-๑-


(พุทธศาสนาเบื้องต้น)

คำนำ

หนังสือ พุทธศาสนาเบื้องต้น นี้ ได้นำเอาหลักอริยสัจ ๔ อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ มาสรุปและอธิบายเอาไว้ด้วยสำนวนที่ทุกคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ โดยใครๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หรือนับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตาม ก็สามารถศึกษาแล้วเกิดความเข้าใจได้โดยไม่ยาก และถ้าใครเห็นว่าหนังสือนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อไป เพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์ที่มีความทุกข์ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และช่วยให้โลกมีสันติภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

***************

พุทธศาสนามีหลักการศึกษาอย่างไร?

การที่เราจะศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนได้นั้น เราจะต้องรู้จักหลักในการศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้องเสียก่อน เราจึงจะศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหลักในการศึกษาพุทธศาสนาก็สรุปอยู่ที่

๑. มุ่งตรงสู่การดับทุกข์ในปัจจุบัน  คือเรียกง่ายๆว่า “ดับทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้” ซึ่งเรื่องความทุกข์นั้น เป็นเรื่องสำคัญหรือเร่งด่วนที่สุด ที่เราจะต้องรีบศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วนำมาทดลองปฏิบัติจนค้นพบวิธีการดับทุกข์ได้จริงๆก่อน จึงค่อยไปศึกษาเรื่องอื่น

๒. ปล่อยวางความเชื่อ คือความเชื่อก็คือ “ความมั่นใจว่าสิ่งหรือเรื่องที่เราเชื่ออยู่นี้มันเป็นความจริง” โดยที่เราก็ยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วความเชื่อของเรานั้นมันเป็นความจริงหรือไม่ เมื่อเราเอาความเชื่อมาศึกษา มันจึงมีความเสี่ยงที่ความเชื่อนั้นอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ดังนั้นเราจะไม่เอาความเชื่อมาศึกษา คือให้ปล่อยวางความเชื่อในเรื่องศาสนาหรือในเรื่องชีวิตที่เรามีอยู่ให้หมดก่อน เพื่อให้จิตมีอิสระในการศึกษา แต่ถ้าเราใช้ความเชื่อมาศึกษา แล้วบังเอิญความเชื่อนั้นมันผิด ก็จะทำให้เราจมติดอยู่ในความเชื่อนั้นตลอดไป แล้วก็จะทำให้เราไม่สามารถค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้

๓. ศึกษาจากของจริง คือศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองขณะที่ยังมีชีวิตอยู่และมีสติสมบูรณ์อยู่นี้ สรุปก็คือให้ศึกษาความทุกข์จากจิตของเราจริงๆ เราจึงจะพบวิธีการดับทุกข์ได้ถูกต้องตรงตามที่มันเป็นจริง แต่ถ้าเราใช้วิธีการศึกษาโดยใช้การจินตนาการหรือคิดเพ้อฝันเอาตามความเชื่อ มันก็จะทำให้เราหลงทางไปกับความฝันในเรื่องลึกลับไกลตัวตามความเชื่อ สุดท้ายเราก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรกับความฝันนั้นเลย

๔. ใช้เหตุผลในการศึกษา คือ “เหตุผล” นั้นเป็นเรื่องของการใช้ความคิด คือเป็นการคิดค้นหาความจริงว่า “เหตุนี้ทำให้เกิดผลอะไร?” และ คิดค้นหาว่า “ผลนี้เกิดมาจากเหตุอะไร?” ซึ่งการที่เราจะค้นหาความจริงของธรรมชาติในเรื่องใดก็ตาม เราก็ต้องค้นหาเหตุผลในเรื่องนั้นให้พบก่อน เมื่อเราค้นพบเหตุผลของความจริงนั้นแล้ว เราก็เกิดความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งที่เรากำลังค้นหานั้นได้อย่างถูกต้อง และเมื่อเรามีความเข้าใจในเหตุและผลของสิ่งใดแล้ว มันก็ง่ายที่จะจัดการกับสิ่งนั้นได้ อย่างเช่น เมื่อเรารู้จักเหตุของความทุกข์อย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะสามารถกำจัดมันได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น  

๕. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือให้ศึกษาจากพื้นฐานสุด จากที่เราไม่รู้อะไรมาก่อนเลย แล้วค่อยๆศึกษาขึ้นไปตามลำดับ จึงจะทำให้เราจับหลักของพุทธศาสนาได้ถูกต้อง อันจะทำให้เราศึกษารายละเอียดในภายหลังได้ถูกต้องตรงตามคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

๖. พิสูจน์ก่อนยอมรับ คือต้องมีการทดลองปฏิบัติจนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดก่อนยอมรับเอามาปฏิบัติ เพื่อที่เราจะได้พบกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าคำสอนใดนำมาปฏิบัติแล้วดับทุกข์ในชีวิตปัจจุบันไม่ได้จริง ก็แสดงว่าคำสอนนั้นก็ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

หลักการศึกษาคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านี้ มันตรงกับหลักการของวิทยาศาสตร์ คือใช้เหตุใช้ผลในการศึกษาและต้องมีการพิสูจน์ก่อนยอมรับเอามาปฏิบัติ แต่จะต่างกันตรงที่พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ ที่มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาเพื่อความเจริญทางด้านจิตใจ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุ ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การศึกษาเพื่อความเจริญทางด้านวัตถุ

ชีวิตคืออะไร?

“สิ่ง” หรือ “ธรรมชาติ” ทั้งหลายที่เราสัมผัสได้นั้นสรุปได้ ๒ อย่างคือ สิ่งที่ไม่มีชีวิต กับ สิ่งที่มีชีวิต โดยสิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้นก็ได้แก่ วัตถุสิ่งของทั้งหลาย ซึ่งวัตถุสิ่งของทั้งหลายของธรรมชาตินั้นเกิดมาจาก ธาตุ (คุณสมบัติ) ตามธรรมชาติ ๔ อย่าง อันได้แก่ ธาตุดิน (ของแข็ง) ธาตุน้ำ (ของเหลว) ธาตุไฟ (ความร้อน) และ ธาตุลม (ก๊าซ) มาร่วมกันปรุงแต่ง (สร้าง, ทำ, ประกอบ) ให้เกิดขึ้นมา ซึ่งวัตถุนี้สามารถสัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น และกาย

ส่วนสิ่งที่มีชีวิตก็คือ วัตถุที่มีจิตใจ ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตของโลกนั้นก็ได้แก่ พืช สัตว์ และคน (มนุษย์) โดย จิตใจ ก็หมายถึง สิ่งที่มีความรู้สึกและคิดได้ ซึ่งจิตใจนั้นเป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถสัมผัสได้เหมือนวัตถุ แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยจิตใจของเราเองเท่านั้น

มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งของโลก โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ที่ยังมีชีวิต (คือยังไม่ตาย) จะประกอบด้วย “ร่างกาย” กับ “จิตใจ” โดยร่างกายก็เป็นกลุ่มก้อนทางวัตถุอย่างหนึ่งที่น่าอัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นจากธาตุ ๔ มาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา

จิตใจเกิดมาจากอะไร?

ร่างกายของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่จะมีระบบประสาท ๖ จุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้สิ่งหรือธรรมชาติของโลก ๖ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัสกาย (คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็งฯ) และ สิ่งที่มาสัมผัสใจ (คือทุกสิ่งทุกอย่าง อันได้แก่ การรับรู้ทั้งหมด การจำได้ ความรู้สึก การคิดนึกปรุงแต่ง) โดยมี ใจ เป็นศูนย์กลางในการรับรู้สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้มาอีกที

เมื่อใจได้รับรู้สิ่งใดแล้ว ก็จะจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ และมีความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นด้วย รวมทั้งยังมีการปรุงแต่งให้เกิด “ความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ” (กิเลส) ต่อความรู้สึกทั้งหลายนั้นอีก กับทั้งยังมีการนำเอาสิ่งที่จำได้นั้นมาคิด (พิจารณา วิเคราะห์) อีกด้วย ซึ่งนี่ก็คือระบบการทำงานของสิ่งที่เรียกว่า จิต หรือ ใจ

อะไรคือสิ่งที่มนุษย์อยากได้?

เมื่อเราไปถามคนธรรมดาทั่วไปว่า อะไรคือสิ่งที่เขาอยากได้? ซึ่งเขาก็จะตอบว่าอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เมื่อสรุปแล้วทุกสิ่งที่เขาอยากได้นั้นก็คือ สิ่งที่ทำให้จิตใจของเขาเกิด “ความสุข” โดยความสุขที่มนุษย์ธรรมดาทุกคนอยากได้นั้นแยกได้ ๒ อย่าง คือ ความสุขกาย กับ ความสุขใจ

ความสุขกาย หมายถึง ความสุขอันเกิดจากการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันได้แก่ ความสุขจากการที่ตาได้เห็นรูปที่สวยงาม, ความสุขจากการที่หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะ, ความสุขจากการที่จมูกได้กลิ่นที่หอม, ความสุขจากการที่ลิ้นได้รู้รสที่เอร็ดอร่อย, และความสุขจากการที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อของร่างกายได้รับรู้สิ่งที่มาสัมผัสกาย (เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แสบ เสียว คัน ฯ)

โดยสิ่งที่มาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ เรานิยมเรียกว่า วัตถุนิยม อันได้แก่

๑. เรื่อง กิน ที่หมายถึง “วัตถุธรรมดา” ซึ่งก็ได้แก่ บุคคลเช่น พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ญาติ เพื่อน หรือคนที่เรารัก เป็นต้น และร่างกายของเราหรือของคนอื่นที่ยังหนุ่ม-สาว งดงาม แข็งแรง ไม่มีโรค ไม่พิการ เป็นต้น รวมทั้งสิ่งของมีค่าเช่น เงิน ที่ดิน บ้านใหญ่โต รถยนต์หรู มือถือมียี่ห้อ นาฬิกาหรู เสื้อผ้าราคาแพง  เป็นต้น ที่ให้ความสุขไม่มากหรือรุนแรง

๒. เรื่อง กาม ที่หมายถึง “วัตถุกาม” (วัตถุกาม หมายถึง หรือสิ่งที่น่ารักน่าใคร่) ซึ่งเรื่องกามก็ได้แก่เรื่องวัตถุนั่นเอง แต่ว่าเป็นวัตถุที่ให้ความสุขที่มากหรือรุนแรงมากกว่าเรื่องกิน โดยวัตถุกามนี้ก็มีเพศตรงข้ามเป็นวัตถุกามชนิดสูงสุด

๓. เรื่อง เกียรติ ที่หมายถึง “เกียรติยศชื่อเสียง” อันได้แก่ ความเด่น-ดัง ความมีเชื่อเสียง ความที่เหนือกว่าผู้อื่น และอำนาจ เป็นต้น

ส่วน ความสุขใจ หมายถึง ความสุขที่เกิดขึ้นทางใจโดยตรง ซึ่งความสุขทางใจนี้สรุปแล้วเกิดมาจาก “การทำความดี” คือจากการมีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ซึ่งความสุขทางใจนี้ก็ได้แก่ การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น (การมีศีล) การช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือมีความสุข (การมีจิตสาธารณะ) การทำหน้าที่ของเราอย่างถูกต้องสมบูรณ์ การทำจิตให้เกิดสมาธิ การพิจารณาธรรมะ การสอนธรรมะ และการทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นต้น

สรุปได้ว่าสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทุกคนอยากได้ (หรืออยากมี) ก็คือ ความสุข ซึ่งความสุขนั้นก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ ความสุขกาย คือ ความสุขที่อาศัยสิ่งหรือเรื่องภายนอกร่างกายมาช่วยทำให้เกิดขึ้น กับ ความสุขใจ คือความสุขที่เกิดขึ้นจากจิตใจที่ดีงามของเรา ที่อยากช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆที่เป็นสิ่งหรือเรื่องภายนอกร่างกายของเรา

อะไรคือสิ่งที่มนุษย์หวาดกลัว?

