ศาสตร์ต่างๆของโลก

คำว่า “ศาสตร์” มาจากคำว่า ศาสตรา ที่หมายถึง อาวุธ เช่น มีด หอก ดาบ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ตัดหรือทำลายสิ่งที่เป็นอุปสรรค์หรือปัญหาให้หมดสิ้นไป และเพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมา และคำนี้ได้นำมาใช้กับวิชาการหรือความรู้ต่างๆของโลก ที่ช่วยแก้ไขปัญหาหรือทำลายปัญหาของมนุษย์ให้หมดสิ้นไปได้

ความรู้ต่างๆของมนุษย์นั้น เป็นความรู้ที่มนุษย์ได้สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมานานจนเกิดเป็นศาสตร์ต่างๆขึ้นมามากมายในโลก โดยความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่ช่วยให้มนุษย์ได้ค้นพบกับความจริงต่างๆของโลกที่มนุษย์อยากจะรู้ เช่น มนุษย์อยากรู้เรื่องในอดีต หรือเรื่องในอนาคต หรือเรื่องที่ลึกซึ้งของวัตถุและพลังงานทั้งหลาย หรือเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย หรือแม้แต่อยากรู้เรื่องต่างๆนอกโลกด้วย เป็นต้น ซึ่งศาสตร์ที่สำคัญๆของมนุษย์นั้นก็มีอยู่หลายศาสตร์ เช่น ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไสยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ดาราศาสตร์นั้นเป็นความรู้ที่เกิดจากการสังเกตดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้า จนรู้ว่าดวงดาวเหล่านี้มีการโคจรอย่างไรอย่างแน่ชัด และรู้ว่าเมื่อดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์หรือดวงดาวใดโคจรมาถึงจุดนั้นจุดนี้แล้วทำให้เกิดปรากฎการณ์ใดขึ้นมา ซึ่งความรู้นี้จะนำมาใช้คำนวณหาปรากฏการณ์หรือความจริงทางธรรมชาติหลายๆอย่างที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตได้อย่างแม่นยำ เช่น ทิศทาง ฤดูกาล น้ำขึ้นน้ำลง และปรากฏการณ์ต่างๆบนท้องฟ้า เป็นต้น

โหราศาสตร์เป็นความรู้ที่เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์ของดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้า ว่ามันมีอิทธิพล หรือเป็นเหตุ หรือส่งผลให้เกิดอะไรแก่มนุษย์หรือธรรมชาติ โดยจะมีการบันทึกเอาไว้เป็นสถิติ เช่น เมื่อดวงดาวนี้โคจรมาถึงจุดนี้ แล้วมักจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมาบ้าง หรือคนที่เกิดในวันเดือนปีนี้ มักจะมีชีวิตเป็นเช่นนั้น หรือวันเดือนปีนี้เป็นวันดี จะทำอะไรก็จะประสบผลดี ส่วนวันเดือนปีนั้นเป็นวันไม่ดี จะทำอะไรก็จะไม่ประสบผลดี หรืออาจจะประสบผลร้ายได้ เป็นต้น ซึ่งโดยสรุปแล้วโหราศาสตร์ก็คือความรู้ที่ใช้ค้นหาความจริงของชีวิตมนุษย์ในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร โดยใช้การสังเกตจากดวงดาวบนท้องฟ้าที่สัมพันธ์กับมนุษย์นั่นเอง ซึ่งโหราศาสตร์นี้ก็ยังเป็นแค่การคาดเดาเอาจากสถิติที่บันทึกไว้เท่านั้น และสถิตินั้นก็ยังเอาแน่นอนไม่ได้ ดังนั้นโหราศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ไม่เจริญ เพราะผู้คนที่มีความรู้ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จะมีก็เพียงคนด้อยความรู้ส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมรับนับถือ

ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเรื่องราวในอดีตที่มีผู้บันทึกเอาไว้ หรือศึกษาจากวัตถุ สถานที่ หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆที่เก่าแก่ แล้วนำความรู้นั้นมาจิตนาการณ์บ้าง คำนวณบ้าง เพื่อค้นหาความจริงในอดีต โดยประโยชน์จากเรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นก็มีประโยชน์แก่มนุษย์ในปัจจุบันตรงที่ มนุษย์ได้นำเอาประสบการณ์จากอดีตมาพัฒนาให้เกิดความรู้ต่างๆในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังอาจจะสามารถนำเรื่องราวในอดีต มาใช้คำนวณหาสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตได้อีกด้วย แต่ประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นความรู้ที่แคบเฉพาะในกลุ่มผู้คนที่สนใจเท่านั้น เพราผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจอดีตกันแล้ว เขาสนใจแต่เรื่องที่จะทำให้เขาเจริญก้าวหน้าในอนาคตเท่านั้น

ไสยศาสตร์เป็นความรู้ที่เกิดมาจากความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นโดยส่วนเดียว โดยไสยศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์หรือหลักวิชาของคนหลับ (ไสยะ แปลว่า หลับ) โดยคำว่าหลับก็หมายถึง คนที่ยังไม่ตื่น เช่นคนที่หลับสนิท หรือครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือคนละเมอ หรือคนที่ทำอะไรๆไปโดยขาดสติสัมปชัญญะ หรือไม่รู้สึกตัวเต็มที่ ซึ่งคนที่ทำอะไรๆไปโดยที่ตัวเองยังไม่ตื่นเต็มที่นี้จึงไม่มีทางที่จะถูกต้องได้อย่างแท้จริง หรือคนละเมอก็ย่อมที่จะทำอะไรๆไปอย่างผิดพลาดเสมอโดยตัวเองก็ไม่รู้สึกตัว

ไสยศาสตร์นี้จะมีความเชื่อมั่นเป็นหลักโดยไม่สนใจว่าความเชื่อนั้นจะมีเหตุผลหรือไม่ รวมทั้งไม่สนใจว่าความเชื่อนั้นจะพิสูจน์ได้หรือไม่ด้วย ซึ่งความรู้ของไสยศาสตร์ก็มาจากการบอกเล่าของคนอื่นบ้าง จากการทำตามๆกันมาบ้าง จากตำราบ้าง หรือแม้จากครูอาจารย์บ้าง หรือบางทีก็คาดเดาเอาเองตามสามัญสำนึกของเราเองบ้าง อย่างเช่น เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องโชคลาง เรื่องการดลบันดาลจากเทพเจ้าหรืออำนาจวิเศษต่างๆ หรือเรื่องผีเจ้าเข้าทรงต่างๆ รวมทั้งเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เรื่องเทพเจ้าทั้งหลาย เรื่อง ผี สาง เทวดา นางฟ้า และเรื่องสิ่งลึกลับไกลตัวทั้งหลาย รวมทั้งเรื่องการดลบันดาลจากการกระทำของเราในชาติก่อนๆด้วย เป็นต้น โดยความเชื่อเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากการมองเห็นว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นตัวตนที่แท้จริง” (คือเป็นตัวตนที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดมาปรุงแต่งตัวของมันขึ้นมา) ซึ่งไสยศาสตร์นี้ได้ครอบงำจิตใจของมนุษย์เรามาแล้วตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเราไม่รู้ตัวว่านี่คือไสยศาสตร์

เรื่องที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ทั้งหลายนี้ ล้วนเป็นเรื่องลึกลับที่เล่าสืบๆกันมาทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลและไม่มีความจริงมาเป็นหลักฐานรองรับ แต่คนที่เชื่อถือก็จะไม่สนใจ เขาจะมีแต่ความเชื่อมั่นว่าเรื่องที่เขาเชื่อถืออยู่นี้เป็นความจริงแท้ที่สุด ดังนั้นเขาจึงเห็นว่าเหตุผลไม่สำคัญ แม้จะไม่มีใครสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อของเขานั้นเป็นความจริงได้เลยก็ตาม

