจริง จึงค่อยปลงใจเชื่อและปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราได้พบกับความเชื่อที่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่สุด ไม่มีทางที่จะได้รับความเชื่อที่ผิดได้เลย
เมื่อเราปลดปล่อยสติปัญญาของเราให้เป็นอิสระ จากการครอบงำของความเชื่อทั้งหลายแล้ว ต่อไปเราก็ต้องมาศึกษาสิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่จริงๆในธรรมชาติ หรือสิ่งที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้จริง ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าเราศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง ก็จะทำให้ได้พบกับความจริง เพราะเรามีของจริงมาให้ศึกษา ซึ่งการศึกษาจากของจริง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ ตลอดจนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าเราศึกษาจากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือจากตำราก็ตาม หรือจากการคาดคะเนหรือคิดเดาเอาตามสามัญสำนึกของเราเองก็ตาม เราก็จะไม่พบความจริง เพราะเราไม่มีของจริงมาให้ศึกษา มันก็เหมือนกับการนั่งจิตนาการหรือคิดเพ้อฝันถึงสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นจริง ซึ่งแน่นอนว่าเราจะไม่มีทางเกิดความเห็นแจ้งหรือแม้ความเข้าใจขึ้นมาได้เลย
ต่อไปก็เป็นการใช้เหตุผลในการศึกษา ซึ่งเหตุผลก็คือการพิจารณาถึงสิ่งที่มากระทำ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น โดยเหตุผลนี้ก็ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น อย่างที่เราเรียกกันว่า สมเหตุสมผล ไม่ใช่เหตุผลลอยๆหรือเหตุผลอย่างเด็กๆ ซึ่งจัดว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่จัดว่าเป็นเหตุผลที่แท้จริงเลย
ทำไมเราต้องใช้เหตุผลในการศึกษา? เพราะไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการใช้เหตุผลในการค้นหาความจริงของธรรมชาติ เหตุผลที่สมเหตุสมผลจะค่อยๆนำเราไปพบกับความจริงของธรรมชาติที่เราต้องการค้นหาได้ ซึ่งการค้นหาความจริงในการเรื่องการดับทุกข์นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้เหตุผลในการศึกษา และมีการทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ว่าเหตุผลนี้ถูกต้องหรือไม่ต่อไปอีกทีหนึ่ง
ในการศึกษาก็ต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ คือศึกษาเริ่มจากน้อยไปหามาก หรือศึกษาจากพื้นฐานไปสู่ยอด คือเริ่มจาก ๑ ก่อน แล้วแตกสาขาของเหตุผลออกไปเป็น ๒ เป็น ๔ ไปเรื่อยๆตามลำดับ จนครอบคลุมเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราเกิดความเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่งโดยไม่มีจุดบกพร่องและผิดพลาด อีกทั้งยังจำได้ง่ายอีกด้วย แต่ถ้าเราศึกษาแบบสุ่มหรือข้ามขั้นก็จะทำให้เราไม่เกิดความเข้าใจที่ต่อเนื่องและครบถ้วนได้ เพราะมันไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งยังต้องใช้ความจำมากจึงทำให้จำได้ยากอีกด้วย
สุดท้ายก็เป็นการพิสูจน์ว่าการศึกษาของเรานี้ถูกหรือผิด โดยมีการทดลองปฏิบัติจริง ถ้าการศึกษาใดที่แม้จะมีเหตุที่สมเหตุสมผลและน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง แต่ไม่มีการพิสูจน์ทดลองให้เห็นผลจริง การศึกษานั้นก็ยังเป็นแค่ทฤษฎีที่สวยหรูเท่านั้น หรือแม้ใครจะรับรองว่าหลักการของเขานั้นเขาได้เคยทดลองปฏิบัติและได้ผลจริงมาแล้วก็ตาม แต่นั้นก็ยังเป็นทฤษฎีสำหรับเรา จนกว่าเราจะได้ทดลองปฏิบัติจนได้เห็นผลจริงๆแล้วเท่านั้น ทฤษฎีนั้นจึงจะเป็นความจริงสำหรับเรา ซึ่งการพิสูจน์ก็ต้องพิสูจน์ซ้ำๆหลายๆครั้งจนแน่ชัดเราจึงจะเชื่อถือ ถ้าเพียงครั้งหรือสองครั้งก็อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่ามันจริงแท้ ซึ่งนี่ก็คือหลักอันเป็นหัวใจของนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง
จุดเริ่มต้นในการคิดของพระพุทธเจ้าคือจุดใด? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้หรือค้นพบนั้นก็คือ วิธีการดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน แต่การที่จะค้นพบวิธีการดับทุกข์ได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรอบรู้หรือความเข้าใจอย่างแจ่มชัดในชีวิตทั้งของตนเองและของมนุษย์ทุกคน ถ้าไม่มีความรอบรู้ในชีวิต ก็จะไม่มีทางที่จะรู้วิธีการดับทุกข์ของชีวิตได้ เหมือนแพทย์ที่ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบต่างๆของร่างกายอย่างถูกต้องมาก่อน จึงจะรักษาโรคที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายได้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้แล้วไปรักษาก็เป็นแค่การเดา ซึ่งก็ยากที่จะบังเอิญรักษาได้