เมื่อมนุษย์อยากได้ “ความสุข” (หรือความสนุก ความสบาย) เพราะความสุขเป็นความรู้สึกที่น่าพึงพอใจ ซึ่งก็แน่นอนว่ามนุษย์ย่อมกลัวหรือไม่อยากได้ความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความสุขนั่นก็คือ “ความทุกข์” เพราะความทุกข์เป็นความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งความทุกข์นี้ก็คือ ความเศร้าโศก (หรือความเสียใจ ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความไม่สบายใจฯ)

แต่ถ้ามีคนถามว่า อะไรคือความทุกข์ (ความเศร้าโศก) เราก็มักจะตอบว่า ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ความตาย รวมทั้งความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่เรารัก ความที่ต้องประสบกับบุคลหรือสิ่งที่ไม่รัก และความผิดหวัง ฯ

โดย ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ความตาย รวมทั้งความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่เรารัก ความที่ต้องประสบกับบุคลหรือสิ่งที่ไม่รัก และความผิดหวัง ฯ นี้ก็คือ “สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ” ที่ต้องเกิดขึ้นกับชีวิตของเราและของทุกคน ไม่มีใครจะหนีพ้นได้

คนทั่วไปที่เข้าใจว่า “สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจนั้นคือความทุกข์” นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า มันเป็นความเข้าใจผิด (ความเห็นผิด) เพราะแท้จริงแล้ว เหตุที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก) นั้นมันคือกิเลส (หรือตัณหา) ประเภท “ความไม่อยากได้” (กิเลสหรือตัณหามี ๓ ประเภท คือ ความอยากได้ ความไม่อยากได้ และความลังเลใจ)

เรื่องนี้อธิบายได้ว่า สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจทั้งหลายของโลกนั้น มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง คือคนเราเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมาพบกับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก และความผิดหวัง เป็นต้นอยู่แล้วและไม่มีใครจะหนีพ้นได้ ซึ่งสภาพที่ไม่น่าพึงพอใจทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเรานั้น มันแค่ทำให้เรา “เกิดความรู้สึกไม่สบาย” ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น อย่างเช่น เมื่อร่างกายของเรากำลังเจ็บป่วยอยู่ เราก็จะเกิดเพียงแค่ “ความรู้สึกไม่สบาย” ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น ซึ่งเราก็พอจะทนกันได้โดยไม่ยากอยู่แล้ว

แต่ความทุกข์ตัวจริงก็คือ “ความเศร้าโศกหรือความเสียใจ” ที่เกิดจากการที่จิตของเราเกิด ความไม่อยากได้ “ความรู้สึกไม่สบาย” ที่กำลังเกิดอยู่กับชีวิตของเรา อย่างเช่น เมื่อร่างกายของเรากำลังเจ็บป่วยอยู่ แล้วขณะนั้นเราไม่มี “สติ-ปัญญา-สมาธิ” จิตของเราก็จะเกิด “ความไม่อยากได้ความรู้สึกไม่สบายที่เกิดจากความเจ็บป่วยของร่างกายนั้น” ขึ้นมา ซึ่งเมื่อ “ความไม่อยาก” เกิดขึ้น มันก็จะทำให้จิตของเราก็จะเกิด “ความทุกข์” (ความเศร้าโศก) ขึ้นมาทันที เป็นต้น (คือมันมีทั้ง “ความรู้สึกไม่สบายของร่างกาย” และ “ความเศร้าโศกของจิตใจ” เกิดขึ้นมาพร้อมกัน)

แต่ถึงแม้ว่า “ความรู้สึกไม่สบายที่เกิดจากสภาพที่ไม่น่าพึงพอใจใด” จะกำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของเราอยู่ก็ตาม ถ้าจิตของเราไม่เกิด “ความไม่อยากได้ความรู้สึกไม่สบายนั้น” จิตของเราก็จะไม่เกิด “ความทุกข์” (คือไม่เศร้าโศกฯ) อย่างเช่น เมื่อร่างกายของเรากำลังเจ็บป่วยอยู่ แล้วขณะนั้นเรามี “สติ-ปัญญา-สมาธิ” จิตของเราก็จะไม่เกิด “ความไม่อยากเจ็บป่วย” ขึ้นมา ซึ่งก็จะทำให้จิตของเรา “ไม่เกิดความทุกข์” (คือไม่เศร้าโศก) แม้ว่าความรู้สึกไม่สบายของร่างกายที่เกิดจากความเจ็บป่วยจะยังคงมีอยู่ก็ตาม เป็นต้น (คือมีเพียงความรู้สึกไม่สบายของร่างกายเท่านั้นแต่ไม่มีความเศร้าโศก)

สรุปได้ว่า เราต้องเปลี่ยนความเห็นหรือความเข้าใจของเราเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นหมายถึง “ความเศร้าโศก” (ไม่ใช่สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจของธรรมชาติ) และสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็คือกิเลส (ไม่ใช่การเกิดร่างกายขึ้นมา) ซึ่งเมื่อเรามีความเห็นหรือความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติดังนี้แล้ว มันก็ง่ายที่จะศึกษาเรื่องการดับทุกข์ให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเรายังมีความผิดจากความเป็นจริงในเรื่องนี้ เราก็จะศึกษาต่อไปไม่เข้าใจ เพราะมีความเห็นผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว

อะไรคือสิ่งสูงสุดของชีวิต?

คำว่า “สิ่งสูงสุดของชีวิต” หมายถึง สิ่งที่มีประโยชน์คู่ควรกับชีวิตของเรา ซึ่งเราจะมาพิจารณากันดูว่า อะไรคือสิ่งสูงสุดของชีวิต?

คนธรรมดาทั่วไปก็จะมีความเข้าใจว่า ความสุขคือสิ่งสูงสุดของชีวิต ซึ่งความเข้าใจนี้เองที่ทำให้เราทุกคนตั้งแต่เกิดมาจึงได้เกิดความพอใจหรืออยากได้ความสุขอยู่เกือบจะตลอดเวลา และพยายามแสวงหาสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขอยู่ตลอดทั้งชีวิต

 แต่ขอให้เราลองคิดด้วยความตั้งใจ (ด้วยสมาธิ) ดูว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิดความสุขทั้งหลาย (คือร่างกายของเรา บุคคลที่เรารัก วัตถุสิ่งของทั้งหลาย และเกียรติยศชื่อเสียงฯ) นั้น มันไม่เที่ยง คือมันไม่สามารถจะดำรงอยู่ในสภาพที่ให้ความสุขกับเราได้ตลอดไปตามที่เราอยากจะให้เป็น ดังนั้นไม่ช้าก็เร็วสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขทั้งหลาย ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็น “สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ” อย่างแน่นอนอยู่แล้วในอนาคต และเราก็ต้องพบกับสภาพที่ไม่พึงพอใจนั้นอยู่แล้วอย่างแน่นอนในอนาคต

เมื่อสภาพที่ไม่น่าพึงพอใจใด ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา แล้วเราก็ไม่มี “ปัญญากับสมาธิ” มากพอที่จะควบคุมจิตของเราไม่ให้เกิด “ความไม่อยากได้” ต่อ “สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ” ที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของเรานั้นได้ จึงทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ) ขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต เพราะเมื่อเรามีความพอใจในความสุข ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ) ตามมาด้วยเสมออย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

เมื่อความสุขไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต ที่นี้ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วจะมีอะไรที่คู่ควรเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต? ซึ่งเรื่องนี้เราก็ต้องย้อนกลับมาหาคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของชีวิต? ซึ่งคำตอบก็คือ ความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ) และถ้ามีคำถามว่า ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์เลยตลอดชีวิต (คือมีชีวิตที่ไม่เศร้าโศกฯ) นั่นสมควรจะเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิตได้หรือไม่? ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องตอบว่า “ได้” เพราะถ้าเราจะสามารถปฏิบัติให้จิตของเราไม่มีความทุกข์ได้ตลอดชีวิต ก็จะทำให้เราไม่มีปัญหาหรืออะไรที่น่ากลัวอีกต่อไปแล้วตลอดทั้งชีวิต

สรุปได้ว่า “ความไม่มีทุกข์ (ความไม่เศร้าโศกฯ) คือสิ่งสูงสุดของชีวิต ซึ่งความไม่มีทุกข์นี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า เย็น ซึ่งก็หมายถึง ความสงบเย็นของจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากการที่จิตของเราไม่มีกิเลสครอบงำ ซึ่งเมื่อจิตไม่มีกิเลส มันก็จะไม่มีความทุกข์ และเมื่อมีชีวิตไม่มีความทุกข์ (แม้ว่ากำลังจะตาย) มันก็จะมีแต่ความสุขมากบ้างน้อยบ้างเท่านั้นจนตลอดชีวิต

นิพพานคืออะไร?

เราได้ศึกษามาแล้วว่า เมื่อจิตของเราเกิดกิเลสขึ้นมาเมื่อใด จิตของเราก็จะเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ) ขึ้นมาทันที แต่เมื่อใดที่กิเลสในจิตของเราระงับหรือดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) ความทุกข์ของจิตก็จะระงับหรือดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) และเมื่อจิตของเราไม่มีความทุกข์ มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะดั้งเดิมของมัน คือ สงบ เย็น สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย ซึ่งสภาวะนี้เองที่เรียกว่า นิพพาน ที่แปลตรงๆว่า เย็น ซึ่งนิพพานนี้เมื่อสรุปแล้วก็มีอยู่ ๒ ระดับ คือ นิพพานขั้นต้น กับ นิพพานสูงสุด

โดยนิพพานขั้นต้นนั้นก็คือ “ความอุ่นใจ” ที่เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้ทำความผิดหรือชั่วเอาไว้ก่อน รวมทั้งเราก็ได้ทำหน้าที่ต่างๆของเราอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว จึงทำให้จิตของเราเกิดความอุ่นใจขึ้นมาในขณะนั้น ซึ่งเพียงเท่านี้ก็นับว่ามีคุณอย่างยิ่งกับจิตใจของเราแล้ว แต่นิพพานขั้นต้นนี้จะยังมีความทุกข์อ่อนๆ (คือความที่จิตไม่สงบ ไม่ปรกติ ไม่เบา ไม่เย็นฯ) ที่เกิดจากการที่จิตของเรายังมีนิวรณ์ (นิวรณ์ก็คือกิเลสอ่อนๆ) มารบกวนจิตอยู่ จึงทำให้จิตไม่นิพพานสูงสุด (ไม่สงบเย็นสูงสุด)

อีกอย่างนิพพานขั้นต้นนี้บางเวลามันก็มีของมันเองได้ตามธรรมชาติเหมือนกัน คือเมื่อจิตของเราได้ถูกกิเลสแผดเผามากๆเข้า กิเลสมันก็จะดับหายไปได้เองตามธรรมชาติ  คือมันเป็นกลไกลการดับทุกข์ตามธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งถ้าไม่มีนิพพานตามธรรมชาตินี้มาหล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ให้ได้พักผ่อนบ้าง เราคงเป็นบ้าตายกันไปหมดแล้ว เพราะถูกกิเลสแผดเผาอยู่ตลอดทั้งวัน ดังนั้นเราจึงควรรู้จักพระคุณของนิพพาน จะได้ไม่เกลียดกลัวนิพพาน แล้วพยายามแสวงหานิพพานสูงสุดกันต่อไป

ส่วนนิพพานสูงสุดนั้นก็คือ ความสงบเย็นของจิตใจอย่างสูงสุด เพราะไม่มีกิเลสและนิวรณ์มารบกวนจิต จึงทำให้จิตนิพพานหรือสงบเย็นอย่างสูงสุด ซึ่งวิธีการทำให้จิตนิพพานสูงสุดนั้นก็คือ การใช้สมาธิมาดับกิเลสและนิวรณ์

 อีกอย่างนิพพานทั้งสองอย่างนี้ ก็ยังมีทั้ง นิพพานชั่วคราว และ นิพพานถาวร  ซึ่งนิพพานชั่วคราวก็คือการที่จิตนิพพานเป็นครั้งคราวตามการปฏิบัติสมาธิหรือตามธรรมชาติ ส่วนนิพพานถาวรก็คือ การที่จิตสงบเย็นอยู่ตลอดเวลาจนตลอดชีวิตโดยไม่กลับมามีความทุกข์ใดๆอีก ซึ่งการที่จิตจะนิพพานถาวรได้ ก็ต้องมีการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

เราจะสัมผัสนิพพานได้อย่างไร?