ไสยศาสตร์นั้นจัดว่าเป็นความรู้ที่ดีที่สุดของคนที่ยังไม่มีความรู้ที่ทันสมัยเพียงพอ อย่างเช่น คนป่าคนดง หรือเด็กๆ ดังนั้นไสยศาสตร์จึงไม่เจริญหรือไม่มีการพัฒนา เพราะไม่มีหลักการที่แน่นอนตายตัว มีแต่เรื่องการกราบไหว้บูชา การบวงสรวง และพิธีกรรมต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่ออ้อนวอนสิ่งที่เราเชื่อถือให้ดลบันดาลสิ่งที่เราต้องการให้ ซึ่งการอ้อนวอนบูชานี้ใครๆก็ทำได้โดยไม่ต้องใช้สติปัญญาเลย ซึ่งมันก็ได้ครอบงำจิตใจมนุษย์เราเอาไว้เสียจนเกือบหมดโลก โดยอาศัยการสืบทอดมาทางขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหลายของมนุษย์

สรุปว่าไสยศาสตร์ก็เป็นการศึกษาหาความจริงของธรรมชาติวิธีหนึ่ง ที่อาศัยความรู้จากคนอื่นโดยตัวเราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าความรู้นั้นมันถูกต้องแน่นอนหรือเปล่า แต่อาศัยความเชื่อมั่นที่เกิดมาจากผู้คนจำนวนมากที่เขาก็เชื่อเหมือนๆกับเราอยู่มาช่วยหล่อเลี้ยงความเชื่อนี้ให้ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับคนที่ด้อยความรู้ เช่น คนป่า คนดง หรือเด็กโง่นั้นการมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงามที่แม้จะถูกเรียกว่า “งมงาย” นี้ก็จัดว่าดีที่สุดแล้ว เพราะเขาไม่มีคุณสมบัติที่สูงพอที่จะได้รับสิ่งที่สูงไปกว่านี้

วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เกิดมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง โดยวิทยาศาสตร์จะมีหลักสำคัญๆคือ (๑) ศึกษาจากของจริง (๒) ใช้เหตุผลในการศึกษา (๓) มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ และ (๔) เชื่อในสิ่งที่ได้พิสูจน์จนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น ซึ่งวิทยาศาสตร์จะตรงข้ามกับไสยศาสตร์อย่างสิ้นเชิง โดยไสยศาสตร์จัดว่าเป็นเรื่องงมงายสำหรับนักวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ก็แยกได้ ๒ อย่างคือ (๑) วิทยาศาสตร์ทางวัตถุ ที่ศึกษาเฉพาะเรื่องวัตถุ กับ (๒) วิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ ที่ศึกษาเฉพาะเรื่องทางจิตใจ ซึ่งในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางวัตถุได้เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งจนทุกคนต้องยอมรับ แต่วิทยาศาสตร์ทางวัตถุกลับเป็นดาบสองคมที่แม้จะสร้างความเจริญให้แก่โลกก็จริง แต่มันก็ได้สร้างปัญหาให้กลับมนุษย์ได้อย่างรุนแรงชนิดที่มนุษย์เพียงไม่กี่คนก็สามารถใช้ความรู้ทางวัตถุมาทำลายโลกได้อย่างสบายๆ ส่วนวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจนั้นยังเจริญไม่มาก เพราะยังเป็นแค่ความรู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของจิตที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเท่านั้น เช่น รู้ว่าสารเคมีชนิดนี้จะกระตุ้นให้จิตเกิดพฤติกรรมเช่นใดขึ้นมา หรือรู้ว่าเมื่อจิตอยู่ในสภาพนี้ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมใดขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งความรู้ทางด้านจิตใจนี้ก็มีประโยชน์ตรงที่จะช่วยให้ควบคุมจิตได้ชั่วคราวโดยใช้วัตถุ เช่น สารเคมี กระแสไฟฟ้า อาหาร หรือสภาพแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตนี้ก็ยังอาจมีโทษได้ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิด

ยังมีศาสตร์สูงสุดอยู่ศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า “พุทธศาสตร์” ที่หมายถึง ศาสตร์ของผู้รู้ ซึ่งสาเหตุที่เรียกว่าศาสตร์สูงสุดก็เพราะความรู้ของพุทธศาสตร์นี้จะมีประโยชน์แก่มนุษย์อย่างสูงสุด โดยประโยชน์สูงสุดของมนุษย์นั้นก็มีทั้ง (๑) ประโยชน์ส่วนตัว อันได้แก่ ความปกติสุขหรือความไม่มีทุกข์ของแต่ละบุคคล (๒) ประโยชน์ส่วนรวม อันได้แก่ความสงบสุขของสังคมมนุษย์หรือสันติภาพของโลก ซึ่งนอกจากพุทธศาสตร์แล้วยังไม่มีศาสตร์ใดที่จะช่วยให้มนุษย์ได้พบกับประโยชน์สูงสุดได้จริง

พุทธศาสตร์ก็เป็นความรู้ทางด้านจิตใจที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จากชั่วมาเป็นดีได้ และจากดีมาเป็นหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจได้อย่างถาวร ซึ่งหลักการของพุทธศาสตร์ก็มีหลักการของวิทยาศาสตร์มาเป็นพื้นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์

หลักวิชาของพุทธศาสตร์นี้ก็เกิดขึ้นมาจาก “ท่านผู้รู้” ที่หมายถึง ผู้ที่รู้แจ้งโลก หรือรู้เกี่ยวกับความจริงของโลกที่ควรรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับการสร้างประโยชน์สูงสุดของมนุษย์นั่นเอง โดยท่านผู้รู้สูงสุดที่ไม่มีใครจะรู้ได้มากเท่าท่านและเป็นผู้รู้บุคคลแรกของโลกก็คือ “พระพุทธเจ้า”

พระพุทธเจ้าเดิมทีท่านก็เป็นบุคคลธรรมดาๆที่มีความปรารถนาจะค้นหาความจริงของชีวิต หรือปรารถนาจะรู้แจ้งชีวิต เพื่อที่จะได้นำความรู้แจ้งนั้นมาดับทุกข์ของจิตใจท่านเอง รวมทั้งจะได้นำมาสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจากการพยายามศึกษาค้นคว้าและทดลองปฏิบัติตามหลักการของศาสตร์ต่างๆที่มีอยู่ในสมัยของท่าน (อันได้แก่ การฝึกสมาธิขั้นสูงเพื่อดับทุกข์ และการทรมานร่างกายเพื่อให้พ้นทุกข์) เพื่อค้นหาวิธีการดับทุกข์ที่ถูกต้องแล้วก็ยังไม่ค้นพบวิธีการดับทุกข์ที่แท้จริง(หรือถาวร)ได้

จนกระทั่งท่านได้เปลี่ยนมาใช้ (๑) การพิจารณาใคร่ครวญถึงความจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง (๒) โดยใช้เหตุผลมาพิจารณา (๓) และมีการใคร่ครวญพิจารณาและทดลองปฏิบัติด้วยไปอย่างเป็นระบบจนได้ค้นพบความจริงที่ต้องการ รวมทั้ง (๔) เมื่อมีการค้นพบความจริงแล้ว ก็ยังมีการทดลองปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนแน่ชัด จึงได้นำสิ่งที่ได้ค้นพบนี้มาสั่งสอนจนเกิดเป็น “ศาสตร์แห่งการดับทุกข์” ขึ้นมาในโลก และต่อมาก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพุทธศาสนาในที่สุด ซึ่งหลักที่ใช้ในการค้นหาความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงใช้นี้ก็คือหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจบุคคลแรกของโลก

แต่ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบพุทธศาสตร์ได้ก็จริง แต่ก็ยังมีผู้นับถือน้อย เพราะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาพอสมควรจึงจะศึกษาให้เกิดความเข้าใจในพุทธศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนที่มีปัญญาก็ยังมีน้อย โดยคำว่ามีปัญญานี้ก็หมายถึงต้องมีเหตุผล มีใจเป็นกลาง ไม่ยึดติดในความเชื่อทั้งหลายที่ไม่มีเหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้จริง ซึ่งในยุคนั้นคนที่มีปัญญาเช่นนี้ยังมีน้อย เพราะผู้คนส่วนใหญ่จะมีความเชื่อในหลักของไสยศาสตร์อยู่อย่างมั่นคง หรือเรียกได้ว่าถูกไสยศาสตร์ครอบงำเอาไว้อย่างมิดชิด ซึ่งหลักไสยศาสตร์นี้จะตรงข้ามกับหลักวิทยาศาสตร์ และสาเหตุนี้เองที่ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้จากไปแล้ว พุทธศาสตร์ของพระพุทธเจ้าก็ได้ค่อยๆเลอะเลือนไป และถูกกลืนจนกลายเป็นไสยศาสตร์อย่างเช่นในปัจจุบันที่มีแต่ชื่อพุทธศาสนา แต่กลับมีแต่เรื่องความงมงายของไสยศาสตร์และโหราศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาในปัจจุบันเต็มไปหมด โดยชาวพุทธไม่รู้ตัว