จุดเริ่มต้นในการคิดของพระพุทธเจ้าก็เริ่มจากการพิจารณาถึงความจริงพื้นฐานของธรรมชาติ ที่เรียกว่ากฎสูงสุดของธรรมชาติที่เราทุกคนก็รู้จักและยอมรับกันอยู่แล้ว นั่นก็คือกฎที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องเกิดมาจากเหตุหลายๆเหตุมาร่วมกันปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบหรือกระตุ้น) ให้เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งกฎนี้ก็คือหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เรารู้จักและนำมาใช้ประโยชน์กันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง
คำว่าทุกสิ่งนี้ก็หมายถึงทุกสิ่งไม่เว้นสิ่งใดเลย ซึ่งพื้นฐานของสิ่งต่างๆในโลกและจักรวาลนี้ก็มีแค่วัตถุกับจิตใจเท่านั้น ซึ่งเมื่อเราพิจารณาถึงวัตถุต่างๆและร่างกายของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เราก็จะพบว่า มันไม่ได้มีตัวตนที่เป็นแก่นสารหรือตัวตนที่แท้จริง (ชนิดที่จะตั้งอยู่อย่างถาวรหรือเป็นอมตะได้) เลย เพราะตัวตนของมันนั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากเหตุต่างๆมากมายที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงหาตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายไม่มี จะมีก็เพียงตัวตนมายา (หลอกลวง) หรือตัวตนชั่วคราว (ไม่เที่ยงแท้ถาวร หรือต้องแตกสลายหายไปอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว) เท่านั้น อย่างเช่น ร่างกายของคน สัตว์ และพืชทั้งหลาย ก็ประกอบขึ้นมาจากดิน น้ำ ความร้อน และก๊าซเท่านั้น จะหาร่างกายจริงๆที่เป็นอมตะ(ไม่ตาย)ไม่มี
จิต คืออะไร? จิต (หรือใจ) ก็คือสิ่งที่รู้สึกและนึกคิดได้ (เราต้องสังเกตจากจิตของเราเอง) ซึ่งจิตใจก็มีลักษณะพื้นฐานที่ไม่ต่างกับร่างกาย คือจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายเพื่อเกิดขึ้นมารับรู้และรู้สึกสิ่งต่างๆภายนอก (รับรู้ ภาพ เสียง กลิ่น รส เป็นต้น) โดยอาศัยระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกาย อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สมอง) เมื่อรับรู้แล้วก็ต้องอาศัยเนื้อสมองของร่างกาย เป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่ได้มาจากการรับรู้ไว้เป็นความจำ แล้วจึงนำเอาความจำนั้นมาปรุงแต่งให้เกิดเป็นความคิดต่างๆอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่มีร่างกายก็ย่อมที่จะไม่มีจิต ถ้าไม่มีความจำก็คิดอะไรไม่ได้
เมื่อจิตก็ต้องอาศัยสิ่งอื่นๆเพื่อมาปรุงแต่งมันขึ้นมา ดังนั้นจึงหาตัวตนของจิตจริงๆไม่มี และความรู้สึกว่ามีเรา อันเป็นความรู้สึกของจิตก็ย่อมที่ไม่มีอยู่จริงตามไปด้วย คือมันจะมีก็เพียงตัวตนมายา หรือตัวตนชั่วคราวเท่าที่เหตุของมัน (คือร่างกายและเนื้อสมองที่ยังไม่ตาย) ยังมีอยู่เท่านั้น
เมื่อมีการพิจารณาอย่างตั้งใจ (ด้วยสมาธิ) จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า มันไม่มีวัตถุสิ่งของใดๆอยู่จริง รวมทั้งมันไม่มีเราหรือใครๆอยู่จริงดังนี้แล้ว จิตนี้ก็จะค่อยๆปล่อยวางความยึดถือ (ความยึดถือก็คืออาการของความอยากเพื่อตัวเรา) ในสิ่งทั้งหลายในโลกลง รวมทั้งปล่อยวางความยึดถือว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) ลง เมื่อจิตไม่มีความยึดถือใดๆ มันก็ไม่ทุกข์ใจหรือหนักใจ (โดยสรุปความทุกข์ใจของมนุษย์เกิดมาจากความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา) เมื่อไม่ทุกข์ใจ จิตมันก็ย่อมจะสงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบาสบาย ที่เรียกว่า ความไม่มีทุกข์ (หรือนิพพาน) ซึ่งถ้าจิตใดสามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง จนจิตใต้สำนึกไม่มีความรู้สึกว่ามีตนเองอยู่เลย จิตนั้นก็บรรลุถึงความไม่มีทุกข์อย่างถาวรได้ (นิพพานถาวร)
ทั้งหมดนี้คือวิธีคิดของพระพุทธเจ้า ที่ทรงใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการค้นหาความจริงของชีวิต จนพบว่า แท้จริงมันไม่มีเราอยู่จริงเลย เมื่อค้นพบว่าแท้จริงมันไม่มีเราหรือใครๆแล้ว ก็นำความรู้นี้มาเพ่งพิจารณาร่างกายและจิตใจทั้งของตนเองและผู้อื่น จนความยึดถือว่ามีตนเองหายไป เมื่อไม่มีความยึดถือ ก็ไม่มีทุกข์ จึงทำให้พระพุทธองค์ทรงค้นพบวิธีการดับทุกข์ของจิตใจที่ถูกต้องขึ้นมา และนำมาสอนแก่มหาชนทั้งหลาย จึงขอฝากให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายจงช่วยกันศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้านี้ แล้วช่วยกันเผยแพร่แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อให้เกิดสันติสุขแก่มวลมนุษย์ และสันติภาพแก่โลก ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์กันต่อไป.
|