ถ้าเรามาดูจิตของเราในแต่ละวัน เราก็จะพบว่า เราก็มีนิพพานหรือไม่มีความทุกข์ (คือไม่เศร้าโศกฯ) กันอยู่แล้วบ่อยๆ เพราะกิเลสมันก็ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา คือกิเลสมันจะเกิดก็เฉพาะเมื่อมีเรื่องภายนอกที่รุนแรงมากระตุ้นเท่านั้น เช่น เมื่อเราได้รู้ว่าคนที่เรารักได้จากเราไป จึงทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา หรือเมื่อเราได้พบเห็นเพศตรงข้ามที่น่ารักน่าใคร่ แล้วเราก็เกิดความอยากจะได้เขามาเป็นของเรา แต่เมื่อเราก็ไม่ได้ตามที่เราอยากจะได้ (คือผิดหวัง) จึงทำให้เกิดความทุกข์ (ความเสียใจ) ขึ้นมา แต่พอเราไปสนเรื่องอื่น หรือลืมเรื่องเหล่านี้ไป ความทุกข์จากเรื่องเหล่านี้ก็จะดับหายไปทันที เป็นต้น

ที่นี้ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อเราก็มีนิพพานตามธรรมชาติกันอยู่แล้ว แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องมาสอนให้เรานิพพานอีก? ซึ่งคำตอบก็คือ เพราะนิพพานตามธรรมชาติของเรานี้ มันยังเป็นแค่นิพพานขั้นต้น รวมทั้งยังเป็นนิพพานชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเพียงเท่านี้มันยังไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต ดังนั้นพระพุทธจ้าจึงได้มาสอนให้เราได้รับสิ่งสูงสุดของชีวิต คือมาสอนวิธีการทำให้จิตนิพพานสูงสุดและถาวร

พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

ในสมัยพุทธกาลนั้น ก็มีนักบวชหรือฤๅษีมากมายในยุคนั้น เขาก็พยายามค้นหาวิธีการดับทุกข์กันอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งวิธีการดับทุกข์ของฤๅษียุคนั้นก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ การทรมานร่างกายเพื่อให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลส และการใช้สมาธิสูงๆมาดับกิเลส ซึ่งฤๅษีในยุคนั้นเขาก็ค้นพบกันมานานแล้วว่า “ความทุกข์เกิดมาจากกิเลส และวิธีการดับทุกข์ก็ต้องดับที่กิเลส”

โดยวิธีการดับทุกข์ของฤๅษีของยุคนั้น เขาก็ใช้วิธีการฝึกจิตให้มีสมาธิสูงๆ แล้วเอาสมาธิสูงๆนั้นมาดับกิเลส แล้วความทุกข์ก็จะดับไปได้เอง ซึ่งมันก็ดับทุกข์ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันไม่ถาวร (ไม่ตลอดชีวิต) เพราะเมื่อจิตไม่มีสมาธิเมื่อไร ความทุกข์ก็จะยังกลับมาเกิดขึ้นได้อีก (คือมันดับได้เพียงชั่วคราว) จึงต้องทำแต่สมาธิอยู่อย่างเดียวโดยไม่ต้องทำอะไร ซึ่งคนธรรมดามันทำไม่ได้

 จนกระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงออกบวชเพื่อค้นหาวิธีการดับทุกข์เหมือนนักบวชหรือฤๅษีของยุคนั้น โดยพระองค์ก็ได้ทรงเคยฝึกฝนสมาธิระดับสูงตามอย่างฤๅษีในยุคนั้นมาก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่ค้นพบวิธีการดับทุกข์อย่างถาวรได้ ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงพยายามค้นหาวิธีการใหม่ที่จะช่วยให้ดับทุกข์ได้อย่างถาวร

โดยต่อมาพระองค์ได้ทรงค้นพบว่า ถ้าทำให้กิเลสมันอ่อนแรงลงก่อน เมื่อกิเลสมันอ่อนแรงลงแล้ว ทีนี้ก็ใช้สมาธิตามธรรมชาติที่คนธรรมดาก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วนี้มาดับมันได้ (คือไม่ต้องใช้สมาธิสูงๆก็สามารถดับกิเลสได้เหมือนกัน) อีกทั้งถ้าใครสามารถปฏิบัติอย่างนี้ได้อย่างต่อเนื่องนานๆ ก็จะสามารถดับกิเลสอย่างถาวรได้อีกด้วย และทำให้จิตนิพพานหรือไม่มีความทุกข์อย่างถาวรได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการนี้แม้คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งวิธีการทำให้กิเลสอ่อนแรงลงนี้ก็คือ การสอนให้จิตเกิดปัญญา (ปัญญาคือความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้)

การค้นพบวิธีการดับทุกข์โดย “ใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน” นี้เองที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนมาเป็น “พุทธะ” คือเป็นผู้รู้แจ้งโลกและชีวิตตามความเป็นจริง และเมื่อพระองค์ทรงค้นพบวิธีการดับทุกข์ที่ถูกต้องนี้แล้ว พระองค์จึงได้ทรงนำความรู้ที่พระองค์ทรงค้นพบนี้มาสอนแก่คนที่สนใจจะดับทุกข์ ซึ่งคำสอนเรื่องการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนนั้นเรียกว่า อริยสัจ ๔  

อริยสัจ ๔ คืออะไร?

อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งคำว่าประเสริฐหมายถึง มันมีประโยชน์หรือคุณค่าสูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ซึ่งความจริงทั้ง ๔ นั้นก็ได้แก่

๑. ทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ ซึ่งก็คือ ความเศร้าโศก (เสียใจ) ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจฯ

๒. สมุทัย หมายถึง เหตุของความทุกข์ ซึ่งก็คือกิเลสหรือตัณหา (คือความอยากได้ ไม่อยากได้ ลังเลใจ)

๓. นิโรธ หมายถึง ความดับหายไปของความทุกข์  หรือ ความไม่มีทุกข์ ซึ่งเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพาน (สงบเย็น)

๔. มรรค หรือ อริยมรรค หมายถึง วิธีการดับทุกข์ ซึ่งสรุปอยู่ที่ ให้ใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน

คำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ นี้จัดเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนแก่มนุษย์ ถ้าเราสามารถศึกษาอริยสัจ ๔ จนเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งได้ เราก็จะเกิดปัญญาที่เข้าใจและเห็นแจ้งคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าได้

อะไรคือความทุกข์?

ความทุกข์นี้พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ว่า เป็นเรื่องที่เราจะต้อง “รู้จักให้ถูกต้อง” ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อเรา รู้จักความทุกข์ถูกต้องแล้ว เราก็จะรู้จักเหตุของความทุกข์ และความรู้สึกเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ รวมทั้งวิธีการดับทุกข์ได้อย่างถูกต้องตามไปด้วยทั้งหมด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารู้จักความทุกข์ผิด เราก็จะรู้จักเหตุของทุกข์ผิด และรู้จักความไม่มีทุกข์ผิด รวมทั้งรู้จักวิธีการดับทุกข์ผิดตามไปด้วยทั้งหมด

คนธรรมดาที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องความทุกข์ให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องนั้น ก็จะมีความเข้าใจผิดว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย รวมทั้งความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความผิดหวังฯ นั้นคือความทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าสอน

แต่ความจริงแล้ว ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นคือ ความเศร้าโศกฯ หรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความเร่าร้อนใจ ความไม่สบายใจฯ ที่เกิดจากการที่จิตของเราเกิด “ความไม่อยากได้ฯ” ต่อความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก เป็นต้นนั้น

พระพุทธเจ้าได้ทรงสรุปเรื่องความทุกข์เอาไว้ว่า “ความยึดมั่นในชีวิต (ร่างกายกับจิตใจ) ของเราว่าเป็นตัวเรา-ของเรา นั้นคือความทุกข์” ซึ่งเรื่องนี้อธิบายได้ว่า ความจริงแล้วร่างกายกับจิตใจของเรานี้ มันไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริงๆ (ที่เรียกว่าอนัตตา) และมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป (ที่เรียกว่าอนิจจัง) รวมทั้งมันยังมี “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” (คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย รวมทั้งความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความผิดหวังฯ) อยู่ด้วยเป็นธรรมดาของมัน (ที่เรียกว่าทุกขัง) และถ้าเราไปยึดถือเอา “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” นี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเราเข้าเมื่อใด ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ) ขึ้นมาทันที (เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดในหัวข้อต่อๆไป)

อะไรคือเหตุของความทุกข์?

เมื่อเรารู้แล้วว่า ความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ)  ก็คือการที่จิตเกิดความยึดถือ (อุปาทาน-ความยึดมั่นถือมั่น) ว่าร่างกายกับจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา ก็จะทำให้เรารู้ต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้จิตเกิดความยึดถือนี้ขึ้นมาก็คือ “กิเลสหรือตัณหา” ประเภท “ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น” ซึ่งเหตุของความทุกข์นี้พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ละเว้น (คือระวังอย่าให้เกิดและทำลายรากเหง้าของมันด้วย)

โดยคำว่า กิเลส แปลว่า สิ่งสกปรก หรือ สิ่งทำให้เกิดความสกปรก คือธรรมชาติพื้นฐานของจิตมนุษย์นั้นจะมีความสะอาดหรือบริสุทธิ์อยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เมื่อมันเกิดอาการของกิเลสขึ้นมา แล้วมันทำให้ความสะอาดหรือบริสุทธิ์ของจิตหายไป จึงได้เรียกอาการนี้กิเลส (แต่ถ้ามองอาการของกิเลสว่าเป็นเหตุให้จิตเกิดความทุกข์ เรามักจะเรียกว่าเป็น ตัณหา ที่หมายถึง ความอยากเพื่อตัวเรา) ซึ่งอาการของกิเลสนี้สรุปได้ ๓ ประเภท คือ

๑. พอใจ คือเป็นอาการดึงเอาเข้ามาหาตัวเอง ซึ่งก็ได้แก่ ยินดี หรือ ความรัก ชอบ ฯ (แต่ถ้ามองว่าเป็นตัณหาก็ได้แก่ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น) ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทบวก

๒. ไม่พอใจ คือเป็นอาการผลักออกไปจากตัวเอง ซึ่งก็ได้แก่ ยินร้าย หรือ ความโกรธ เกลียด กลัว เบื่อ รำคาญ ฯ (แต่ถ้ามองว่าเป็นตัณหาก็ได้แก่ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น หรือ ความอยากหนี อยากทำลาย) ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทลบ

๓. ลังเลใจ คือเป็นอาการไม่แน่ใจว่าจะเอาเข้ามาดีหรือผลักออกไปดี แต่ก็ยังคงวนเวียนอยู่สิ่งที่กำลังสัมผัสอยู่ ซึ่งก็ได้แก่ ความไม่แน่ใจ สงสัย ตัดสินใจไม่ได้ งง เซ่อ ฯ (แต่ถ้ามองว่าเป็นตัณหาก็ได้แก่ ความอยากมีหรืออยากเป็นอยู่ในสภาพที่น่าพอใจตลอดไป) ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทกลางๆ

“กิเลสประเภทบวก” นั้นมันก็ทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ได้เหมือนกัน แต่เป็น “ความทุกข์ซ่อนเร้น” คือเมื่อเราเกิดความรักหรือความพอใจในสิ่งใดอยู่ จิตของเราก็จะเกิดความเร่าร้อนใจ ความกระวนกระวายใจอยู่ลึกๆ แล้วมันก็ทำให้จิตของเราเกิดความไม่ปรกติ ไม่สงบ ไม่เย็น ไม่สดชื่นแจ่มใส ไม่เบาสบาย (คือไม่นิพพานสูงสุด) ซึ่งเรื่องนี้เราต้องมาสังเกตจากจิตของเราเองจริงๆจึงจะพบ

ส่วน “กิเลสประเภทลบ” นั้น มันทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ที่รุนแรงและเห็นๆได้ง่าย (ความเศร้าโศกฯ)  จึงเรียกว่าเป็น “ความทุกข์เปิดเผย” ซึ่งความทุกข์เปิดเผยนี้เอง ที่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ปรกติหรือธรรมดาทั้งหลาย (คนไม่ปรกติและคนพิเศษจะไม่กลัวความทุกข์)

ส่วน “กิเลสประเภทกลางๆ” นั้น แม้มันจะยังไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งอย่างซ่อนเร้นและเปิดเผยก็ตาม แต่มันก็ทำให้จิตเกิดความรู้สึกไม่ปรกติ ไม่สงบ ไม่เย็น ไม่เบาสบาย (คือไม่นิพพานสูงสุด) ได้เหมือนกัน คือมันจัดเป็นกิเลสอ่อนๆที่เรียกว่านิวรณ์ (สิ่งรบกวนจิต) เกิดขึ้นมารบกวนจิตของเราให้เกิด “ความรู้สึกรำคาญใจหรือความไม่สบายใจอ่อนๆ” อยู่เกือบจะตลอดทั้งวัน ซึ่งความทุกข์ประเภทนี้เรียกว่าเป็น “ความทุกข์อ่อนๆ”  

สรุปได้ว่า กิเลสหรือตัณหาคือสาเหตุให้เกิดความทุกข์ ทั้งความทุกข์ซ่อนเร้น ความทุกข์เปิดเผย และความทุกข์อ่อนๆ ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เกิดกิเลสหรือตัณหาขึ้นมานั้น พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อวิชชา ที่แปลว่า ความรู้ผิด ซึ่งความรู้ผิดนี้ก็คือ ความรู้ว่าจิตใจของเรานี้มันเป็นเราหรือตัวเราจริงๆ ซึ่งอวิชชานี้นักวิทยาศาสตร์จะเรียกว่าเป็น สัญชาติญาณแห่งตัวตน คือเป็น “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตโดยที่ไม่มีใครสอน (ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดในหัวข้อต่อๆไป)

อะไรคือความไม่มีทุกข์?