สำหรับผู้ที่เข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ทั้ง ๔ ข้อมาแล้วก็จะพบว่ามันก็เป็นเรื่องง่ายๆหรือธรรมดาๆที่ใครๆก็พบเห็นหรือรู้จักและใช้งานจนเป็นปกติอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งหลักทั้ง ๔ ข้อนี้ใครๆก็ยอมรับ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นว่าแม้ผู้คนจะยอมรับในหลักวิทยาศาสตร์ แต่จิตใจส่วนลึกเขากลับยังจมอยู่ในหลักไสยศาสตร์ คือเขาจะยอมรับวิทยาศาสตร์เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นจริงได้และนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้จริง แต่ลึกๆเขาก็ยังเชื่อว่าไสยศาสตร์มีจริง ทั้งๆที่ไม่มีเหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้ รวมทั้งนำมาใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้

จุดเริ่มต้นที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงของธรรมชาติที่ควรรู้ก็คือ ทรงพิจารณาถึงความจริงพื้นฐานของทุกสิ่ง จนพบว่า “ทุกสิ่งไม่ว่าสิ่งใด(ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือจิต) ล้วนเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่ง (หรือสร้าง หรือประกอบ หรือกระตุ้น) จากสิ่งอื่นทั้งสิ้น” หรือเรียกง่ายๆว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นมาจากเหตุ” ซึ่งนี่ก็คือหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน หรือความจริงพื้นฐานที่ใครๆก็ยอมรับ ถ้าใครไม่ยอมรับก็จัดว่าโง่เกินไป คือไม่มีใครกล้าเถียงว่า “ยังมีบางสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่ต้องอาศัยเหตุ”

เมื่อค้นพบหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงนำหลักนี้มาใช้พิจารณาทั้งวัตถุทั้งหลายและจิตหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ซึ่งก็ทำให้เกิดความเข้าใจได้ทันทีว่า ทั้งวัตถุและจิตล้วนเกิดขึ้นมาจากสิ่งอื่นที่มาประกอบขึ้นมาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่าจะหาสิ่งที่เป็นแก่นแท้หรือตัวตนที่แท้จริง (หรือถาวร หรือเป็นอมตะ) ทั้งของวัตถุและจิตไม่มี จะมีก็เพียงแค่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ชั่วคราว และมนุษย์ก็สมมติเรียกสิ่งที่ถูกปรุงแต่งนั้น เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ รถยนต์ โทรทัศน์ จิต ความสุข ความทุกข์ เป็นต้น คือถ้ามองอย่างผิวเผินสิ่งต่างๆมันก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งแล้วทุกสิ่งจะไม่มีตัวตนที่แท้จริงเลย