เมื่อเราได้รู้มาแล้วว่า กิเลสหรือตัณหาเห็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ดังนั้นเมื่อใจที่จิตของเราไม่มีกิเลสหรือตัณหา จิตของเราก็จะไม่มีความทุกข์ และเมื่อใดที่จิตของเราไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพาน หรือ สงบเย็นทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งนิพพานนี้พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้งแก่จิตของเราจริงๆ โดยนิพพานนี้ก็มีหลายระดับ คือ

เมื่อใดที่จิตของเราไม่มีความทุกข์เปิดเผย (คือไม่มีความเศร้าโศกฯ) แต่ยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ (คือยังมีความเร่าร้อนใจอยู่) จิตก็จะยังไม่นิพพาน เพราะยังมีความเร่าร้อนใจอย่างรุนแรงมารบกวนจิตอยู่

เมื่อใดที่จิตของเราไม่มี ทั้งความทุกข์เปิดเผยและความทุกข์ซ่อนเร้น แต่ยังมีความทุกข์อ่อนๆอยู่ จิตก็จะมีนิพพานขั้นต้น (คือความอุ่นใจ) แต่ไม่ยังนิพพานสูงสุด (ความสงบเย็นสูงสุด) เพราะยังมีความรู้สึกรำคาญใจรบกวนจิตอยู่

แต่ถ้าเมื่อใดที่จิตของเราไม่มีทั้งความทุกข์เปิดเผย ความทุกข์ซ่อนเร้น และความทุกข์อ่อนๆ เมื่อนั้นจิตของเราก็จะนิพพานสูงสุดทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

อีกอย่างนิพพานทั้งหมดนี้ก็ยังมีทั้ง นิพพานชั่วคราว และ นิพพานถาวร ซึ่งนิพพานชั่วคราวก็คือนิพพานที่ปรากฏเป็นครั้งคราวในชีวิตประจำวันของเรา ส่วนนิพพานถาวรนั้นก็คือ นิพพานที่ปรากฏกับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาจนตลอดชีวิต

อะไรคือวิธีการดับทุกข์?

เมื่อเรารู้แล้วว่า เมื่อจิตไม่มีกิเลส (หรือตัณหา) จิตก็จะนิพพาน ดังนั้นจึงทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า วิธีการทำให้จิตนิพพานก็คือ การทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้น หรือทำให้กิเลสที่กำลังเกิดขึ้น ให้ดับหายไป ซึ่งสิ่งที่จะทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้ดับหายไปได้นั้นก็คือ จิตที่เข้มแข็ง ซึ่งจิตที่เข้มแข็งก็คือ จิตที่เราควบคุมได้ ซึ่งจิตที่ควบคุมจิตได้นั้นก็คือ จิตที่มีสมาธิ ซึ่งการใช้สมาธิมาดับกิเลสนั้น พวกฤๅษีหรือนักบวชใสมัยพุทธกาล เขาก็ค้นพบกันมานานแล้วก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้เสียอีก

แต่การใช้เพียงสมาธิมาดับกิเลสนั้น มันทำได้ยาก เพราะต้องฝึกจิตให้มีสมาธิขั้นสูงๆจึงจะดับทุกข์ได้ ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปจะทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย อีกทั้งสมาธิก็ยังดับได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า ถ้าเราสามารถทำให้กิเลสอ่อนแรงลงก่อน มันก็ง่ายที่จะดับมันได้โดยไม่ต้องใช้สมาธิสูงๆก็ได้ คือใช้เพียงสมาธิที่เราก็พอจะมีกันอยู่แล้ว ก็สามารถดับกิเลสที่อ่อนแรงลงแล้วได้ ซึ่งวิธีนี้แม้คนธรรมดาก็สามารถปฏิบัติได้

วิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้มาก” โดยหัวใจของการปฏิบัตินั้นก็อยู่ที่ “ปัญญา” คือความเข้าใจว่า “ร่างกายกับจิตใจของเรานั้นมันไม่เที่ยง มีภาวะที่ต้องทน และไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง” ซึ่งปัญญานี้เองที่พระพุทธเจ้าสอนให้นำมาทำงานคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ปัญญาคืออะไร?

คำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้นั้นก็คือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ (ความรู้ใดที่นำมาใช้ดับทุกข์ไม่ได้ ความรู้นั้นไม่เรียกว่าปัญญา) ซึ่งความรู้ที่ดับทุกข์ได้นั้นก็สรุปอยู่ที่ อริยสัจ ๔ แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของอริยสัจ ๔ ก็คือ ความรู้ที่ทำให้กิเลสอ่อนแรงลง

โดยความรู้ที่ทำให้กิเลสอ่อนแรงลงนั้นก็คือ ความรู้เรื่อง ร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ของเรานี้เป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (มีภาวะที่ต้องทน) และ อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) ซึ่งพวกฤๅษีหรือนักบวชในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนชีพอยูนั้น เขาก็มีความรู้นี้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเขายังเชื่อว่าจิตใจของเราคนเรานี้เป็นอัตตาอยู่ จนกระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงค้นพบว่า จิตใจของคนเรานี้เป็นอนัตตา จึงทำให้พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นประพุทธเจ้าขึ้นมา ดังนั้นความรู้เรื่องอนัตตาจึงเป็นหัวใจของปัญญาที่เราต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อจะได้เกิดปัญญาขึ้นมาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้

ขันธ์ ๕ คืออะไร?

คำว่า ขันธ์ แปลว่า กลุ่ม หรือ กอง หรือ ส่วน (ถ้าจะพูดถึงเรื่องขันธ์ให้ถูกต้อง เราต้องพูดให้มีคำว่าขันธ์ต่อท้ายด้วยเสมอ คือ รูปขันธ์, วิญญาณขันธ์, สัญญาขันธ์. เวทนาขันธ์, และสังขารขันธ์ แต่เรามักชอบพูดสั้นๆว่า รูป, วิญญาณ, สัญญา, เวทนา, และ สังขารเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ค่อยถูกต้องนัก) ซึ่งชีวิตของคนเรานี้จะประกอบด้วยส่วน ๕ ส่วน อันได้แก่

๑. รูป คือส่วนที่เป็น รูป หรือ ร่างกาย ที่เกิดขึ้นจาก ธาตุ (คุณสมบัติ) ทางวัตถุ ๔ อย่าง มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งธาตุทั้ง ๔ ก็ได้แก่ ธาตุดิน (ของเข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว), ธาตุไฟ (ความร้อน), และ ธาตุลม (ก๊าซ)

๒. วิญญาณ คือส่วนที่เป็น การรับรู้ ซึ่งการรับรู้นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย (คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และ ใจ) ได้กระทบกับธรรมชาติหรือสิ่งต่างๆของโลก (คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งสัมผัสกาย, และ สิ่งสัมผัสใจ)  

๓. สัญญา คือส่วนที่เป็น การจำสิ่งที่รับรู้ได้ ซึ่งก็ได้แก่การจำรูปที่เห็นได้ว่าเป็นรูปของใครหรืออะไร, จำเสียงที่ได้ยินได้ว่าเป็นเสียงของใครหรืออะไร, จำกลิ่นที่ได้ดมว่าเป็นกลิ่นของอะไร  เป็นต้น

๔. เวทนา คือส่วนที่เป็น ความรู้สึกจากการจำได้ คือ เมื่อเกิดการจำสิ่งใดได้แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกจากการจำได้นั้นขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งความรู้สึกนี้ก็เกิดขึ้นจากการจำ “รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งสัมผัสกาย, และสิ่งสัมผัสใจ” ได้ นั่นเอง โดยความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้จะสรุปได้ ๓ ความรู้สึก คือ (๑) สุขเวทนา คือความรู้สึกที่น่าพึงพอใจ หรือ ความสุข (๒) ทุกขเวทนา คือความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจ (๓) อุทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกกลางๆ ที่ไม่ใช่ทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา

๕. สังขาร คือส่วนที่เป็น การปรุงแต่งของจิต ซึ่งการปรุงแต่งของจิตก็คือ อาการหรือกิริยาของจิต ซึ่งสรุปได้ ๒ อย่าง คือ อาการของกิเลส และ การคิดของจิต

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ย่อลงเป็น รูป (วัตถุ) กับ นาม (สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ) คือ รูป (ร่างกาย) ก็จัดเป็น รูป ส่วน วิญญาณ, สัญญา, เวทนา, และ สังขาร จัดเป็น นาม ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า ร่างกาย (ธาตุ ๔) กับ จิตใจ (สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) นั่นเอง โดยรูปกับนามนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะเกิดเป็นชีวิตขึ้นมาได้ ถ้าแยกกันเมื่อใด ก็จะดับหายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที

ขันธ์ ๕ ทำงานอย่างไร?

ร่างกาย หรือ “รูป” ที่ยังไม่ตายจะมี “จุดเชื่อมต่อ” อยู่ ๖ จุด (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) เพื่อเอาไว้เชื่อมต่อกับ “สิ่งหรือธรรมชาติของโลก” (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และสิ่งสัมผัสใจ) ซึ่งขณะที่เรายังตื่นอยู่และจุดเชื่อมต่อก็กำลังทำงานอยู่ แล้วเกิดการเชื่อมต่อขึ้น  (เช่น ตาเชื่อมต่อกับรูป หูเชื่อมต่อกับเสียง ฯ) ก็จะทำให้เกิด “วิญญาณ” หรือการรับรู้ขึ้นมาที่จุดเชื่อมต่อนั้นทันที (เช่น เกิดการรับรู้ทางตา การรับรู้ทางหูฯ)

เมื่อเกิดการรับรู้สิ่งใดขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิด “สัญญา” หรือการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ขึ้นมาด้วยทันที (เช่น จำรูปที่เห็นนั้นได้ว่าเป็นรูปอะไร หรือเกิดการจำเสียงที่ได้ยินนั้นได้ว่าเป็นเสียงอะไรฯ) เมื่อจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้แล้ว ก็จะเกิด “เวทนา” หรือความรู้สึกต่อสิ่งที่จำได้นั้นขึ้นมาด้วยทันที (คือเกิดสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา)

เมื่อเกิดเวทนาใดขึ้นมาแล้ว ถ้าขณะนี้ “จิตไม่มีสติ-ปัญญา-สมาธิ” มันก็จะเกิด “สังขาร” หรือการปรุงแต่งให้เกิด “กิเลส” (ความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ) ขึ้นมาทันที รวมทั้งยังมี “การคิดพิจารณา” ไปตามอำนาจของกิเลสอีกด้วย แล้วก็ทำให้จิตเกิด “ความทุกข์” (ทุกซ่อนเร้น ทุกข์เปิดเผย ทุกข์อ่อนๆ) ขึ้นมาด้วยทันที

แต่ถ้าเกิดเวทนาใดขึ้นมาแล้วก็ตาม ถ้าขณะนี้ “จิตมีสติ-ปัญญา-สมาธิ” มันก็จะ “ไม่ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสขึ้นมา” แล้วจิตก็จะ “ไม่เกิดความทุกข์” เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะ “นิพพานหรือสงบเย็น” ทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

สรุปได้ว่า ร่างกายที่ยังดีอยู่ (คือยังไม่ตาย) จะปรุงแต่งให้เกิดวิญญาณที่เป็นพื้นฐานของจิตใจขึ้นมาก่อน แล้ววิญญาณจึงปรุงแต่งให้เกิดสัญญา เวทนาและ สังขารขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งนี่แสดงถึงความจริงของชีวิตว่า ถ้าไม่มีร่างกายที่ยังไม่ตาย ก็จะไม่มีจิตใจ (คือไม่มีวิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร) 

ทำอย่างไรจึงจะเกิดปัญญา?

ก่อนที่จะศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เกิดความเข้าใจ เราจะต้องรู้จักก่อนว่า ศาสนาของโลกนั้นสรุปได้ ๒ ประเภท คือ ศาสนาประเภท “เทวนิยม” กับศาสนาประเภท “อเทวนิยม”

โดยศาสนาประเภท “เทวนิยม” นั้นเป็นศาสนาที่ยอมรับ “สิ่งที่เหนือธรรมชาติ” (พระเจ้า หรือ เทพเจ้า) ว่าเป็น “สิ่งที่มีอำนาจสูงสุด” ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ (คือสร้างทุกสิ่งขึ้นมา รักษาทุกสิ่งเอาไว้ และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา)

ส่วนศาสนาประเภท “อเทวนิยม” นั้น เป็นศาสนาที่ยอมรับ “ธรรมชาติ” ว่าเป็นสิ่งสูงสุด (คือไม่ยอมรับสิ่งที่เหนือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุด) โดยพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา

โดยพระพุทธเจ้าจะสอนว่า ธรรมชาตินั้นมีกฎพื้นฐานอยู่กฎหนึ่ง ที่ทุกกฎของธรรมชาติ จะต้องขึ้นอยู่กับกฎพื้นฐานนี้ทั้งสิ้น ซึ่งกฎพื้นฐานนี้เองที่เป็น “สิ่งที่มีอำนาจสูงสุด” ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ซึ่งกฎนี้เรียกว่าเป็น “กฎสูงสุดของธรรมชาติ”

โดยกฎสูงสุดของธรรมชาตินั้นมีอยู่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” (คำว่า สิ่ง หมายถึง ทุกสิ่งทั้งวัตถุและจิตใจ ส่วนคำว่า เหตุ หมายถึง เหตุใหญ่เพียงเดียวที่เด่นหรือเห็นได้ง่าย ส่วนคำว่า ปัจจัย หมายถึง เหตุย่อยๆที่มีได้หลายเหตุ) เรื่องนี้อธิบายได้ว่า การที่สิ่งใดจะเกิดขึ้นมา จะต้องมีทั้งเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าขาดเหตุหรือปัจจัยใดไป สิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไปทันที อย่างเช่น แสงเทียนก็เกิดมาจาก “เหตุ”คือตัวเราที่เป็นผู้จุดเทียนขึ้นมา โดยมี “ปัจจัย” ก็ได้แก่ เทียน ไม้ขีด อากาศที่บริสุทธิ์ และอุณหภูมิที่พอเหมาะ ฯ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ชาวพุทธต้องรู้ก็คือ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัย และตั้งอยู่ได้เพราะยังมีเหตุและปัจจัย แต่จะดับหายไปก็เพราะขาดเหตุหรือปัจจัย” ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงของธรรมชาติว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุปัจจัย

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยทั้งหลายนี้เรียกว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นจะมีความจริงซ่อนอยู่ ๓ ประการ อันได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (มีภาวะที่ต้องทน) อนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง)

สรุปได้ว่าความรู้เรื่อง “สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นี้เอง ที่เป็นปัญญาที่ทำให้กิเลสอ่อนแรงลงได้ ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาเรื่อง “ร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติร่วมกับสมาธิเพื่อดับทุกข์กันต่อไป

อนิจจังคืออะไร?

คำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า นิจจัง ที่แปลว่า เที่ยง โดยคำว่าเที่ยงก็หมายถึง มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงและสามารถตั้งอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดรได้ (คือเป็นอมตะ)

ความไม่เที่ยงของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นก็คือ มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถตั้งอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดรได้ (ไม่เป็นอมตะ) เพราะสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (ทั้งวัตถุและจิตใจ) ที่เกิดขึ้นมา จะต้องดับหายไปอย่างแน่นอน (คือสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ)

เมื่อเรานำเอาร่างกายของเรามาพิจารณาถึงความไม่เที่ยง เราก็จะพบว่าร่างกายของเรานั้นมันไม่เที่ยง คือเกิดมาแล้วก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายก็ต้องดับ (แตกสลาย) หายไปอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเรานำเอาร่างกายของเราและของทุกคนมาพิจารณาถึงความไม่เที่ยงด้วยสมาธิ (ความตั้งใจ) เช่นนี้ ก็จะทำให้กิเลสอ่อนแรงลงได้

เมื่อเรานำเอาจิตใจ (วิญญาณ, สัญญา, เวทนา, สังขาร) ของเรามาพิจารณาความไม่เที่ยง เราก็จะพบว่า เมื่อเราตื่นขึ้นมา ก็เรียกว่าจิตได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อเราหลับสนิทและไม่ฝัน ก็เรียกว่าจิตดับไปแล้ว อีกอย่างจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ถ้าร่างกายตาย จิตใจก็ต้องดับตามไปด้วยทันที (คือถ้าไม่มีร่างกายที่ยังไม่ตาย ก็จะไม่มีจิตใจ) ซึ่งเมื่อเรานำเอาจิตใจของเราและทุกคนมาพิจารณาถึงความไม่เที่ยงด้วยสมาธิ (ความตั้งใจ) เช่นนี้ ก็จะทำให้กิเลสอ่อนแรงลงได้

ที่สำคัญก็คือ ให้เรานำเอาความสุขที่เราพึงพอใจ มาพิจารณาความไม่เที่ยง เราก็จะพบว่า ความสุขนั้นมันมีการเกิดและดับอยู่เสมอ ไม่สามารถตั้งอยู่ตลอดเวลาได้ คือเมื่อมีสิ่งภายนอก (เช่นวัตถุนิยม) มาสัมผัสจิตใจ จึงจะเกิดความสุขขึ้นมา แต่เมื่อวัตถุนิยมนั้นได้พลัดพรากจากเราไป ความสุขนั้นก็จะดับหายไป อีกทั้งความสุขที่เราเคยได้สัมผัสมาตลอดทั้งชีวิต ก็ได้ดับหายไปหมดสิ้นแล้ว และถึงแม้เราจะได้รับความสุขใหม่ๆอีกอย่างมากมายสักเท่าใดก็ตาม สุดท้ายมันก็จะดับหายไปหรือว่างเปล่าเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทุกครั้ง ซึ่งเมื่อเรานำเอาความสุขมาพิจารณาถึงความไม่เที่ยงด้วยสมาธิ (ความตั้งใจ) เช่นนี้ ก็จะทำให้กิเลสอ่อนแรงลงได้

ทุกขังคืออะไร?

คำว่า ทุกขัง แปลว่า ทน หรือ ทนยาก ซึ่งก็ตรงข้ามกับคำว่า สุขัง ที่แปลว่า สบาย หรือ ทนง่าย ซึ่งความหมายของคำว่า “สุขัง” ก็คือ ไม่มีปัญหา หรือ มีปัญหาน้อย ซึ่ง ปัญหา ก็คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์หรือความรู้สึกที่ทนได้ยาก นั่นเอง คือถ้าสิ่งใดไม่มีปัญหาเลยหรือมีน้อยก็เรียกว่า สุข (ภาษาไทย) หรือ สุขัง (ภาษาบาลี) แต่ถ้าสิ่งใดมีปัญหามากก็เรียกว่า ทุกข์ (ภาษาไทย) หรือ ทุกขัง (ภาษาบาลี)

การที่ “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งหลายมีทุกข์หรือทุกขัง (คือปัญหา) นั้นก็อธิบายได้ว่า การที่สิ่งปรุงแต่งนั้น มันต้องอาศัยสิ่งอื่นหลายๆสิ่ง มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งอื่นแต่ละสิ่งที่มาร่วมกันปรุงแต่งนั้น มันมีคุณสมบัติหรือธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน (คือแตกต่างกัน) เมื่อสิ่งที่มาปรุงแต่งทั้งหลายมันมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน แต่มันถูกธรรมชาตินำมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ใดขึ้นมาแล้ว มันจึงไม่สามารถที่จะร่วมมือกันปรุงแต่งให้ตั้งอยู่อยู่นิ่งๆตลอดไปชั่วนิรันดรได้ (คือไม่เที่ยง) เพราะความแตกต่างกันนั้น มันทำให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนี่ก็ทำให้สรุปได้ว่า สิ่งปรุงแต่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหลาย มีภาวะที่ต้องทนต่อความขัดแย้งภายในตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา

การที่สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย “ต้องทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก” นี้เองที่เรียกว่า ทุกขัง ที่แปลว่า ทน หรือ ทนได้ยาก (สิ่งปรุงแต่งบางสิ่งก็อาจจะมีภาวะที่ต้องทนมาก แต่บางสิ่งก็อาจจะมีภาวะที่ต้องทนน้อย) อย่างเช่น อะตอมก็ต้องทนเกาะกุม โปรตอน นิวตรอน และ อิเลกตรอน ที่มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นอะตอมขึ้นมา เอาไว้ด้วยความยากลำบาก ถ้าอะตอมมันไม่ทนเกาะกุมโปรตอน นิวตรอน และ อิเลกตรอน เอาไว้ ก็จะทำให้ลักษณะหรือสภาพของความเป็นอะตอมของมันดับหายไป (แตกสลาย) ทันที เป็นต้น

ถ้าเรามาเพ่งพิจารณาดูที่ร่างกายของเราก็จะพบว่า เมื่อร่างกายเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมาพบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” อันได้แก่ ความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บ ความปวด ความอึดอัด โรคต่างๆ รวมทั้งภัยอันตรายมากมาย ฯ  ซึ่งภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจของร่างกายนี้ จะทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกาย (ความรู้สึกทรมานกาย) ขึ้นมา ซึ่งการพิจารณานี้ ก็จะทำให้จิตของเรารู้สึกถึงภาวะของทุกขังที่เกิดกับร่างกายของเราได้ อันจะทำให้กิเลสในจิตใจของเราอ่อนแรงลงได้

อีกอย่างเมื่อเรามาพิจารณาถึงทุกขังหรือภาวะที่ต้องทนของจิตใจเรา เราก็จะพบว่า เมื่อจิตใจของเราเกิดกิเลสหรือตัณหาซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ขึ้นมาเมื่อใด ภาวะของทุกขัง ของจิตใจเราก็จะเกิดขึ้นมาอย่างรุนแรงทันที (คือเกิดความทุกข์ขึ้นมาทั้งความทุกข์ซ่อนเร้น ความทุกข์เปิดเผย และความทุกข์อ่อนๆ) ซึ่งความเข้าใจและความเห็นแจ้งถึงเรื่องทุกขังของจิตใจเราเองนี้ ก็จะทำให้กิเลสในจิตใจของเราเราอ่อนแรงลงได้

แต่ในกรณีที่จิตใจของเราไม่มีกิเลสหรือตัณหาครอบงำ ภาวะของทุกขังของจิตก็จะยังมีอยู่เสมอ เพราะจิตเป็นสิ่งปรุงแต่งที่ต้องมีภาวะของทุกขังอยู่ด้วยเสมอ แต่ว่ามันมีน้อยมาก คือภาวะของทุกขังมันได้ลดลงจนถึงที่สุดเท่าที่มันจะลดลงได้แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งภาวะที่ทุกขังได้ลดลงมากจนถึงที่สุดนี้เองที่เรียกว่า “ที่สุดแห่งทุกข์” หรือ “นิพพาน” ที่หมายถึง จิตที่สงบเย็น หรือ จิตที่ไม่มีความทุกข์ ซึ่งความเข้าใจและความเห็นแจ้งถึงเรื่องนิพพานของจิตใจเราเองนี้ ก็จะทำให้กิเลสในจิตใจของเราเราอ่อนแรงลงได้

อนัตตาคืออะไร?

คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา ซึ่งคำว่า อัตตา แปลว่า ตน หรือ ตนเอง ซึ่งคำว่าอัตตานี้มีความหมายว่า เป็นสิ่งที่มีตัวตนเป็นของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งหรือทำให้เกิดตัวตนของมันขึ้นมา (คือมันตรงข้ามกับสิ่งปรุงแต่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น) ซึ่งสิ่งที่เป็นอัตตานั้นจะมีลักษณะเป็น นิจจัง (คือเที่ยงหรือเป็นอมตะ) และ สุขัง (คือมีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ใดๆ) ซึ่งศาสนาพราหมณ์ (หรือฺฮินดู) จะมีคำสอนว่า วิญญาณ (หรือจิตใจ) ของคนและสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นอัตตาน้อย ที่แยกมาจากพระพรหมที่เป็นอัตตาใหญ่ แล้วมาเกิดในร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย

เมื่อวิญญาณของแต่ละคนได้ทำกรรมใดไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่ เมื่อร่างกายตาย วิญญาณของเขาก็จะต้องไปเกิดใหม่เพื่อรับผลของกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย คือคำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย เช่นคำสอนที่ว่า ถ้าทำดีแล้วตายไปก็จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่กับนางฟ้าบนสวรรค์ และถ้ามาเกิดเป็นคนอีกก็จะมีรูปงาม ร่ำรวย และมีเกียรติ แต่ถ้าทำความชั่วไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่ เมื่อร่างกายตาย วิญญาณของเขาก็จะไปเกิดเป็นสัตว์นรกอยู่ในนรก เพื่อชดใช้กรรมชั่วที่เขาได้ทำไว้ก่อนตาย และถ้ามาเกิดเป็นคนก็จะมีรูปไม่งาม และยากจน ตกต่ำลำบาก เป็นต้น ซึ่งรวมทั้งยังทำให้เกิดความเชื่อเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล เปรต อสุรกาย (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) เป็นต้นขึ้นมาอีกด้วย แต่ถ้าวิญญาณของใครที่สามารถบำเพ็ญเพียรจนกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้จนจิตบริสุทธิ์ วิญญาณของเขาก็จะกลับไปรวมอยู่กับพระพรหมอย่างมีความสุขโดยไม่มีความทุกข์ใดๆอยู่ชั่วนิรันดร

คำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นอัตตานี้เอง ที่ผู้คนในสมัยพุทธกาลเขาเชื่อถือกันมากว่าเป็นความจริง ซึ่งคำสอนนี้เองที่ทำให้ฤๅษีหรือนักบวชในยุคนั้นที่มีความเชื่อเช่นนี้ ไม่สามารถดับทุกข์ได้อย่างถาวร เพราะจิตของเขายังปล่อยวาง “ความยึดถือว่ามีตนเองอยู่จริง” ลงไม่ได้  เมื่อจิตปล่อยวางความยึดถือว่ามีตนเองลงไม่ได้ จิตของเขาจึงยังคงมีกิเลส คือความพอใจ ไม่พอใจ และลังเลใจเพื่อตนเองอยู่ในจิตใต้สำนึก จึงทำให้ฤๅษีหรือนักบวชในยุคนั้นไม่สามารถปฏิบัติให้จิตนิพพานอย่างถาวรได้

จนกระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงค้นพบความจริงว่า “จิตหรือวิญญาณของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้มันเป็น อนัตตา คือ ไม่ใช่อัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน” จึงทำให้พระองค์ทรงค้นพบวิธีการดับทุกข์อย่างถาวรได้ แล้วทำให้พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพุทธะผู้รู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริงขึ้นมาในโลก

ส่วนวิธีการพิจารณาว่าจิตใจของเรานี้มันเป็นอนัตตานั้นก็ให้พิจารณาว่า ถ้าจิตใจของเรามันเป็นอัตตา มันจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ (๑) เป็นสิ่งที่เที่ยง (คือนิจจัง)  (๒) มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ (สุขัง) และที่สำคัญคือ (๓) มันจะไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดเป็นตัวตนของมันขึ้นมา (คือมันไม่ใช่สิ่งปรุงแต่ง) แต่ถ้าจิตใจของเรามันเป็น สิ่งที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) และ มีภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) รวมทั้งยัง ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดมันขึ้น (คือเป็นสิ่งปรุงแต่ง)  ก็แสดงว่าจิตใจของเรานี้มันเป็นอนัตตา คือไม่ใช่อัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน ซึ่งจากการที่เราได้ศึกษามาทั้งหมด จนเกิดความเข้าใจแล้วว่า “จิตใจของเรานี้มันไม่เที่ยง มีภาวะที่ต้องทน รวมทั้งจิตใจก็ยังต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า จิตใจของเรานี้เป็นอนัตตา คือไม่ได้เป็นอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน

เมื่อเราเกิดความเข้าใจว่าจิตเป็นอนัตตาแล้ว เราก็เอาความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจารณาที่จิตใจของเราต่อไปอย่างละเอียดลึกซึ่ง ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจที่สูงขึ้นว่า จิตใจของเรานี้มันเป็น สุญญตา คือ ว่างเปล่าจากอัตตาหรือตัวตนของมันเอง ซึ่งความเข้าใจว่าจิตใจเป็นอนัตตาและสุญญตานี้เอง เมื่อเรานำมาเพ่งพิจารณาที่จิตใจของเราเองอย่างตั้งใจ ก็จะทำให้กิเลสอ่อนแรงลงได้อย่างมาก จนถึงกับดับหายไปได้โดยง่าย (แม้เพียงชั่วคราว)

เราคืออะไร?

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า จิตของเรานี้มันไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วเพื่อไปเกิดใหม่ได้ (อนัตตา) รวมทั้งมันยังว่างเปล่าจากตัวตนที่เป็นเราหรือเป็นตัวตนของใคร (สุญญตา) เพราะแท้จริงแล้วจิตใจของเรานี้มันเป็นเพียง “สิ่งปรุงแต่ง” ที่ต้องอาศัยธาตุตามธรรมชาติมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ (อนิจจัง) รวมทั้งเมื่อสภาพการปรุงแต่งของมันนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันยังมีภาวะที่ต้องทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง) ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้ เราจะสมมติเรียกว่าเป็น ตัวตนมายา (คือหลอกว่าเป็นตัวตนจริงๆ) หรือ ตัวตนชั่วคราว (คือมีตัวตนอยู่เพียงชั่วคราว)

แต่แม้เราจะเข้าใจแล้วว่าจิตของเรานี้เป็น อนัตตา และ สุญญตา แต่จิตของเราก็ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จริงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะว่า เมื่อธรรมชาติได้ปรุงแต่งหรือสร้างให้เกิดจิตขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิด “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตด้วยเสมอ โดย “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” นี้สมัยนี้เรียกว่า “สัญชาติญาณแห่งชีวิต” คือเป็นความรู้สึกว่ามีตนเองที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครสอน ซึ่งสัญชาตินี้เองที่เป็นสัญชาตญาณใหญ่ ที่ทำให้เกิดสัญชาติญาณย่อยๆตามมาอีกมากมาย เช่น สัญชาติญาณในการหาอาหาร, ในการกินอาหาร, ในการหนีภัย, ในการสืบพันธุ์ ในการรักลูก ในการเลี้ยงลูก เป็นต้น ถ้าสิ่งที่มีชีวิตใดไม่มีสัญชาติญาณเหล่านี้ สิ่งที่มีชีวิตนั้นก็จะสูญพันธุ์ไปจากโลก

ทางพุทธศาสนา จะเรียกว่า “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” นี้ว่าเป็น อวิชชา ที่แปลว่า ความรู้ผิด คือความจริงแล้วมันไม่ได้มีตัวตนของใครเกิดขึ้นมาจริงๆเลย แต่จิตมันกลับเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง ดังนั้นพุทธศาสนาจึงได้เรียกความรู้สึกว่ามีตนเองนี้ว่าเป็นความรู้ผิด (อวิชชา)

อวิชชานี้เองที่เป็นต้นเหตุให้จิตเกิดความทุกข์ เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาครอบงำจิตแล้ว ก็ทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองอยู่จริงๆ และเมื่อจิตเกิด “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” ขึ้นมาในร่างกายที่กำลังประสบกับ “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” (เช่น กำลังได้รับความสุขจากวัตถุนิยมอยู่ เป็นต้น) ก็จะทำให้จิตเกิด “ความทุกข์ซ่อนเร้น” (คือ เร่าร้อนหรือหงุดหงิด เป็นต้น) แต่เมื่อจิตเกิด “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” ขึ้นมาในร่างกายที่กำลังประสบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” (เช่น กำลังแก่ เจ็บ หรือกำลังจะตาย เป็นต้น) ก็จะทำให้จิตเกิด “ความทุกข์เปิดเผย” (คือเศร้าโศกฯ) หรือเมื่อจิตเกิด “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” ขึ้นมาในร่างกายที่กำลังประสบกับ “ภาวะที่กลางๆ” (คือไม่ใช่ทั้งน่าพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจ) ก็จะทำให้จิตเกิด “ความทุกข์อ่อนๆ” (เช่น ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นต้น)

อวิชชานี้เองที่เมื่อมันเกิดขึ้นมาบ่อยมากๆ (คือตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันของเรา) มันก็จะทำให้เกิดเป็นความเคยชินที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา (จิตใต้สำนึกคือจิตส่วนลึกที่เราควบคุมมันไม่ได้) หรือเป็นนิสัยของเรา ที่มันจะเกิดขึ้นมาครอบงำจิตทันทีที่จิตเกิดขึ้นมา แล้วก็ทำให้จิตเกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จริงๆ” ขึ้นมา ซึ่งวิธีกำจัดอวิชชาให้หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกนั้น ก็ทำได้โดยการเปลี่ยนจิตใต้สำนึกเสียใหม่ให้เป็น “จิตที่ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนของใครๆ” (หรือจิตบริสุทธิ์ หรือ จิตดั้งเดิมตามธรรมชาติ)

ส่วนวิธีการเปลี่ยนจิตใต้สำนึกให้กลับมาบริสุทธิ์นั้น ก็ทำได้โดยการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งสรุปอยู่ที่ มีสติคอยระวังอย่าให้จิตเกิดอวิชชาขึ้นมา และระลึกถึงปัญญา (คือความรู้ว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง) อยู่เสมอด้วยความตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) และเมื่อเราหมั่นปฏิบัติอริยมรรคอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นประจำเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ความเคยชินของอวิชชาค่อยๆเลือนหายไปจากจิตใต้สำนึกของเราได้อย่างถาวร แล้วจิตของเราก็จะกลับมาบริสุทธิ์อย่างถาวรได้ และนิพพานอย่างถาวรได้  

สรุปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเป็น “เรา” นั้น มันไม่ได้มีอยู่จริง เพราะจิตที่รู้สึกว่าเป็นเรานี้ มันเป็นเพียง “สิ่งปรุงแต่ง” คือเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นหลายๆสิ่งมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วไม่ช้าก็เร็วมันก็จะต้องดับหายไปในที่สุด รวมทั้งยังต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก และที่สำคัญก็คือ มันไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง ดังนั้นจึงเท่ากับว่า “มันไม่ได้มีเราอยู่จริง” ส่วนสิ่งที่มีมันกลับเป็น “สิ่งมายา” คือเป็นสิ่งหลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าเป็นของจริง (ถ้าเป็นของจริงมันก็ต้องเป็นอัตตาที่เป็นอมตะและมีแต่ความสุข) หรือเป็น “สิ่งชั่วคราว” (ไม่เป็นอมตะ) เท่านั้น

ปัญญามีกี่ระดับ?