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงสูงสุดว่า “ทุกสิ่งไม่มีตัวตนที่แท้จริง” แล้ว ก็ได้นำความรู้นี้มาพิจารณาถึงสิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติทั้งหลายของมนุษย์ เช่น ที่ดิน บ้านเรือน บุตร ภรรยา เกียรติยศ อำนาจ เป็นต้น ก็จะพบว่ามันเป็นแค่เพียงสิ่งปรุงแต่งชั่วคราวและสมมติกันขึ้นมาเท่านั้น จะยึดถือให้ตั้งอยู่ไปอย่างถาวรไม่ได้ ถ้าเรามองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ก็จะทำให้เกิดความอยากได้สิ่งเหล่านี้ แล้วก็ทำให้เกิดการแสวงหามาเป็นของตนเอง ซึ่งก็ทำให้เกิดการแย่งชิงกัน และทำร้ายกันขึ้นมา อีกทั้งยังทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรของโลกให้พินาศไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ยังไม่เท่านั้น การแสวงหาและเสพสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ยังส่งผลให้เกิดผลเลวร้ายแก่สภาพแวดล้อมอีกอย่างมากมายในภายหลัง อันได้แก่ ภัยธรรมชาติ ต่างๆ เช่น ฝนแล้ว น้ำท่วม โลกร้อนขึ้น เป็นต้น และยังสร้างมลพิษให้แก่โลกอีกอย่างมากมาย อันส่งผลให้มนุษย์ต้องประสบกับหายนะภัย เช่น ความอดอยากขาดแคลน อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น อากาศเสีย น้ำเสีย เป็นต้น อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

แต่ถ้าเราจะมองเห็นความจริงว่าสิ่งทั้งหลายนี้ไม่มีตัวตนที่แท้จริงแล้ว ก็จะทำให้ความอยากจะได้สิ่งเหล่านี้ลดน้อยลง แล้วการแสวงหาและเสพก็จะลดน้อยลง การทำลายทรัพยากรและสร้างมลพิษก็จะลดน้อยลง การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันก็จะเกิดขึ้น แล้วสันติภาพก็จะเกิดขึ้นมาได้โดยง่าย ซึ่งนี่คือประโยชน์สูงสุดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา

จุดสูงสุดในการพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงก็คือ การพิจารณาถึงร่างกายและจิตของมนุษย์และสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ก็จะทำให้พบกับความจริงว่า แท้จริงแล้วมันไม่มีใครอยู่จริงเลย ทั้งร่างกายและจิตล้วนเป็นแค่เพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นเรื่องความเชื่อของไสยศาสตร์ที่เชื่อกันว่าจิตเป็นตัวตนที่แท้จริง ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้นั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเมื่อเรามาเพ่งพิจารณาถึงความจริงเหล่านี้อย่างต่อเนื่องมั่นคงแล้ว ก็จะทำให้จิต (ที่สมมติเรียกว่าเป็นเรา) นี้จะค่อยๆปล่อยวางความยึดถือร่างกายและจิตว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงลง (หรือว่าเป็นตัวตนของเรา) ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ความอยากได้ทรัพย์สินหรือสิ่งต่างๆที่มนุษย์ทั้งหลายแสวงหากันอยู่นั้นลดน้อยลงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ส่วนประโยชน์สูงสุดจากการมองเห็น “ความว่างจากตัวตนที่แท้จริง” ก็คือจะทำให้จิตที่มองเห็นนั้นปล่อยวางความยึดถือในตัวเองลง แล้วจิตก็จะกลับมาเป็นจิตที่บริสุทธิ์ (หรือจิตเดิมแท้) เพราะไม่มีความยึดถือใดๆอยู่ในจิตเลย ซึ่งก็จะส่งผลให้จิตที่บริสุทธิ์นี้ สงบ เย็น เบา สบาย ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความไม่มีทุกข์ นั่นเอง

สรุปได้ว่า ศาสตร์สูงสุดที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ก็คือ พุทธศาสตร์ เพราะช่วยให้เกิดสันติภาพในหมู่มนุษย์ได้ และยังช่วยดับทุกข์ของจิตมนุษย์ได้อีกด้วย แต่พุทธศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากถ้ามนุษย์ยังถูกไสยศาสตร์ครอบงำอยู่ ซึ่งผู้ที่ถูกไสยศาสตร์ครอบงำ ก็จะมืดบอดและดำเนินชีวิตไปตามความเชื่อที่มาจากผู้อื่น แล้วก็ต้องประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อนและพินาศในที่สุด จึงขอฝากให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายจงช่วยกันทำลายคอกของไสยศาสตร์ ที่ครอบงำสติปัญญาของตนเองออก แล้วมาพบกับพุทธศาสตร์ ที่จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์และสร้างโลกให้มีสันติภาพกันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)