คำว่า ปัญญา ในความหมายของพุทธศาสนาจะหมายถึง ความรู้ในอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นคำสอนเรื่องการดับทุกข์ ซึ่งพุทธศาสนาได้แยกปัญญาไว้ ๓ ระดับ คือ

๑. ปัญญาขั้นจำได้ คือเป็นการฟังหรืออ่านคำสอนเรื่องการดับทุกข์ (ที่ถูกต้อง) มาแล้วจำได้ ซึ่งปัญญาขั้นนี้ยังไม่มีผลอะไร

๒. ปัญญาขั้นเข้าใจ คือเป็นการนำเอาคำสอนเรื่องการดับทุกข์ที่จำได้นั้น มาพิจารณาหาเหตุผลอย่างละเอียดในทุกแง่มุม จนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนโดยไม่มีจุดบอด (คือสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไม่ติดขัด) ซึ่งปัญญาขั้นนี้ก็เริ่มมีผลเป็นความลดลงความความทุกข์บ้างแล้ว

๓. ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง คือเป็นการนำเอาความเข้าใจนั้นมาทดลองปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ จนเกิดผลขึ้นมาเป็นความดับลงของความทุกข์ขึ้นมาจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้เป็นปัญญาสูงสุดของพุทธศาสนา

เมื่อเราได้ศึกษาคำสอนเรื่องการดับทุกข์ที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้ามา ก็เรียกว่ามีปัญญาขั้นจำได้ แล้วเราก็นำเอาคำสอนที่จำได้นั้นมาพิจารณาหาเหตุผลจนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนโดยไม่มีจุดบอด ก็เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นจำได้ แล้วถ้าเรานำเอาความเข้าใจนั้นมาทดลองปฏิบัติ จนเกิดผลเป็นความดับไปของความทุกข์จริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้ง

อริยมรรคสรุปว่าอย่างไร?

ส่วนวิธีการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ นั้น พระพุทธเจ้าสรุปว่า ต้องใช้ ศีล สมาธิ และปัญญามาทำงานร่วมกัน โดยศีลก็คือความปกติของจิต ส่วนสมาธิก็คือจิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น และอ่อนโยน ส่วนปัญญาก็คือ ความเข้าใจและความเห็นแจ้งโลกและชีวิตอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง โดยหัวใจของปัญญาจะสรุปอยู่ที่ ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ชีวิต (คือร่างกายและจิตใจ) ของเราและของทุกชีวิตนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (คือร่างกายและจิตใจเป็นอนัตตา)

พระพุทธเจ้าสอนว่า เราต้องใช้ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญามาทำงานร่วมกัน จึงจะทำให้กิเลสและนิวรณ์ที่กำลังเกิดอยู่ ระงับหรือดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว) หรือทำให้กิเลสและนิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น (แม้เพียงชั่วคราว) รวมทั้งเมื่อเราปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญานี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังอยู่เสมอๆ (คืออาจจะเป็นเดือนเป็นปีก็ได้ ตามแต่เราจะมีความเพียรในการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน) ก็จะทำให้นิสัยหรือความเคยชินของกิเลสและนิวรณ์ ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ค่อยๆเลือนหายไปจนหมดสิ้นอย่างถาวร ก็จะทำให้จิตของเรานิพพานสูงสุดและถาวร (คือตลอดชีวิต) ได้

ทำอย่างไรจึงจะมีศีล?

คำว่า ศีล หมายถึง ความปกติของจิต คือถ้าจิตของเราไม่ปกติ มันก็จะฟุ้งซ่าน ดิ้นรน เร่าร้อน กระวนกระวาย หรือวิตกกังวล หรือหวาดกลัว หรือเครียด หรือเบื่อหน่าย หรือคับแค้นใจ เป็นต้น เพราะมีกิเลสครอบงำจิตอยู่ ซึ่งวิธีการทำให้จิตของเราปกติหรือมีศีลนั้น ก็สรุปอยู่ที่

๑. การมีเจตนา (คือความจงใจ) ที่จะไม่ล่วงละเมิดชีวิต, ทรัพย์สิน, และกามารมณ์ (สิ่งที่น่ารักน่าใคร่) ของผู้อื่น

๒. การมีเจตนา ที่จะไม่พูดโกหก, คำหยาบ, คำส่อเสียด, และเพ้อเจ้อ

ศีลหรือความปกติของจิตนี้ มีความสำคัญมาก เพราะศีลจะเป็นพื้นฐานให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตมีสมาธิ สมาธิก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญาอีกที จึงจะทำให้อริยมรรคเกิดขึ้นมาได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ถ้าไม่มีศีลก็จะทำให้จิตของเราไม่มีสมาธิ และทำให้ปัญญาไม่เกิด แล้วก็ทำให้อริยมรรคไม่เกิดขึ้น

โดยศีลตามหลักของอริยมรรคนี้ สรุปอยู่ที่การเป็นคนดีหรือเป็นคนที่รักษากายและวาจา ให้เรียบร้อยหรืองดงามอยู่เสมอในสังคม ที่ทุกคนแม้เป็นผู้ครองเรือนก็สามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเรือนหรือทรัพย์สมบัติแล้วออกบวช เหมือนพระภิกษุหรือนักบวชทั่วๆไป ที่ปรารถนาความพ้นทุกข์อย่างสูงสุด (คือนิพพานสูงสุดและถาวร) เพียงแต่อาจจะไม่ได้รับผลสูงสุดเหมือนพระภิกษุหรือนักบวชที่ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น

สมาธิคืออะไร?

สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือเป็นอาการที่จิตของเรากำลังจดจ่อ หรือจับ หรือกำหนด หรือเพ่ง หรือตั้งใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาได้นานๆ ซึ่งสมาธินี้มี ๒ อย่าง คือ สมาธิผิด  กับ สมาธิถูก

โดยสมาธิผิดก็คือ สมาธิที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยกิเลสตลอดเวลา ซึ่งผลของสมาธิผิดนี้ก็คือจะทำให้จิตเกิดความทุกข์ หรือความเร่าร้อนใจ ไปตามอำนาจของสิ่งที่กำลังเพ่งอยู่ เช่น ถ้าเพ่งอยู่ในเรื่องกามารมณ์ จิตก็จะเร่าร้อนทรมานอยู่ด้วยความอยากได้ในกามารมณ์นั้นให้มากยิ่งๆขึ้นไป หรือถ้าเพ่งอยู่ด้วยความโกรธ ก็จะทำให้จิตเกิดความเร่าร้อนหรือคับแค้นใจ เป็นต้น

ส่วนสมาธิถูกก็คือ สมาธิที่เกิดจากการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา แล้วทำให้กิเลสและนิวรณ์ระงับหรือดับหายไปอย่างสนิท (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งสิ่งที่ดีงามที่เราตั้งใจจดจ่อหรือทำนั้นก็ได้แก่ การเพ่งอยู่ที่การหายใจของร่างกายเราเอง หรือการตั้งใจอ่านหนังสือเรียน หรือการที่นักเรียนตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน หรือการที่เราตั้งใจทำงานที่สุจริต หรือการที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจคิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก เป็นต้น โดยสมาธิถูกนี้จะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลสหรือนิวรณ์ครอบงำ

๒. ตั้งมั่น หรือเข้มแข็ง คือ ไม่มีอะไรจะมายั่วยวนให้เกิดกิเลสได้

๓. อ่อนโยน คือ ควบคุมได้ง่าย และมีความสุขุมรอบครอบ

ผลของสมาธิถูกก็คือ ทำให้จิตมีความสุขที่สงบประณีต, มีสติตลอดเวลา, มีความจำดี และทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งเมื่อจิตไม่มีกิเลสใดๆครอบงำ จึงทำให้จิตไม่มีความทุกข์ใดๆ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ จิตก็จะนิพพานอย่างสูงสุด (หมายเหตุ ต่อไปถ้าพบคำว่า สมาธิ ในหนังสือนี้ ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงสมาธิถูก)

สรุปได้ว่าเมื่อจิตมีสมาธิ จิตจะมีความสุขุมรอบครอบ ในการพิจารณาความจริงของธรรมชาติ (เรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายและจิตใจของเรา) จนทำให้เกิดปัญญาขั้นเข้าใจขึ้นมาได้ และทำให้นิพพานสูงสุดปรากฏได้ ซึ่งนี่ก็คือประโยชน์จากการมีสมาธิ แต่ถ้าจิตของเราไม่มีสมาธิ ก็จะไม่สามารถพิจารณาให้เกิดปัญญาขั้นเข้าใจได้ รวมทั้งไม่ทำให้นิพพานสูงสุดปรากฏ และเมื่อนิพพานสูงสุดไม่ปรากฏ ปัญญาขั้นเห็นแจ้งก็ไม่เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน

ศัตรูของสมาธิคืออะไร?

ก่อนที่เราจะศึกษาเรื่องสมาธิ เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักศัตรูของสมาธิก่อน ซึ่งศัตรูของสมาธินั้นก็สรุปอยู่ที่ กิเลส (ซึ่งเราได้ศึกษากันมาแล้ว) และนิวรณ์ ซึ่ง นิวรณ์ หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิตจากสิ่งดีงาม คือหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราแล้ว ทำให้จิตของเราไม่เกิดสมาธิและปัญญารวมทั้งนิพพานขั้นสูงสุดก็ไม่ปรากฏด้วย ซึ่งอาการของนิวรณ์นั้นแยกได้ ๕ อาการ อันได้แก่

๑. ความพึงพอใจเล็กๆน้อยๆในเรื่องกามารมณ์

๒. ความคิดอาฆาตพยาบาท หรือความคิดร้าย

๓. ความหดหู่ เซื่องซึม มึนชา

๔. ความคิดฟุ้งซ่าน ความตื่นเต้น ความคิดเลื่อนลอย

๕. ความคิดลังเลสงสัยในสิ่งที่เชื่อถืออยู่ ว่ามีจริงหรือไม่? หรือถูกต้องหรือไม่ ?

กิเลสนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นกับจิตของเราแล้ว มันก็จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ แต่กิเลสนี้มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาหรือตลอดทั้งวัน คือมันจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งภายนอกที่รุนแรงมากระตุ้นเท่านั้น (เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงที่มีคนมาด่าเรา เราจึงจะเกิดความโกรธขึ้นมา หรือเมื่อเรารู้ว่าคนที่เรารักได้จากไป เราจึงจะเกิดความเสียใจขึ้นมา หรือเมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องตาย เราจึงจะเกิดความกลัวตายอย่างที่สุดขึ้นมา เป็นต้น) ซึ่งปกติในชีวิตประจำวันของเรา มันก็ไม่ค่อยจะมีสิ่งภายนอกที่รุนแรงมากระตุ้นบ่อยๆอยู่แล้ว ดังนั้นจิตของเราจึงไม่ค่อยจะมีความทุกข์บ่อยๆอยู่แล้ว

แต่ในช่วงเวลาที่กิเลสยังไม่เกิดกับจิตของเรานั้น ถ้าจิตของเราไม่มีสมาธิ มันก็จะมีกิเลสอ่อนๆที่เรียกว่านิวรณ์ เกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะตลอดทั้งวัน ซึ่งนิวรณ์แต่ละตัวนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นกับจิตของเราแล้ว มันก็จะทำให้จิตของเราขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่ปกติ และที่สำคัญคือ มันทำให้จิตของเราไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิ จึงทำให้นิพพานสูงสุดไม่ปรากฏ เมื่อนิพพานสูงสุดไม่ปรากฏ จึงทำให้ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง ที่สามารถดับทุกข์ได้ไม่เกิดขึ้น (คือถึงเราจะเคยมีปัญญาขั้นเห็นแจ้งมาแล้วก็ตาม แต่ถ้าจิตของเราไม่มีสมาธิ ปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่อาจจะเกิดปัญญาขั้นจำได้หรือขั้นเข้าใจขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งปัญญาทั้งสองอย่างนี้จะไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ได้ เพราะไม่มีสมาธิมาช่วย)

ฝึกสมาธิอย่างไรจึงจะเกิดสมาธิได้ง่าย?

ตามปกติเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว อย่างเช่น เวลาเราตั้งใจฟังครูสอน หรือตั้งใจอ่านหนังสือ หรือตั้งใจพูดหรือเขียนเรื่องที่มีประโยชน์หรือดีงาม เป็นต้น เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้วโดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็คือสมาธิที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้คู่กับปัญญา ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรค

แต่สำหรับคนที่มีสมาธิสั้น เช่น คนที่เรียนไม่เก่ง หรือขี้ลืม หรือคิดเรื่องที่ซับซ้อนไม่ได้ เป็นต้น ก็จะไม่มีสมาธิมากพอที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติตามหลักอริยมรรค ซึ่งคนที่มีสมาธิสั้นนี้ก็สามารถฝึกให้มีสมาธิมากขึ้นได้ ซึ่งวิธีการฝึกให้จิตมีสมาธินั้น ก็สามารถทำได้ทั้งอย่าง เป็นระบบ และ ไม่เป็นระบบ โดยการฝึกอย่างไม่เป็นระบบนั้นก็ทำได้โดย การตั้งใจหรือกำหนดอยู่ในการเคลื่อนไหวของร่างกายของเรา ในการพูดของเรา และในการคิดของจิตเราตลอดเวลา หรือในขณะที่เรากำลังทำกิจวัตรประจำวันของเราก็ได้ ซึ่งการฝึกอย่างนี้แม้จะยากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าทำได้จะทำให้เรามีสมาธิที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดทั้งวันได้

ส่วนวิธีการฝึกสมาธิอย่างเป็นระบบนั้นมีหลายวิธี อย่างเช่น การฝึกเพ่งดิน เพ่งน้ำ เพ่งไฟ เป็นต้น ซึ่งการฝึกที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำนั้นก็คือ การฝึกกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไปพร้อมๆกับการกำหนดอยู่ที่การหายใจของร่างกายเราไปด้วยตลอดเวลา ซึ่งวิธีการฝึกนี้ เราจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ คือทั้งการเดิน การยืน การนั่ง และการนอน แต่ถ้าเราเพิ่งเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ ควรใช้อิริยาบถนั่งก่อน เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่น แต่ถ้าเราฝึกจนชำนาญแล้ว จะใช้อิริยาบถใดก็ได้ และจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ (ถ้าหลับตาก็อาจจะทำให้ง่วงได้ง่าย)

ส่วนวิธีการฝึกโดยสรุปนั้นก็คือ ให้เราตั้งใจกำหนดอยู่ที่การหายใจของร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา และพยายามควบคุมให้ลมหายใจเบาและยาวอยู่ตลอดเวลา (ถ้าลมหายใจแรงและสั้นจะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ยาก) โดยเราต้องระวังอย่าคิดถึงสิ่งหรือเรื่อง ที่จะทำให้จิตของเราเกิดกิเลสและนิวรณ์ขึ้นมา

ในการกำหนดการหายใจของร่างกายนี้ ขั้นต้นเราอาจจะใช้วิธีการนับการหายใจของเราไปเรื่อยๆ เพื่อให้จิตสงบก็ได้ หรือจะท่องคำสั้นๆในขณะที่เรากำลังหายใจเข้าหรือออกก็ได้ เช่น ไม่มีเรา, ไม่มีใคร, ว่างเปล่า, ผ่านไป, ตายแน่, เกิดดับ, อย่าโง่, อย่าบ้า เป็นต้น เพื่อให้จิตมีสติอยู่ตลอดเวลา หรือใครจะคิดค้นวิธีการฝึกใหม่ๆที่ฝึกแล้วทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่ายก็ได้ ซึ่งเคล็ดลับในการฝึกให้จิตเกิดสมาธิได้ง่ายนั้นก็คือ เมื่อฝึกแล้วจิตเกิดความสุข เมื่อจิตเกิดความสุข จิตก็จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้นตลอดเวลา จึงทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย แต่ถ้าฝึกแล้วไม่เกิดความสุข จิตก็จะต่อต้าน คือดิ้นรน ฟุ้งซ่าน และไม่อยากฝึกต่อไป ยิ่งเราบังคับให้จิตสงบ มันก็จะยิ่งต่อต้านมากขึ้น จนทำให้เราท้อถอยที่จะฝึกต่อไปได้

เมื่อเราเริ่มฝึกกำหนดแล้วจิตก็ยังไม่สงบ ให้ลองใช้วิธีคิดด้วยสติดู คือให้เราตั้งใจคิดให้เป็นคำพูดแล้วก็ตั้งใจฟังด้วย คือให้เราตั้งใจคิดช้าๆ ด้วยประโยคสั้นๆ ในขณะที่กำลังหายใจออก แต่เมื่อหายใจเข้าก็ให้หยุดคิด (หรือเราจะคิดช่วงเวลาหายใจเข้าก็ได้ เมื่อหายใจออกก็ให้หยุดคิดซึ่งการคิดนี้เราควรคิดเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญาหรือความรู้ที่ดีงาม เช่น เรื่องความไม่เที่ยง เรื่องสภาวะที่ต้องทน เรื่องความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง หรือเรื่องความว่างจากตัวเราและตัวตนของคนอื่น หรือเรื่องการคิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ หรือเรื่องการเรียน หรือเรื่องการเตือนตนเอง หรือเรื่องการดับทุกข์ของอริยสัจ ๔ เป็นต้น ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย รวมทั้งยังทำให้เกิดปัญญาไปพร้อมๆกันไปด้วย เรียกว่าเป็นการปฏิบัติทั้งสมาธิและปัญญาไปพร้อมๆกัน

สมาธิที่พระพุทธเจ้าสอนมีกี่ระดับ?

ฌาน แปลว่า การเพ่ง หรือ ระดับของการเพ่ง คือเมื่อเราตั้งใจกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ ก็เรียกว่าเป็นการเพ่ง ซึ่งฌานหรือการเพ่งตามหลักอริยมรรคจะมีอยู่ ๔ ระดับ คือเมื่อเราตั้งใจเพ่งอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ จนทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านแล้ว (เพราะนิวรณ์ได้ดับหายไปแล้ว) และจิตก็มีความสุขที่สงบประณีต และมีปีติหรือความอิ่มเอมใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๑ แล้ว และถ้าเราเพ่งต่อไปจนไม่ต้องตั้งใจเพ่งแล้ว จิตก็ยังมีความสุขสงบและความอิ่มเอมใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๒ แล้ว

ถ้าเราเพ่งต่อไป จนจิตเหลือแค่เพียงความสุขสงบอยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๓ แล้ว   และถ้าเราเพ่งต่อไปจนแม้ความสุขที่สงบก็หายไป แล้วทำให้จิตของเรามีความบริสุทธิ์เต็มที่อยู่ตลอดเวลา (เพราะไม่มีความสุขมารบกวนจิต) ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๔ แล้ว

ฌานขั้นที่ ๔ นี้เอง ที่เป็นสมาธิขั้นสูงสุดตามหลักอริยมรรค เพราะเป็นสมาธิที่ทำให้กิเลสและนิวรณ์ดับหายไปได้อย่างสนิท (แม้เพียงชั่วคราว) และทำให้นิพพานสูงสุดปรากฏ (เราจะไม่ใช้คำว่าเกิดกับนิพพาน เพราะนิพพานนั้นมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ พร้อมกับจิตของมนุษย์ทุกคน แต่มันมีกิเลสและนิวรณ์ที่เป็นความสกปรกมาปกปิดเอาไว้ ดังนั้นเพียงเราเอาสิ่งที่ปกปิดนิพพานออกไป นิพพานก็จะปรากฏให้จิตได้สัมผัสทันที)

เมื่อจิตสงบเย็นสูงสุด ก็แสดงว่าจิตของเรามีสมาธิสูงสุดตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ แล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนี่คือสมาธิที่จำเป็นในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรค ส่วนสมาธิที่สูงไปกว่านี้ ที่เป็นการเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ จนจิตของเราไม่รับรู้สิ่งอื่นใดภายนอกเลยนั้น ไม่จำเป็นและฝึกได้ยากด้วย แต่ถ้าใครมีเวลาและอยากจะฝึกต่อไปก็ได้ จะได้มีสมาธิที่แข็งแกร่งขึ้น จนทำให้จิตสามารถทำอะไรๆบางอย่าง ที่เกินกว่าที่คนธรรมดาๆทั่วไปจะทำได้ อย่างเช่น สามารถสร้างมโนภาพแปลกๆขึ้นมาในจิตของเราเองได้ เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องระวังอย่าไปลุ่มหลงสมาธิที่สูงๆนี้ เพราะอาจทำให้เราจมติดอยู่กับสมาธินี้จนไม่สนใจเรื่องการปฏิบัติอริยมรรคได้ แล้วก็จะทำให้จิตของเราไม่หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรได้

สรุปคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าได้ว่าอย่างไร?

เคยมีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า คำสอนทั้งหมดของพระองค์สามารถสรุปให้เหลือสิ้นที่สุดได้ว่าอย่างไร? ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงตอบว่า คำสอนทั้งหมดของพระองค์จะสรุปอยู่ที่ประโยคที่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเรา”

คำสอนโดยสรุปนี้อธิบายได้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรารู้สึกว่าเป็น “ตัวเรา” (คือจิตใจ) และ “ของเรา” (คือร่างกายของเราและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา) นั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง (คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องดับหายไปอย่างแน่นอน)

เมื่อจิตใจที่เป็น “ตัวเรา” ไปเกิดความรักหรือความพอใจในสิ่งที่เป็น “ของเรา” เข้าเมื่อใด มันก็จะทำให้จิตใจของเราเกิด “ความยึดติดหรือความยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเรา-ของเราจริงๆ” และเมื่อ “ของเรา” ที่เรารักหรือพอใจนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกลียดน่าชัง หรือ สิ่งที่เรารักหรือพอใจนั้นได้พลัดพรากจากเราไป ก็จะทำให้จิตใจของเราเกิดความทุกข์ (หรือเศร้าโศกฯ) ขึ้นมาทันที ซึ่งความทุกข์นี้เองที่เราได้ศึกษามาแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ธรรมดาทุกคน

แต่ถ้าเรา (ตามที่สมมติเรียก) มีปัญญา (คือความเข้าใจว่ามันไม่มีเราอยู่จริง) และสมาธิ (จิตที่เข้มแข็ง) ตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็จะไม่เกิดความรักหรือความพอใจในสิ่งใดๆว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” (คือไม่เกิดกิเลสประเภทบวก)  เมื่อจิตไม่เกิดความรักหรือความพอใจ ก็เท่ากับ จิตไม่เกิดความยึดถือว่าจิตใจนี้เป็น “ตัวเรา” และไม่เกิดความยึดถือว่าร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวของกับร่างกายว่าเป็น “ของเรา”

เมื่อจิตไม่ยึดถือเอาจิตใจและร่างกายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” แล้ว เมื่อสิ่งเหล่านี้ (คือจิตใจและร่างกายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับว่ากาย) ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่ไม่น่ารักหรือไม่น่าพึงพอใจ หรือดับหายไปตามธรรมชาติของมัน จิตที่มีปัญญาและสมาธินี้ก็จะไม่เกิดความไม่พึงพอใจ หรือความไม่อยากได้ (คือไม่มีกิเลสประเภทลบ) ต่อสิ่งสิ่งเหล่านี้ เมื่อจิตไม่มีกิเลส มันก็จะไม่เกิดความยึดถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเรา-ของเรา และเมื่อจิตไม่มีความยึดถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเรา-ของเรา จิตก็จะไม่เกิดความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็นหรือนิพพานทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

สรุปได้ว่า ถ้าเรามีความรู้เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่าเราได้รู้จักคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าแล้ว และถ้าเราสามารถปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสอนทั้งของพระพุทธเจ้าแล้ว รวมทั้งถ้าเราได้รับผลเพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่าเราได้รับผลทั้งหมดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว และเมื่อเราได้รับผลเป็นนิพพานหรือความไม่มีทุกข์แล้ว แสดงว่าเราได้รับ “สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับการเกิดมาเป็นมนุษย์” แล้ว

จบ

 (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บ “ฉันคืออะไร?” www.whatami.net)